‘แอร์วิน วูร์ม’ ปรัชญา ประ-ติ-บัติ นิทรรศการที่ใครๆ ก็กลายเป็นศิลปะได้ภายในหนึ่งนาที (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตอน 1

นอกจากประติมากรรมหนึ่งนาที แอร์วิน วูร์ม ยังทำงานศิลปะในรูปแบบอื่นๆ เช่น ประติมากรรมชุด Fat Car หรือ Fat House ที่เขานำวัตถุในชีวิตประจำวันอย่าง รถยนต์ และบ้านมาพอกด้วยวัสดุอย่างโพลียูรีเทน โฟม หรือปลาสเตอร์ จนดูป่องพองเหมือนคนอ้วนร่างใหญ่ที่มีไขมันพอกพูนหนาเตอะ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมบริโภคนิยมและวัตถุนิยมในสังคมตะวันตก

วูร์มต้องการเสียดสีประชดประชันความปรารถนาของคนทั่วไปที่ต้องการจะมีบ้านหลังใหญ่และรถคันโต เขาก็เลยทำมันออกมาให้ดูซะเลย (อ่านะ!)

ซึ่งเจ้าบ้านและรถอ้วนๆ ที่ดูตลกและน่าขบขันเหล่านั้น เป็นการแฝงคำวิพากษ์วิจารณ์อันแสบๆ คันๆ ของศิลปินที่มีต่อบรรดาผู้คนที่ตกอยู่ในค่านิยมแบบบริโภคนิยมอันล้นเกินนั่นเอง

นอกจากนั้น เขายังทำประติมากรรม Narrow House ซึ่งเป็นบ้านที่มีความสูงเท่าจริง แต่หน้ากว้างของบ้านและเฟอร์นิเจอร์ที่อยู่ภายในกลับถูกบีบให้แคบจนผิดปรกติ

เขาสร้างผลงานชิ้นนี้เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกอันตึงเครียดและความกลัวที่แคบจากประสบการณ์ในวัยเด็กของเขาให้ผู้ชมได้รับรู้

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-03

แนวคิดทางศิลปะของ แอร์วิน วูร์ม นอกจากจะส่งแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลังๆ และเปิดหนทางใหม่ให้กับอิสรภาพทางความคิดในการทำงานศิลปะอย่างมากมายแล้ว มันยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับการทำงานศิลปะในสื่ออื่นๆ อีกหลากหลายแขนงอีกด้วย

อาทิ มิวสิกวิดีโอเพลง Can”t Stop (2003) ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกอเมริกันชื่อดังอย่าง Red Hot Chili Peppers ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากผลงานประติมากรรมหนึ่งนาทีของวูร์มมาแบบเต็มๆ

โดยในเอ็มวีก็มีสถาชิกของวงหยิบเอาข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างถังน้ำ ปากกา ดินสอ ฯลฯ มาเล่นกับร่างกายตัวเองในท่าทางประหลาดๆ แบบเดียวกับงานของวูร์มไม่ผิดเพี้ยน

ซึ่งในตอนท้ายของมิวสิกวิดีโอเองก็ให้เครดิตวูร์มเอาไว้อย่างชัดเจน

ผลจากความโด่งดังของเอ็มวีตัวนี้ ก็ทำให้ผลงานของวูร์มพลอยโด่งดังและเป็นที่รู้จักในวงกว้างไปด้วยเช่นเดียวกัน

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-02

ผลงานของเขาถูกสะสมเป็นคอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์และหอศิลป์ชั้นนำทั่วโลก อาทิ พิพิธภัณฑ์ อัลแบร์ทีนา กรุงเวียนนา, หอศิลป์แวนคูเวอร์ แคนาดา, ศูนย์ปอมปิดู พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ กรุงปารีส, พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองบอนน์ เยอรมนี, พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ โบโลญญา สเปน, ศูนย์ศิลปะร่วมสมัยแห่งมาลากา สเปน, หอศิลป์ซูริก สวิตเซอร์แลนด์, พิพิธภัณฑ์โซโลมอน อาร์. กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก, ศูนย์ศิลปะวอล์เกอร์ มินนีแอโพลิส และหอศิลป์อัลไบรต์ น็อกซ์ นิวยอร์ก เป็นต้น

และในครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีอย่างยิ่งที่ศิลปินระดับโลกอย่าง แอร์วิน วูร์ม มาแสดงนิทรรศการเดี่ยวครั้งใหญ่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า “แอร์วิน วูร์ม ปรัชญา ประ-ติ-บัติ” ซึ่งเป็นการนำผลงาน ประติมากรรมหนึ่งนาที อันลือลั่น รวมถึงผลงานในยุคต่างๆ ของเขา ทั้งงานประติมากรรมประหลาดๆ อย่าง Fat House

งานศิลปะจัดวางอันพิลึกพิลั่น อย่างเสื้อไหมพรมถักขนาดมหึมาที่กว้างใหญ่จนคลุมผนังของห้องแสดงงานได้ทั้งผนัง!

ภาพถ่าย ภาพร่างผลงานและทฤษฎีศิลปะในยุคต่างๆ ของเขา

รวมถึงหนังสั้น (ที่เล่นกับเกมกลของภาษาและสถานการณ์อันลักลั่นได้อย่างสนุกสนานและตลกร้ายมากๆ แนะนำให้ดูกัน) มาจัดแสดง

ซึ่งผลงานเหล่านี้เป็นการคัดสรรโดย พิชญา ศุภวานิช

และก่อนหน้าที่จะจัดแสดงผลงาน ศิลปินตัวจริงเสียงจริงก็ได้บินมาจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการทางศิลปะของเขาให้แก่อาสาสมัครชาวไทย และมาร่วมในพิธีเปิดงานนิทรรศการอีกด้วย

โดยเรามีโอกาสพูดคุยกับศิลปินผู้นี้แบบสั้นๆ เป็นเวลาสามนาที (ตามเทรนด์ของศิลปิน) เอามาฝากท่านผู้อ่านพอหอมปากหอมคอ

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-psycho-ii

“ในฐานะศิลปิน คุณมีความเป็นไปได้ที่จะมองจากมุมมอง หรือจากภาษาที่แตกต่างในโลกของเรา และสิ่งที่วิเศษก็คือ มันทำให้เรามีเสรีภาพและความเป็นไปได้ที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้กลายเป็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างไม่จำกัด แต่ถึงงานของผมจะพูดเรื่องเสรีภาพ และดูเหมือนมันจะมีความเป็นประชาธิปไตย แต่ในงานศิลปะของผม ผมไม่ใช่นักประชาธิปไตยนะ (และผมเองก็ไม่ใช่นักการเมืองด้วย)”

“เพราะผมวางกฎเกณฑ์และคำสั่งเอาไว้อย่างเข้มงวดสำหรับคนที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในงานศิลปะของผม ผมคิดว่ามันสำคัญที่เราจะต้องมีกฎ เพื่อให้คนสามารถแหกกฎได้ เพราะถ้าคุณไม่มีกฎ คุณก็ไม่รู้จะไปแหกอะไรใช่ไหมล่ะ? (แหม่!) ผมคิดว่าการแหกกฎเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผมคิดว่ามนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ยอมรับบางสิ่งที่ดูเหมือนจะเหมาะสมกับเขา เพื่อให้เขาอยู่ในกรอบ ในกฎเกณฑ์ ในสภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตขึ้นมา แต่ในที่สุดวันหนึ่งเขาก็จะพยายามหนีออกมาจากกรอบและกฎเกณฑ์เหล่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่เราเป็น ไม่ว่ามันจะดีหรือร้าย และเราก็ต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้า โยนทุกสิ่งทุกอย่างที่สังคมกำหนดกะเกณฑ์ให้เราทิ้งไป เพราะเราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต”

“บอกตรงๆ ว่าผมไม่แคร์ว่าสิ่งที่ผมทำมันจะเป็นศิลปะหรือเปล่า? ตราบใดที่มันเป็นสิ่งที่ดี ตราบใดที่มันน่าสนใจ และนำพาผมไปสู่บางสิ่งบางอย่างที่ผมชอบ อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ที่ดูเหมือนจะไม่เป็นศิลปะ มันก็สามารถเป็นศิลปะได้เช่นกัน และมันเป็นสิ่งที่ทำให้เราก้าวไปสู่อนาคต ผมคิดว่าศิลปะเป็นเครื่องมือที่วิเศษ”

“มันไม่สำคัญว่าเราจะเป็นศิลปินที่ประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่ผมเชื่อว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้นสามารถทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้”

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-fat-house

นานๆ ทีจะมีนิทรรศการของศิลปินระดับโลกมาแสดงที่บ้านเราโดยไม่ต้องถ่อไปดูถึงเมืองนอกเมืองนา มิตรรักคอศิลปะทั้งหลายก็ไม่ควรพลาดโอกาสนี้ด้วยประการทั้งปวง

ไหนๆ ก็ไหนๆ จะลองไปสัมผัสกับประสบการณ์การกลายร่างเป็นงานศิลปะกันสักคนละหนึ่งนาที ก็ดีเหมือนกันนะครับท่านผู้อ่าน

นิทรรศการ “แอร์วิน วูร์ม ปรัชญา ประ-ติ-บัติ” จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 – 26 กุมภาพันธ์ 2560

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 0-2214-6630 ถึง 8 ต่อ 501 [email protected], www.bacc.or.th

ขอบคุณภาพจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, www.erwinwurm.at

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-04

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-abstract-sculpture-declining-2013