‘แอร์วิน วูร์ม’ ปรัชญา ประ-ติ-บัติ นิทรรศการที่ใครๆ ก็กลายเป็นศิลปะได้ภายในหนึ่งนาที (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในบ้านเรามีงานนิทรรศการของศิลปินจากต่างแดนมาแสดงอีกครั้งหนึ่ง

ในคราวนี้เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลก เขาผู้นั้นมีชื่อว่า

แอร์วิน วูร์ม (Erwin Wurm)

ศิลปินร่วมสมัยชาวออสเตรียที่ทำงานสื่อศิลปะที่หลากหลาย ด้วยการมองความจริงเชิงวิพากษ์เพื่อแสดงออกถึงวิถีชีวิตประจำวันของผู้คน เขามักนำเสนอองค์ประกอบทางศิลปะที่ดูขบขัน เหลวไหลจนดูเหมือนไร้สาระ ผ่านกิจกรรมทางศิลปะที่ผสมผสานทั้งงานประติมากรรม, จิตรกรรม, การแสดง, วิดีโอ และภาพถ่าย การมีส่วนร่วมของผู้ชมในกระบวนการแสดงงานศิลปะเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดในผลงานศิลปะของเขา

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-03

แอร์วิน วูร์ม เกิดในปี 1954 ที่เมือง Bruck an der Mur ประเทศออสเตรีย

เข้าศึกษาที่ Academy of Fine Arts ในเวียนนา

เขาได้รับอิทธิพลจากแนวความคิด “ประติมากรรมทางสังคม” ของศิลปินเยอรมันอย่าง โจเซฟ บอยส์ และแตกหน่อต่อยอดมาเป็นผลงานอันเลื่องชื่อ ที่เชิญชวนผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับงานศิลปะของเขา

ซึ่งในจุดนี้มีความคล้ายคลึงกับงานศิลปะจัดวางที่เชิญชวนให้คนดูมีส่วนร่วมของ แอร์เนสโต เนโต (ที่เราจะพูดถึงในโอกาสต่อไป) เขากล่าวถึงแนวคิดในการทำงานของตัวเองว่า

“ผมสนใจในชีวิตประจำวันของคน ดังนั้น วัตถุทุกสิ่งอันที่อยู่รอบตัวผมจึงสามารถใช้ประโยชน์ได้ เช่นเดียวกับหัวข้อในการทำงานที่เกี่ยวกับสังคมร่วมสมัย งานศิลปะของผมพูดถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นร่างกาย ความรู้สึกนึกคิด จิตใจ จิตวิญญาณ ไปจนถึงการเมือง”

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-02

แอร์วิน วูร์ม เป็นที่รู้จักจากงานศิลปะที่นำเสนอแนวคิดเชิงรูปแบบนิยม (Formalism) ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอรูปทรงหรือองค์ประกอบศิลป์มากกว่าเนื้อหาเรื่องราวหรือความสมจริงแบบเดียวกับที่พบเห็นในงานศิลปะนามธรรม

แต่สอดใส่ความตลกขบขันและการกระทบกระเทียบเสียดสีเข้าไป

เขากล่าวว่า

“สำหรับผม ความขบขันเป็นวิธีการพื้นฐานที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้คน และในท้ายที่สุดมันน่าจะกระตุ้นให้ผู้คนมองสิ่งต่างๆ อย่างรอบคอบขึ้น ถ้าคุณแสดงออกถึงบางสิ่งบางอย่างด้วยอารมณ์ขัน คนที่พบเห็นจะตีความไปในทันทีทันใดว่าคุณไม่ได้พูดเรื่องจริงจัง แต่ผมคิดว่าความเป็นจริงเกี่ยวกับสังคมและการดำรงอยู่ของมนุษย์สามารถแสดงออกได้ในหลายหนทาง คุณไม่จำเป็นต้องซีเรียสจริงจังตลอดเวลาหรอก การเสียดสีและอารมณ์ขันสามารถช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ ในอีกแง่มุมหนึ่งได้”

และถึงแม้ประติมากรรมของเขาจะดูตลกและน่าขบขัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะพูดแต่เรื่องเหลวไหลไร้สาระหรือโลกสวยไปวันๆ

ตรงกันข้าม งานของเขามักแฝงเร้นด้วยประเด็นที่ซีเรียสจริงจัง และวิพากษ์วิจารณ์สังคมอย่างเจ็บแสบ ด้วยการใช้สิ่งของที่เราพบเห็นได้ทั่วๆ ไปอย่าง เสื้อผ้า, เฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึง รถ, บ้าน และข้าวของเครื่องใช้รอบตัวที่ไม่เพียงแต่จะนำเสนอความสัมพันธ์ของคนเรากับข้าวของที่เราเห็นจนจำเจเหล่านั้น หากแต่ยังเชื่อมโยงกับแนวคิดเชิงปรัชญา ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ หรือทฤษฎีการเล่นกับความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับข้อเท็จจริงในโลกของ ลุดวิก วิตเกนสไตน์

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-fat-house

ซึ่งเนื้อแท้ของมันอาจจะแสดงออกถึงความเป็นจริงที่อาจจะรบกวนจิตใจคนดูอย่างเราไม่มากก็น้อย โดยเขามักแสดงออกถึงภาพและสิ่งที่เราพบเห็นจนชินตาในชีวิตประจำวันออกมาในรูปแบบที่ผิดเพี้ยนและลักลั่นจนน่าขบขันแต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยข้อเท็จจริงจนน่าขนลุก

“ผมมักจะใช้ความตลกขบขันในการยั่วเย้าผู้คนให้เข้ามาดูความเป็นจริงของผมใกล้ๆ แต่พอยิ่งใกล้เท่าไหร่ สิ่งที่พวกเขาเห็นมันก็จะไม่น่าพิสมัยเท่านั้นนั่นแหละนะ”

ตั้งแต่ช่วงปี 1980 วูร์มพัฒนาแนวคิดทางศิลปะของตัวเองที่เรียกว่า “ประติมากรรมหนึ่งนาที” (One Minute Sculptures) ขึ้นมา ซึ่งเป็นการที่ตัวเขาเองหรือนายแบบและนางแบบ

หรือแม้แต่ผู้ชมที่ถูกเชิญชวนให้เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางศิลปะ ด้วยการที่วูร์มจะเขียนคำสั่งด้วยลายมือหวัดๆ และภาพลายเส้นคล้ายการ์ตูนบนพื้นที่แสดงงาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติการหรือผู้ชมที่เป็นอาสาสมัครทำการกลายร่างเป็นประติมากรรม ด้วยการโพสท่าร่วมกับวัสดุข้าวของเครื่องใช้ใกล้ๆ มือในชีวิตประจำวันที่เขาเลือกมา อาทิ โต๊ะ เก้าอี้ ดินสอ ปากกา สมุด หนังสือ ถังน้ำ ไม้ถูพื้น หรือภาชนะอย่างจานชามรามไห หม้อ ขวด ฯลฯ และคงท่านั้นไว้นานหนึ่งนาที (หรือตามแต่เวลาที่ศิลปินเขียนบอกในคำสั่ง) และบันทึกภาพเอาไว้

ซึ่งท่าทางเหล่านั้นส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นท่าทางที่น่าขันพิลึกพิลั่นและฝืนธรรมชาติ จนยากที่จะทำค้างไว้ได้นานๆ

ดังนั้น แม้หนึ่งนาทีจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่สำหรับคนที่กำลังวางท่าเป็นประติมากรรมอยู่ มันก็อาจรู้สึกยาวนานราวกับเป็นนิรันดร์ก็เป็นได้

วูร์มเสาะแสวงหาวิธีที่แหวกแนวที่สามารถแสดงความรู้สึกได้อย่างชัดเจน รวดเร็ว และแฝงด้วยอารมณ์ขัน เพื่อดึงดูดความสนใจและกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมตั้งคำถามต่อนิยามที่แท้จริงของประติมากรรม (หรือแม้แต่ความเป็นศิลปะ) เขาเสาะหาหนทางที่สั้น รวดเร็ว และง่ายที่สุดในการสร้างงานประติมากรรมขึ้นมา และประติมากรรมนั้นก็จะมีอายุที่สั้นและดำรงอยู่เพียงชั่วขณะหนึ่ง ก่อนที่มันจะสูญสลายหายไป ถูกบันทึกไว้แค่เพียงภาพถ่ายหรือภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น ไม่ต่างอะไรกับความเป็นไม่ยั่งยืนคงทนของสรรพสิ่งในโลกนี้

ซึ่งเอาจริงๆ เราคิดว่าผลงาน ประติมากรรมหนึ่งนาที ของเขานี่มันช่างเหมาะเจาะเข้ากั๊นเข้ากันกับวัฒนธรรมเซลฟี่ในโลกยุคปัจจุบันเสียนี่กระไร ทั้งในแง่ของการตอบสนองความต้องการของคนในยุคนี้ที่เสพติดการถ่ายรูปตัวเองทุกลมหายใจ

อีกทั้งยังเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคมในยุค เจเนอเรชั่น ME ที่หมกมุ่นและลุ่มหลงอยู่กับตัวเองได้อย่างแสบสันต์คันคะเยอเป็นอย่างยิ่ง!

ขอบคุณภาพจาก หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, www.erwinwurm.at

%e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-04 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-fat-car-2002 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-fat-car-2001 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-abstract-sculpture-declining-2013 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-fat-car-2005 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-fat-house %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-psycho-ii-%e0%b8%84%e0%b8%b3%e0%b8%aa%e0%b8%b1%e0%b9%88%e0%b8%87 %e0%b8%ad%e0%b8%b0%e0%b9%84%e0%b8%a3%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b9%88%e0%b8%87-one-minute-sculptures-05-freud