สุจิตต์ วงษ์เทศ : ฝังศพใต้ถุนเรือน กลางลานในหมู่บ้าน

งานศพยุคแรกเริ่มหลายพันปีมาแล้ว มีที่เรือนคนตาย ยุคนั้นยังไม่มีวัด เพราะยังไม่รับศาสนาจากอินเดีย

แม้มีวัดแล้วในชนบทยังมีพิธีศพในบ้าน จนเมื่อไม่กี่ปีมานี้จึงไปทำที่วัด ถ้าเป็นเศรษฐีมีทรัพย์มีคฤหาสน์กว้างขวางมีบริวารคับคั่งก็ทำในที่ตัวเองตามประเพณีดั้งเดิม ไม่ไปวัด

sawghrjntrkt6lk

(ซ้าย) เรือนเสาสูงชุมชนยุคแรกๆ ราว 2,500 ปี มาแล้ว นักโบราณคดี จินตนาการจากหลุมศพ ที่ขุดพบในแหล่งโบราณคดีบ้านหนองแช่เสา ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี (ขวา) เทียบเก่าเรือนเสาสูงของชนเผ่าที่แขวงอัตตะปือ ในลาว


ฝังศพใต้ถุนเรือนตัวเอง

ยุคดั้งเดิมดึกดำบรรพ์ งานศพเมื่อเสร็จพิธีเรียกขวัญคืนร่างทุกอย่างแล้ว โดยใช้เวลานานจนเนื้อหนังร่างกายคนตายเน่า ขวัญยังไม่กลับมา ต้องเอาศพฝังดิน ก็ฝังใต้ถุนเรือนหรือลานกลางบ้าน ด้วยหวังอีกว่าขวัญจะคืนร่าง

ดังนั้น จึงทำภาชนะเขียนสีเป็นลายขวัญฝังไปกับศพด้วย (เช่น หม้อลายเขียนสีในวัฒนธรรมบ้านเชียง ขุดพบในหลุมศพที่บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี)

โดยไม่มีโลงศพ คนดั้งเดิมฝังศพใส่หลุมไว้ใต้ถุนบ้าน ชุมชนบางแห่งฝังศพทับซ้อนบริเวณเดียวกันหลายยุค เพราะอยู่สืบต่อกันมานานหลายยุคหลายสมัย นักโบราณคดีขุดพบทั่วไปโดยเฉพาะภาคพื้นทวีปอุษาคเนย์

[มีคำอธิบายอีกมากในหนังสือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ของ นายชิน อยู่ดี กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2510 หน้า 26, 35, 39, 53, 57 ฯลฯ]


ศพหมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์

โครงกระดูกมนุษย์ราว 3,000-2,500 ปีมาแล้ว นักโบราณคดีขุดพบบริเวณใต้ถุนเรือน หรือลานกลางบ้าน และล้วนเป็นโครงกระดูกของตระกูลหัวหน้าเผ่าพันธุ์

จึงมีสิ่งของมีค่าที่ทำด้วยเทคโนโลยีสูงจำนวนมากฝังรวมอยู่ด้วย (คนทั่วไปไม่มี) เช่น เครื่องมือโลหะสำริด, เหล็ก, ภาชนะดินเผาทั้งเขียนสีและไม่เขียน ฯลฯ

เฮือนแฮ่ว ในป่าแฮ่ว

เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรมเปลี่ยนไป การฝังศพไว้ใต้ถุนเรือนหรือลานกลางบ้านทำไม่ได้ ไม่เหมาะสม จึงต้องหามศพไปฝังนอกชุมชนออกไป

ต่อมาเรียกพื้นที่ตรงนั้นด้วยคำจำเพาะต่างกัน ดังนี้

ลุ่มน้ำโขง เรียก ป่าแฮ่ว, ป่าเฮ่ว (ตรงกับ ป่าเลว หมายถึง ป่าไม่ดี)

ลุ่มน้ำเจ้าพระยา เรียก ป่าช้า [ตรงกับ ป่าเลว (มีวลีเทียบว่า เลวทรามต่ำช้า) หมายถึง ป่าไม่ดี]

ด้วยความเชื่อที่ติดมากับประเพณีดั้งเดิมฝังศพใต้ถุนเรือน จึงต้องปลูกเรือนคร่อมหลุมฝังไว้ด้วย ไทดำเรียก เฮือนแฮ่ว (หมายถึง เรือนในป่าช้า)

ถ้าคนตายเป็นคนเฒ่าอายุเกิน 80 ปี จะปลูกเป็นกรณีพิเศษเรียก หอแก้ว

[ศาสนาและความเชื่อไทดำในสิบสองจุไทฯ ของ สุมิตร ปิติพัฒน์ สถาบันไทยศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545]

พิธีศพต่างระดับ

ชุมชนยุคแรกเริ่มราว 3,000 ปีมาแล้ว มีคนต่างระดับ ได้แก่ คนตระกูลผู้นำ กับคนธรรมดาสามัญชนทั่วไป พิธีศพจึงมีต่างกันดังนี้

1. พิธีศพตระกูลผู้นำ ได้แก่ หมอผีหัวหน้าเผ่าพันธุ์ มีกำหนดกฎเกณฑ์มาก

นักโบราณคดีขุดพบโครงกระดูกและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ จำนวนมาก ล้วนเป็นตระกูลผู้นำ

2. พิธีศพคนทั่วไป ไม่มีหลักฐานให้นักโบราณคดีขุดพบ เข้าใจว่ามีพิธีเรียกขวัญช่วงเวลาหนึ่งก่อน เมื่อเสร็จพิธีแล้วทิ้งซากศพไว้กลางทุ่งหรือกลางป่าเป็นหยื่อแร้งกา