มนัส สัตยารักษ์ | ความฝันของแต่ละคนไม่เท่ากัน

ความฝันของแต่ละคนไม่เท่ากัน

เคยเป็นตำรวจฝั่งธนฯ มาหลายรอบ มีอยู่ 3 รอบที่ได้อยู่อาคารที่พักหรือแฟลตของทางราชการ

แม้เราจะแบ่งระดับชั้นการบังคับบัญชาในที่ทำงาน แต่ในด้านส่วนตัวเราก็มีความรู้สึกผูกพันคล้ายญาติพี่น้องมากกว่า

เหตุหนึ่งนั้นเพราะคนระดับ สว. ควรจะต้องรู้จักตำรวจในบังคับบัญชาไปจนถึงก้นครัว

หลังเกษียณอายุไปราว 10 ปีเศษ ผมได้พบลูกน้องเก่าทางฝั่งธนฯ คนหนึ่ง เขาถูกย้ายจากโรงพักใหญ่ไปอยู่โรงพักเล็ก แต่จับสังเกตได้ว่าเจ้าตัวค่อนข้างจะพอใจและภูมิใจกับ “ทุกอย่าง” ในที่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นยศ ตำแหน่ง และหน้าที่การงาน…

เขาเปลี่ยนจากพลขับ ยศนายสิบ ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ขึ้นเป็น นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สวส. เป็นพนักงานสอบสวน

การเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มเมื่อเขาอายุ 56 ปี เหลือเวลาอีก 4 ปีก่อนเกษียณอายุ ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากในยุคนั้น มี “กฎแห่งการเลื่อนไหล” ให้นายดาบตำรวจอายุ 53 ปีขึ้นไป ได้รับการแต่งตั้งเป็นสัญญาบัตร

ประกอบกับต่อมาไม่ถึงปีเขาก็สำเร็จการศึกษาได้ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต จึงได้ทำหน้าที่พนักงานสอบสวนตรงตามคุณวุฒิ

เรื่องของลูกน้องเก่าข้างต้นทำให้นึกถึงตำรวจหนุ่มที่เคยทำหน้าที่ขับรถให้ผมขณะออกตรวจท้องที่อีกคนหนึ่งชื่อ “นิตย์” เป็นเด็กหนุ่มรุ่นใหม่ในยุทธจักรสีกากียุคนั้น กล่าวคือ พยายามเพิ่มคุณวุฒิให้ตัวเองด้วยการศึกษาเล่าเรียนในระดับที่สูงขึ้น

โดยส่วนตัว ผมชอบลูกน้องใกล้ชิดที่ “เรียนหนังสือ” มาแต่ไหนแต่ไร ไม่เพียงแต่ได้คุยกันรู้เรื่องหรือไปไหนด้วยกันได้ทุกที่เท่านั้น แต่ยังมีโอกาสที่เราจะได้ช่วยเหลือเขาด้วยการสนับสนุนโดยมีเหตุผลที่เป็นธรรม

แต่กรมตำรวจและผู้บังคับบัญชาในสมัยนั้นไม่สนับสนุนข้าราชการที่เรียนจบในสาขาอื่นที่ไม่ใช่นิติศาสตร์ (เช่น รัฐศาสตร์) นอกจากจะไม่ได้รับการพิจารณา “เทียบวุฒิ” แถมอาจจะถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย ฐานใช้เวลาราชการไปเรียนโดยไม่ได้รับอนุญาต

เมื่อผมย้ายจากหน่วยเดิมแยกจากนิตย์นั้น นิตย์ยังไม่สามารถเทียบวุฒิได้ เขาจึงเรียนปริญญาโทต่อ พร้อมกับเรียนปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ไปด้วย ดูเหมือนเขาจะจบปริญญาโทก่อนจบนิติศาสตร์ และเมื่อจบนิติศาสตร์แล้ว กว่าจะมีโครงการสนับสนุนชั้นประทวนที่จบปริญญาฯ ปรับเทียบวุฒิเป็นสัญญาบัตร ยศ ร.ต.ต.ก็อีกหลายปี

เมื่อนิตย์เป็น ร.ต.ต. เขาอายุเลย 40 ไปหลายปีแล้ว แถมรับปริญญาเอกในอีกสาขาหนึ่ง

ข่าวที่ตามมาหลังจากนั้นก็คือ “หมวดนิตย์” ยังคงเป็น “นายร้อย” อย่างเดิม… สตช.ยังไม่ต้องการนายตำรวจปริญญาเอก ข่าวล่าสุดจึงกลายเป็นว่ามีผู้ใหญ่นอกยุทธจักรสีกากีเห็นความพิกลของระบบ จึงชักชวนนิตย์ไปทำงานอื่นที่เหมาะสมกับ “วุฒิปริญญาเอก”

ผมเชื่อว่านิตย์คงใช้เวลาตัดสินใจอยู่ชั่วเวลาหนึ่งทีเดียว ถ้าเขารับงานใหม่ก็จะต้องวาง “ยศ” ไว้ในสมุดอนุทินส่วนตัว แล้วในชีวิตจริงต้องไปใช้คำว่า “ดร.” เป็นไตเติล

เมื่อครั้งเป็น นรต.ฝึกงาน ผมและเพื่อนรวม 4 คนถูกจัดส่งมาฝึกงานที่ สน.บางซื่อ มีพลตำรวจนายหนึ่งชื่อ “เฟื่อง” ชอบมาชวนคุยกับพวกเราเสมอ นอกจากเรื่องทั่วไปของตำรวจในท้องที่บางซื่อแล้ว มีไม่ต่ำกว่า 2 หรือ 3 ครั้งที่เขาพูดเหมือนคาดคั้นเอากับผม

“เจ้านาย…อย่าลืมนะ นายเป็นใหญ่เป็นโตแล้วอย่าลืมให้ไอ้เฟื่องได้เป็นนายสิบนะ”

ทีแรกผมนึกว่าเขาพูดเล่น แต่ต่อมาสีหน้าและคำพูดย้ำอย่างค่อนข้างจริงจังทำให้เชื่อว่าเป็นความจริง… ความฝันของเฟื่องคือได้ติดยศเป็น “นายสิบ”

“รู้ได้ไงว่าเราจะเป็นใหญ่เป็นโต”

“ก็ตอนนี้เจ้านายแค่เป็นเด็กยังติดอะไรต่อมิอะไรเต็มบ่าไปหมด” เขาว่าไปตามประสาคนที่ยังไม่เข้าใจชีวิตทั้งที่อายุเข้าสู่วัยฉกรรจ์แล้ว

เขาคงสอบเป็นนายสิบไม่ผ่านมาหลายสมัย จนยศนายสิบกลายเป็นเสมือนสิ่งที่ไกลเกินฝัน จนต้องมาวอนขอเอาจาก นรต.ฝึกงาน-ก็เป็นได้

ต่างกับ “ผัน” แห่ง สน.หัวหมาก

ผันเป็นตำรวจหัวหมากตั้งแต่ครั้งที่เรือนไม้ สน. ยังอยู่ริมคลองแสนแสบ เมื่อผมเป็นรอง สวส.สนหัวหมาก ดูเหมือนผันจะเป็นผู้ช่วยเสมียนคดี เขามีความสุขกับงานในหน้าที่ แต่งเครื่องแบบพลตำรวจไปติดต่ออัยการและศาล

จากกันไปหลายปี เมื่อผมได้ย้ายกลับกรุงเทพฯ เข้ามาเป็น รอง สว.กองปราบปรามนั้น สน.หัวหมากได้อาคารสมัยใหม่ที่ถนนรามคำแหง ผมเคยพบผันไม่แต่งเครื่องแบบขึ้นทำงาน

ครั้งล่าสุดผมพาตำรวจกองปราบปรามไปหารือเรื่อง “ประวัติ” เนื่องจากตำรวจไปมีคดีชกต่อยกับคนงาน แม้จะไม่มีบาดเจ็บมากมาย แต่ในอดีตนานมาแล้ว ตำรวจนายนี้เคยมีประวัติ “วิสามัญฆาตกรรมคนร้ายปล้นทรัพย์และฆ่าคนตาย” เขากังวลใจว่าประวัตินั้นจะบันทึกว่า “วิสามัญฆาตกรรม” หรือแค่บันทึกไว้สั้นๆ ง่ายๆ ว่า “ฆ่าผู้อื่นตาย”

ผันยิ้มแย้มแจ่มใสอย่างเคย จดชื่อตำรวจไว้ในสมุดบันทึกส่วนตัว แล้วพูดกับผมง่ายๆ ว่า

“เดี๋ยวผมจะคุยกับอัยการที่รับเรื่องครับ”

ผันพอใจกับงานในหน้าที่ ได้เป็นเพื่อนกับอัยการ และไม่ต้องแต่งเครื่องแบบ ร.ต.ต.

เขียนเรื่องความฝันของแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะบังเอิญไปพบข่าว “เปิดรับนายร้อยตำรวจสายสอบสวน 1,000 อัตรา”

เนื้อข่าวโดยละเอียดมีว่า จะรับผู้มีคุณวุฒิ “เนติบัณฑิต” (หรืออาจจะแค่ปริญญานิติศาสตร์-ให้รอประกาศ คือไม่แน่ใจว่าจะมี “เน” มาสมัครถึง 1,000 นายหรือไม่) เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก

หากได้รับการบรรจุจะมีเงินเดิอน 15,920 บาท เงินประจำตำแหน่ง 12,000 บาท รวม 27,920 บาท

ผู้ริเริ่มโครงการนี้คงจะไม่เห็นด้วยกับบทความเรื่อง Investigation Report ของ พล.ต.ท.อมรินทร์ เนียมสกุล ที่บรรยายไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อนถึงเรื่องการสอบสวนของตำรวจต่างประเทศแถบยุโรปและอเมริกา ซึ่งให้ความหมายของคำว่า “การสอบสวน” ที่แท้จริงคืออะไรนั่นเอง

คำว่า “รอประกาศ” ในเนื้อข่าว ทำให้ไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอม ข่าวโปรประกันดาหรือ “ความฝัน”

ถ้าเป็นความฝัน มันเป็น “ความฝันของอัยการ” เมื่อครั้งท่านเป็นกรรมการปฏิรูปงานสอบสวน กรรมการที่เป็นอัยการเสนอให้อัยการจับงานสอบสวนเสียแต่ต้นมือ นั่นคือทำหน้าที่คล้ายเป็นร้อยเวรสอบสวนนั่นเอง