ทราย เจริญปุระ | เศษซากฉาบทอง “ของฉัน”

“ใครจะไปจำได้วะ พี่ทรายหากี่หมออะ ปะไม่รู้กี่รอบ” น้องชายฉันพูดเสียงกลั้วหัวเราะมาจากปลายสาย

ปกติฉันไม่ค่อยได้เปิดอ่านข้อความจากคนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเพื่อน ข้อความเหล่านั้นจะถูกจัดการให้ไปอยู่ในอีกกล่องข้อความ คำขอร้องที่ขึ้นด้วยจำนวนตัวเลขมากขึ้นเรื่อยๆ ที่นานๆ ทีฉันก็จะกดไปเล่นกลกับมัน ด้วยการทำให้เหมือนว่าอ่านหมดแล้ว ทั้งที่จริงแค่เปิดผ่าน

มันมีทั้งข้อความด่าทอ ขอสัมภาษณ์ ขายของ ส่งข่าวมาให้ฉันแบบหวังดีประสงค์ร้าย เพราะอยากวัดปฏิกิริยาฉันจากเนื้อข่าวมากกว่าได้คำตอบ

แล้วก็ขอคำปรึกษา

ตอบอย่างคนเลวเช่นที่ฉันเป็นก็คือ ฉันช่วยไม่ได้ทุกคน และไม่พร้อมจะช่วยทุกคน

ความป่วยไข้ไม่ได้ทำให้ฉันเป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะวินิจฉัยอาการของใครได้ และเราต่างรู้จักกันเพียงผิวเผินอยู่ฝั่งเดียว-คือเขารู้จักฉัน- ซึ่งก็ฉาบฉวยเต็มที เกินกว่าที่ฉันจะให้คำแนะนำ ปรึกษา หรือติดตามอาการใดๆ ได้

แต่ล่าสุดในกล่องข้อความ ฉันกดไปเจอคนที่ถามว่าหมอที่รักษาอาการคอหักของฉันนั้นชื่ออะไร

เรียบๆ ง่ายๆ ไม่อธิบายอะไรยืดยาว แต่มีพลังมากพอที่จะทำให้ฉันกดโทรศัพท์ไปถามน้องชาย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลฉัน ซึ่งในเวลานั้นกำลังแหวกว่ายอยู่ในความเจ็บปวดและกระแสมอร์ฟีนเกินกว่าจะไปจดจำอะไรได้

แล้วน้องก็ตอบมาตามข้างต้น

มันเยอะเกินจะจดจำ

ทั้งร่างกายและจิตใจ

“ในญี่ปุ่น ถ้วยชามที่แตกบิ่นไปแล้ว จะได้รับการเชื่อมประสานด้วยรักทอง เพื่อขับเน้นร่องรอยตำหนิจากการซ่อมแซม ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวความเป็นมา คือความเปราะบาง ความแข็งแกร่ง และความงดงามในเวลาเดียวกัน

การเชื่อมประสานรอยแตกด้วยรักทองเช่นนี้ เรียกว่า คินสึงิ”*

ถัดจากคำถามเรื่องการรักษากาย

ข้อความถัดไปก็ถามเรื่องการรักษาจิตใจ

ผู้ถามดูเหมือนจะป่วยด้วยโรคเดียวกับฉัน และเพิ่งเลิกกับคู่รัก และรอดตายมาได้ ด้วยถูกส่งเข้าโรงพยาบาลทันท่วงที แต่ก็หยุดอยู่แค่นั้น สับสนตรงหน้าทางแยกที่ไร้แผนที่

“หนูควรทำอย่างไรต่อไป”

“ทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจหนูเลย”

“แฟนผมที่ควรจะเข้าใจที่สุดก็ไม่เข้าใจ”

ความข้องใจเหล่านี้ผลิตซ้ำมาจากหลายที่มากับหลายสรรพนามแทนตัว มีกระทั่งอยู่ในรูปสงฆ์ ที่แทนตัวฉันว่าคุณโยม

อาตมาไม่ดีขึ้นเลย

หลายคนสงสัย ว่าต้องทำยังไงให้คนอื่นเข้าใจ

คนสำคัญในชีวิต ครอบครัว พ่อแม่พี่น้อง คนที่เจอกันทุกวัน คนที่รอคอยให้เราเกิดความเปลี่ยนแปลง

แรกๆ นั้นฉันยังคิดว่าการพูดคุย สื่อสาร อธิบายนั้นเป็นทางเลือกที่ดี

แต่ผ่านไปซักพัก ก็รู้ได้ว่า แท้จริงแล้วไม่มีหรอก

ไม่มีวิธีที่จะทำให้ใครมาเข้าใจ

ที่พูดนี่ไม่ได้พูดด้วยความโศกเศร้า แต่เป็นการยอมรับมันอย่างซึ่งหน้า

ตัวเรายังเดาแต่ละวันของตัวเองแทบไม่ได้

และไม่ว่าจะจัดแจงไว้อย่างดีขนาดไหน ก็จะยังมีตัวแปรเหนือการควบคุมบางอย่างมาเปลี่ยนมันจนได้

ดังนั้น มันไม่มี

เลิกพยายาม

ความพยายามบางอย่างนั้นส่งผลดีในภายหลัง อาจมีคนได้ประโยชน์จากมัน อาจผลิดอกออกผล อาจตัดถนนทะลุหินผาได้

แต่ไม่ใช่กับเรื่องนี้

เราเล่าได้ บอกได้ คุยได้

แต่จงอย่าคาดหวัง

การเลิกหวังจากคนอื่นลดความเจ็บปวดของตัวเราเอง

เราแค่บอก ไม่ได้ร้องขอ

เราแค่เล่า ไม่ต้องการความช่วยเหลือ

ฉันรู้ว่ามันฟังดูแย่ และแห้งแล้งเหลือเกิน

แต่บางทีความชุ่มฉ่ำมันก็ไม่ช่วยอะไร ดีแต่ทำให้วัชพืชและกาฝากเติบโต กัดเซาะหัวใจจนทรุดพัง

“คนเราก็เช่นกัน ทุกคนล้วนเปราะบาง อ่อนไหว และแตกหักได้ จึงควรเรียนรู้วิธีกอบเก็บชิ้นส่วนของชีวิตที่แตกหัก แล้วนำกลับมาซ่อมแซมเชื่อมประสาน รู้จักโอบกอดบาดแผลในใจ และทำให้มันเปล่งประกายงดงามออกมา เพราะมันคือบทพิสูจน์ของความระทมทุกข์ที่ผ่านมา เพื่อจะได้เตือนใจว่าเราแข็งแกร่งเพียงใด”*

ลดความคาดหวังลง

ทั้งจากคนอื่น จากยา จากครอบครัว จากคู่รัก

และสำคัญที่สุดคือจากตัวเอง

มันไม่ง่ายหรอก สำหรับมนุษย์

เรามีแนวโน้มจะโบยตีตัวเองเพื่อผลลัพธ์ที่ดี เราลงแรงแล้วคิดว่านี่คือที่สุดแล้ว

แต่ที่สุดแล้วนั้นก็ยังไม่เคยพอ และไม่มีวันพอ

มันก็ทำได้แค่สองทาง คือยอมรับความผิดหวังจากผลลัพธ์ หรือลดความคาดหวังลงเสียตั้งแต่ต้นมือ

เรียงลำดับความสำคัญให้ถูก

อะไรที่ต้องทำ และต้องทำให้ได้ เพราะอะไร เราลดหย่อนได้แค่ไหน เราให้เวลามันได้เท่าไหร่ ทำเพื่ออะไร

ฉันคอยถามชุดคำถามนี้กับตัวเองตลอดในทุกเรื่อง

แน่นอนว่าบางทีก็พลาด

แต่ก็แค่พลาด กอบโกยเศษสติที่แตกกระจายมารวมกันเสียให้เร็ว แล้วก็ไปต่อ

“ไม่เหมือนกับเหรียญตก ชีวิตตกหล่นนั้นเก็บกลับคืนมาได้ยากกว่า เพราะชิ้นส่วนของมันจะกระจัดกระจาย แหลกสลายไปในทุกทิศทุกทาง ต้องใช้สติปัญญาและความอดทนยืนหยัดในการเก็บรวบรวมกลับมา

และเมื่อซ่อมแซมชีวิตแล้วมันจะเต็มไปด้วยบาดแผลและริ้วรอย ซึ่งเราจะไม่ซุกซ่อนหรือเก็บงำ แต่จะขับเน้นให้มันสวยงามยิ่งขึ้น สร้างชีวิตกลับคืนมาอย่างแข็งแกร่งและมีความสุขมากกว่าเดิม

ถ้าแค่เหรียญห้าบาทสิบบาท เรายังเสียดายและเก็บขึ้นมา ชีวิตเรานั้นนับว่ามีค่าและมีความหมายกว่านั้นมาก น่าเสียดาย ถ้าจะปล่อยทิ้งขว้างให้มันกระจัดกระจายอยู่บนพื้น”*

-18 มนุษย์ทองคำ-

ฉันคิดถึงค่ายกลในหนังจีนกำลังภายในขึ้นมา ค่ายกล 18 มนุษย์ทองคำ แข็งแกร่ง แยบยล ยากจะผ่าน

ถ้าความผิดพลาดแตกร้าวในชีวิตจะถูกเชื่อมประสานด้วยทองคำ

กว่าครึ่งตัวของฉันคงงดงามอร่ามเรืองประกายทอง

แต่นั่นมันคือการบอกว่าฉันผิดพลาดแค่ไหน หรือเป็นการเพิ่มมูลค่าและเน้นสิ่งที่ผิดพลั้งให้เด่นชัดขึ้นกันแน่

อันนี้ฉันตอบแทนคนอื่นไม่ได้

ฉันแค่ดูว่าเศษซากฉาบทองเหล่านี้พอจะทำอะไรต่อได้บ้าง

แล้วก็ไปต่อ

เราไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออยู่ในที่เดิมตลอดกาล

และไม่มีความทุกข์สุดท้ายที่แท้จริง

เราเกิดใหม่ได้พร้อมๆ กับที่ความทุกข์ก่อตัว

ไปด้วยกันกับมัน

ทีละวัน

“คินสึงิ” (Kintsugi) เขียนโดย Tom”s Navarro แปลโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 โดยสำนักพิมพ์ Move Publishing, มีนาคม 2562

*ข้อความจากในหนังสือ