ป๋าการันตี | มนัส สัตยารักษ์

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เปิดบ้านพักรับรองให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำคณะรัฐมนตรีเข้ารดน้ำขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์

ตอนหนึ่งประธานองคมนตรีกล่าวว่า “พูดได้เต็มปากว่า รัฐบาลของนายกฯ ไม่โกง เพราะเป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวมจริงๆ คนที่จะซื่อสัตย์สุจริตต้องเป็นคนที่มีความเห็นกว้างไกล ทำเพื่อคนอื่น ไม่ใช่ทำเพื่อตนเองหรือปกป้องพี่น้องที่อยู่ใกล้ชิด…

“ยืดอกพูดได้เลย ว่ารัฐบาลนี้ไม่โกง แต่ถ้าผมพูดผิด นายกฯ ต้องไปจัดการ”

ผมไม่แน่ใจว่า 2 ประโยคข้างต้นป๋าเว้นระยะทิ้งช่วงนานกี่วินาที ถ้าทิ้งช่วงนานแสดงว่าป๋าคงเพิ่งนึกได้ว่า การจะการันตียืนยันว่านักการเมืองไม่โกงนั้น มันผิดธรรรมชาติ เพราะในความเป็นจริงนั้น แม้แต่พระภิกษุผู้ทรงศีลเราก็ยังไม่สามารถรับรองได้ ถ้าท่านยังไม่ถึงแก่มรณกรรม

ถ้าท่านประธานองคมนตรีไม่ได้เว้นจังหวะการพูดที่เกี่ยวเนื่องกัน นั่นอาจจะหมายถึงขณะที่ท่านพูดนั้นท่านก็คงเหลือบเห็นคนที่ยืนใกล้นายกฯ หรือคนที่อื้อฉาวคอยเตือนสติป๋าตลอดเวลาก็ได้ว่า “ป๋าพูดผิด” ประโยคที่ 2 จึงตามมาทันที…

“ถ้าพูดผิด นายกฯ ต้องไปจัดการ!”

ผมไม่ใช่คนตำบลบ่อยางอย่างป๋า แต่เป็นเด็กจังหวัดสงขลาเหมือนกัน คนแถวนี้จริงใจ ปากไว ชอบพูดให้คนฟังเก็บเอาไปคิด และเมื่อพูดผิดก็รีบพูดออกตัวแก้ไขได้ไวเช่นกัน ถ้านายกฯ คิดและตามทันป๋า นายกฯ ย่อมต้องรีบไปจัดการแก้ไขโดยไว!

คนระดับประธานองคมนตรีท่านอ่านรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดหลังรัฐประหาร คนรักชาติอย่างถวายหัว รวมทั้งบูชาความซื่อสัตย์สุจริตอย่างท่านคงจะสนใจไปถึงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งสองเอกสารสำคัญนี้มีข้อความที่กล่าวถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในบ้านเมือง รวมทั้งการจะปราบปรามอย่างจริงจังและเข้มข้น

และคงจะเข้าใจเหมือนกับประชาชนหรือคนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คือเข้าใจว่ารัฐบาล คสช.จะใช้ “ยาแรง” ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น นั่นคือมีข่าวว่ารัฐบาลจะเลิกใช้ธนบัตรชุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อบีบให้ผู้ครอบครองนำมาแลกเป็นธนบัตรชุดใหม่ ซึ่งจะทำให้สถาบันการเงินสามารถตรวจสอบเงินสดของลูกค้าถ้าได้มาจากการคอร์รัปชั่น

ถกแถลงกันอยู่กว่าครึ่งปี จนนายกรัฐมนตรีได้ออกมาปฏิเสธว่า รัฐบาลไม่ได้มีแนวคิดจะเลิกใช้ธนบัตรใบละ 1,000 บาทที่ใช้อยู่ในปัจุบันแต่อย่างใด ข่าวที่เชื่อกันว่ารัฐบาลจะใช้ยาแรงกลายเป็นว่า รัฐบาล “บ่อมิไก๊” ต่างหาก

อย่างไรก็ตาม เฉพาะตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังวางตัวเป็นมิสเตอร์คลีนอยู่อย่างเดิม จนทำให้ท่านองคมนตรีประทับใจและพูดถึงในแง่ดีอยู่ทุกสงกรานต์

นอกจากประเทศในแถบสแกนดิเนเวียแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศทั้งในยุโรปและเอเชียที่พยายามจะยกเลิกการใช้ธนบัตรราคาสูงในตลาด เหตุผลสำคัญก็คือเพื่อยุติปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น การตรวจสอบการฟอกเงิน และดึงเงินใต้ดิน หรือเงินมืด (black money) ขึ้นมาบนดิน

ประเทศในแถบเอเชีย ตามที่ทราบจากข่าวก็มีอินดีย มาเลเซีย และไทย…ครับ-ไทย!

ทุกประเทศล้มเหลว เงียบหาย และหายเงียบ ซึ่งไม่อาจจะสรุปความผิดพลาดเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากว่า “พ่ายแพ้ต่อความทุจริต” เพียงสถานเดียวเท่านั้น

อันที่จริงถึงแม้เราจะไม่นับวัตถุประสงค์ที่จะยุติการคอร์รัปชั่น เราก็ถึงวาระที่ต้องคิดถึงเรื่องการเลิกใช้ธนบัตรอยู่ดี เพราะเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างหนีไม่พ้น รวมทั้งใน “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี” ที่รัฐบาล คสช.วางไว้ มันก็หนียุคแห่งดิจิตอลไปไม่ได้

คิดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี รัฐบาล-คิดได้ แต่คิดเรื่องเงินดิจิตอลใกล้ตัวดันคิดไม่ได้หรือไม่ได้คิด ส่วนข้าราชการทั้งหลายเขาไม่กล้าคิด เพราะถ้าคิดแล้วฝ่ายการเมืองไม่เอาด้วยหรือบังเอิญไปเหยียบตาปลาใครเข้า เขาก็เสียคน เสียอนาคตไปเลยทีเดียว

นักการเมือง นักวิชาการทางเศรษฐศาตร์ ผู้มีวิสัยทัศน์หลายท่าน เคยมีแนวคิดและดำริจะวางนโยบาย “เลิกใช้ธนบัตรมูลค่าสูง” เพื่อต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น เช่น นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง ยุค คมช. นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.คลัง สมัย นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตน์ เป็นนายกฯ ตามข่าวยุคนี้ไปไกลถึงขนาด นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร มาร่วมประชุมด้วย และมาถึงยุค คสช.ก็มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยทำการประชาสัมพันธ์และแพร่ข่าว

บรรดาผู้มีวิชาความรู้ มีวิสัยทัศน์ รักประเทศชาติและประชาชน ต่างถูก “เบรก” จากผู้มีอำนาจตัวจริง ไม่ว่าจะเป็น คมช. พรรคร่วมรัฐบาล กรรมการบริหารพรรค (ปชป.) ผู้ยิ่งใหญ่เหนือพรรค (พท.) และล่าสุด ผู้ยิ่งใหญ่แห่ง คสช.

มีการกล่าวกันว่า อินเดีย “ล้มเหลว” ในการเลิกใช้ธนบัตรนั้น เป็นการเข้าใจผิด หรือใช้คำผิด เพราะนายกรัฐมนตรีอินเดียได้ผลิตธนบัตรทดแทนธนบัตรที่สั่งเลิกใช้ ไม่ใช่การ “เลิกใช้เป็นมาตรฐาน” หรือไม่ใช่ demonetize นั่นเอง

เมื่อไม่ใช่ demonetize ก็ไม่ใช่การเลิกใช้ธนบัตรเป็นมาตรฐานนั่นเอง

อีกประการหนึ่งนายกฯ อินเดียมองข้ามวิถีชีวิตของคนจนซึ่งใช้เงินสดเป็นประจำวัน คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศจึงเดือดร้อนกว่าคนร่ำรวยซึ่งเพียงแต่ไปแลกเอาธนบัตรแบบใหม่มาถือครองแทนของที่เอาไปคืนรัฐ ถ้ากลัวทางการสงสัยที่มาก็อาจจะใช้ชื่อเสมียนหน้าห้องหรือคนใช้ คนขับรถแบบที่เมืองไทยก็ได้

ส่วนที่มาเลเซีย นายมหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี เพียงแต่ให้สัมภาษณ์ว่า “มาเลเซียอาจมีการเปลี่ยนแปลงเงินตราสกุลริงกิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือไม่ก็เลิกใช้เงินสด เพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชั่น”

ยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย แต่อย่างน้อยก็ได้แสดงวัตถุประสงค์ “เพื่อต่อสู้กับคอร์รัปชั่น”

ต่างกับไทยที่บุคคลชั้นนำมือสะอาดของประเทศเตรียมตัวคลอดความคิด แต่ก็ “แท้ง” ไปเสียก่อนเป็นเวลากว่าสิบปีแล้วกระมัง

เขียนมาเสียยืดยาว มีเป้าหมายเพียงเพื่อจะเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ถ้าท่านได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง ท่านจะต้อง “จัดการ” ตามที่ป๋าสั่ง ป๋าเป็นคนที่พูดให้ผู้ฟังเอาไปคิดนะครับ ไม่ใช่คนพูดเพ้อเจ้อเลื่อนลอย

อีกไม่ถึงปีก็จะถึงวันสงกรานต์ 2563 แล้ว อย่าให้ป๋าต้องพูดแบบซ่อนหงุดหงิดอย่างเรื่อง “กองหนุน” ที่พูดในปี 2561 นะครับ