อย่าประเมินศักยภาพของกระบวนการสืบทอดอำนาจต่ำเกินไป

“ที่ดีไซน์ไว้” ยังใช้ได้ดี

แม้จะมีเรื่องราวความเดือดร้อนของประชาชนกลุ่มต่างๆ ออกมาเป็นระยะ จนคล้ายเอาความจริงมาสะท้อนถึงฝีมือการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช.ที่ทำหน้าที่มาจะครบ 5 ปีในไม่กี่วันว่าเป็นที่พึ่งพาของประชาชนได้แค่ไหน อย่างไร

แต่หากติดตามความเป็นไปทางการเมืองที่เข้าสู่โหมดการจัดตั้งรัฐบาล ย่อมรับรู้ว่าแนวโน้มการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้ง โอกาสที่จะนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ยังเป็นของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” หัวหน้าคณะ คสช.มากกว่าที่จะเป็นคนอื่น

ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ สถานการณ์ที่พยายามชี้ให้เห็นว่าไม่มีทางที่จะตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้เพราะเสียงสนับสนุนในสภาผู้แทนฯ หมิ่นเหม่ เนื่องจากพรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วมสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์มีน้อยเกินไป แม้จะพยายามถึงที่สุดแล้วก็คงได้เกินครึ่งไม่กี่เสียง

กลับดูเหมือนว่าประเมินศักยภาพของกระบวนการสืบทอดอำนาจต่ำเกินไป

ในความเป็นจริงนั้นเริ่มมีการจัดการที่ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่าพรรคที่ยืนอยู่คนละฟากกับฝ่ายสืบทอดอำนาจที่ดูจะมีจำนวน ส.ส.มากกว่านั้นมีโอกาสแปรปรวนไม่น้อยจากเรื่องราวที่กำลังดำเนินไป

ชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ ที่การคำนวณล่าสุดมี ส.ส.มากกว่า 80 เก้าอี้ ที่ต้องคลื่นลมอย่างหนักขณะนี้ มีความเป็นไปได้สูงยิ่งที่โอกาสจะอับปาง จนทำให้จำนวน ส.ส.ของแต่ละฝ่ายแปรเปลี่ยนไปมีไม่น้อย

รัฐบาลที่มีฐานเสียง ส.ส.ให้การสนับสนุนอย่างมั่นคง เพื่อจะอยู่ยืนยาวอย่างมีเสถียรภาพ แม้เกิดขึ้นไม่ได้จากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ใช่ว่าจะจัดการให้เกิดขึ้นไม่ได้ ด้วย “กลไกที่ดีไซน์ไว้ให้เรียบร้อย”

อาจจะเป็นการเมืองที่ขัดอกขัดใจใครต่อใครหลายคน โดยเฉพาะคนที่ฝากความเชื่อมั่นศรัทธาไว้ที่การเลือกตั้งของประชาชน

แต่หากถามว่า ความขัดเคืองใจนั้นจะส่งผลอะไรหรือไม่

หากไม่ปล่อยให้ศรัทธาในอำนาจประชาชนครอบงำจนมากเกิน จะพบว่าในกลไกที่ดีไซน์มาโดยเฉพาะล่วงหน้าแล้ว สามารถจัดการให้เป็นไปตามต้องการอย่างไม่ยุ่งยาก

และหากคิดว่าประชาชนจะแสดงพลังไม่ยินยอม น่าจะเป็นการคิดที่เกินจริง

เพราะที่สุดแล้ว ประชาชนที่ยืนอยู่คนละข้างกับศรัทธาที่ว่าก็มีอยู่ไม่น้อย

เป็นประชาชนที่พอใจกับผลงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์

เมื่อรัฐบาล คสช.บริหารประเทศมาครบ 4 ปี ปลายปี 2561 “สำนักงานสถิติแห่งชาติ” ทำการสำรวจเอง ว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับผลงานรัฐบาล

ปรากฏว่า ร้อยละ 59.7 ระบุว่า มีความพึงพอใจในภาพรวมต่อการดำเนินงานของรัฐบาลอยู่ในระดับมาก-มากที่สุด (ซึ่งในจำนวนนี้มีความพึงพอใจมากร้อยละ 50.9 และมากที่สุดร้อยละ 8.8)

ส่วนผู้ที่ระบุว่า พึงพอใจปานกลางมีร้อยละ 34.5, พอใจน้อยร้อยละ 4.1 และน้อยที่สุดร้อยละ 1.0

ขณะที่มีผู้ไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 0.7

และนี่เองที่เป็นข้อมูลที่บ่งบอกว่า หากคิดว่าประชาชนจะไม่พอใจจนไม่ยอมให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป

น่าจะเป็นเรื่องคาดหวังในความรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจของประชาชนมากเกินไป

คนที่ไม่รู้สึกเดือดร้อนน่าจะยังมีมากกว่า