วิรัตน์ แสงทองคำ : ศุภชัย เจียรวนนท์ (จบ)

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ข้อเขียนชุดใหม่ว่าด้วย การติดตามความเป็นไปสังคมธุรกิจไทย ผ่านเรื่องราวบุคคลสำคัญ โฟกัสที่ภูมิหลัง ว่าด้วยความรู้และประสบการณ์

เรื่องราว ศุภชัย เจียรวนนท์ กับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น ใช้เวลาเกือบสองทศวรรษ กว่าจะมาถึงจุดตั้งต้นใหม่ที่สำคัญ ที่น่าติดตาม

“–แข็งแกร่งด้วย ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ : เหนือกว่าด้วยโครงข่าย ผลิตภัณฑ์ คอนเทนต์และบริการที่หลากหลาย –ผลประกอบการแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลัง การปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน–รายได้เติบโตแข็งแกร่งเหนืออุตสาหกรรม และเพิ่มส่วนแบ่งตลาดรายได้ได้อย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะที่ ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่–ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งรวมถึง เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) และ China Mobile มุ่งมั่นให้การสนับสนุนกิจการของบริษัทอย่างจริงจัง” สาระสำคัญข้างต้น มาจากการนำเสนอบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปรากฏเป็น “ข้อมูลทางการ” ในปัจจุบัน (http://true-th.listedcompany.com/) หัวข้อ “จุดเด่นด้านการลงทุน” ถือว่าให้ภาพรวมกิจการไว้ด้วย

คำเน้น (โดยผู้เขียน) เป็นข้อความสำคัญ (Key word) ซึ่งควรแก่การอรรถาธิบาย

Convergence

ยุทธศาสตร์คอนเวอร์เจนซ์ ไม่มีคำแปลภาษาไทย มาจากคำว่า “Convergence” เท่าที่ศึกษาข้อมูลกลุ่มทรู มีความสำคัญอย่างมาก อย่างน่าสนใจ เป็นยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ ซึ่งเริ่มต้นเมื่อกลุ่มทรูได้หลอมรวมกิจการเกี่ยวข้อง (โดยเฉพาะ True move กับ True vision) เข้าด้วยกัน (ราวปี 2550)

ผมเคยอรรถาธิบาย “Convergence” อย่างจริงจังมาแล้ว เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยอ้างอิงคำนิยามภาพรวมธุรกิจ

“True เป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรหนึ่งเดียวของประเทศ และปัจจุบัน True เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่แข็งแกร่งที่สุดของไทย วิสัยทัศน์ของกลุ่ม True คือการเป็นผู้นำคอนเวอร์เจนซ์ ไลฟ์สไตล์ (Convergence Lifestyles)” คำอธิบายอย่างเป็นการเป็นงาน เมื่อ 6 ปีที่แล้ว พิจารณาแล้วถือว่าไม่แตกต่างจากปัจจุบัน ที่ว่า “กลุ่มทรูเป็นผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจรหนึ่งเดียวของประเทศไทย และเป็นผู้นำคอนเวอร์เจนซ์ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้า…” (ที่มา อ้างแล้ว)

“ความจริงแล้ว กิจการสื่อสารระดับโลกได้ใช้คำว่า Convergence กันกว้างขวาง รวมทั้งอดีตผู้ร่วมทุนของกลุ่มทรู” ผมเคยเสนอประเด็นไว้ (ผู้อยู่หลังฉาก Academic Fantasia มติชนสุดสัปดาห์ สิงหาคม 2552) ทั้งนี้ อ้างอิงถึงทั้ง Verizon Communications USA และ Orange UK

Verizon (ร่วมทุนในธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน 2 ล้านเลขหมาย ราวปี 2534-2542) กิจการสื่อสารมีบริการทั้งไร้สายและผ่าน fiber optic (เส้นใยนำแสง) รายใหญ่ ใช่คำว่า converged communications กล่าวถึง บริการโทรศัพท์พื้นฐาน เสนอลักษณะ bundle ค่อนข้างไม่ซับซ้อน ระหว่างโทรศัพท์ ทีวีดิจิตอล และอินเตอร์เน็ต

ขณะที่ Orange UK (เคยร่วมทุนในธุรกิจสื่อสารไร้สาย ราวปี 2544-2550) ใช้คำว่า Convergence เป็นหนึ่งอรรถาธิบายยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย innovation (นวัตกรรม), convergence และ effective cost management (บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ) บริการและผลิตภัณฑ์ มีส่วนคล้ายกับกลุ่มทรู เสนอบริการเชื่อมโยงหลากหลาย เช่น บริการสื่อสารไร้สาย มีทั้ง เพลง เกม ข้อมูล กีฬา และเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ส่วนบริการสื่อสารที่บ้าน ประกอบด้วย โทรศัพท์ เครือข่ายความเร็วสูงไร้สาย ทีวีดิจิตอล video on demand และเกม เป็นต้น

ต่อมาได้สรุปเป็นฐานความคิดยุทธ์ศาสตร์ของทรูข้างต้นมีที่มา “สาระสำคัญของความรู้จากต่างประเทศ มีมิติกว้างขวาง ไม่เพียงเทคโนโลยี หากรวมไปการจัดการ โมเดล และระบบทางธุรกิจด้วย แนวทางการขยายตัวแบบครบวงจร หรือการควบคุมภาวะตลาดได้ระดับระดับหนึ่ง เป็นบทเรียนทรงคุณค่าของ ธนินท์ เจียรวนนท์ โมเดล Vertical integration ในอุตสาหกรรมอาหาร การรุกเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกอย่างปูพรม และ Convergence lifestyle ของทรู ดูเหมือนมีร่องรอยความคิดเดียวกัน”

ผมเคยสรุปเชิงความแนวคิด (เรื่อง ธนินท์ เจียรวนนท์ มติชนสุดสัปดาห์ กันยายน 2552) โดยเชื่อว่ารากเหง้ามาจากการประยุกต์ใช้แนวทาง Contract Farming กับ Vertical integration ในยุคก่อร่างสร้างกิจการซีพี นอกจากสะท้อนร่องรอยความคิดพื้นฐานในการสร้างเครือข่ายธุรกิจเชิงครบวงจรแล้ว ในทางเทคนิค คือการแสวงหาความรู้จากพันธมิตรระดับโลก

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ยุทธศาสตร์ธุรกิจใหม่ ของกลุ่มทรูข้างต้น เป็นผลงานของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ในฐานะผู้บริหารกลุ่มทรู เป็นผลงานที่น่าประทับใจเสียด้วย โดยเฉพาะความพยายาม สะท้อนความเชื่อมโยงกับแนวคิด แนวทางซีพี

ในแง่ปัจเจก ย่อมเชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่าง ทั้งในฐานะบุตรคนเล็ก มักให้ความสนใจ เอาใจใส่ ติดตามและใกล้ชิดบิดามากเป็นพิเศษ

ศุภชัย เจียรวนนท์ มีบุคลิกประสานงานกับผู้คนต่างๆ ได้ดี มีประสบการณ์เกี่ยวข้องการบุกเบิกสิ่งใหม่ ไม่เพียงแต่ประสบการณ์การทำงาน ยังรวมประสบการณ์สมัยเรียน Boston University โดยเฉพาะในการก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทย ชุมชนคนไทย รวมทั้งตัวเขาเองสนใจศึกษาบทเรียนธุรกิจที่สัมพันธ์กัน “ผมชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับ Cross Activity Management” เขาเคยบอกผมอย่างนั้น (เมื่อปี 2545)

อย่างไรก็ตาม ไม่นานจากนั้น ศุภชัย เจียรวนนท์ ค้นพบและเชื่อว่า ลำพังยุทธศาสตร์ Convergence อย่างเดียว คงไม่ทำให้กลุ่มทรูก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจสื่อสาร มีฐานะทัดเทียมกลุ่มธุรกิจหลักอื่นๆ ของซีพี

ซีพีเขาสู่ธุรกิจสื่อสารด้วยคว้าสัมปทานชิ้นสำคัญ–โทรศัพท์พื้นฐานในเขตกรุงเทพฯ จากความเชื่อเดิม พลัง “ผูกขาด” ดูยิ่งใหญ่กว่า Contract farming และ Vertical integration บวกกับความพยายามตั้งแต่ต้น ตามแนวทางธุรกิจต่อเนื่องและครบวงจร ไม่ว่าการเข้าสู่ทีวีแบบบอกรับ ต่อเนื่องมาถึงสื่อสารไร้สาย หรือธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ช่วงแรกๆ มองเป็นเพียงธุรกิจต่อเนื่อง) แต่กลายเป็นว่าธุรกิจแกน (โทรศัพท์พื้นฐาน) กลับกลายเป็นภาระหนัก

ปัจจัยสำคัญของความผันแปร มาจากระบบและเทคโนโลยีสื่อสารระดับโลก ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีอิทธิพลเหนือกว่าการคุ้มครองโดยรัฐจากระบบสัมปทาน

ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่

“กลุ่มทรูได้ขยายการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ด้วยการเข้าซื้อหุ้น 4 บริษัทของกลุ่มฮัทชิสันในประเทศไทยได้แก่บริษัท ฮัทชิสัน ไวร์เลส มัลติมีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด บีเอฟเคที บริษัท Rosy Legend Limited และบริษัท Prospect Gain Limited รวมมูลค่าการชำระคืนหนี้สินเดิมของบริษัทดังกล่าวที่มีกับกลุ่มฮัทชิสันแล้ว เป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 6,300 ล้านบาท” เหตุการณ์สำคัญในปี 2554 (อ้างจากข้อเขียนก่อนหน้า—ศุภชัย เจียรวนนท์ (4) มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 มิถุนายน 2559) ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ

–กลุ่มทรูผ่านพ้นช่วง “ปิดหูปิดตาไม่มองมือถือ” (ตามสำนวน ศุภชัย เจียรวนนท์) เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญกลุ่มทรูในฐานะธุรกิจสื่อสารครบวงจร มองธุรกิจสื่อสารไร้สายหรือธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นธุรกิจหลักที่มีอนาคตไปแล้ว อันเนื่องมาจากภาพความเป็นจริงดังกล่าวธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สัมพันธ์กับข้อมูลจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (อ้างจากกหนังสือ “สารสถิติ” มกราคม 2557) พบว่าในช่วงปี 2552-2556 ผู้คนในสังคมไทย มีโทรศัพท์มือถือใช้เพิ่มขึ้นจากสัดส่วน 56.8% (34.8ล้านคน) เป็น 73.3% (46.4 ล้านคน) เป็นการเติบโตมากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และโดยเฉพาะโทรศัพท์บ้าน ซึ่งปรากฏว่าอัตราการเติบโตลดลงอย่างเห็นได้ชัด (จาก 21.4% เหลือเพียง 14%)

แม้จะผ่านช่วง “ปิดหูปิดตา” มาแล้ว แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย จากสถิติของทรูเอง (True At A glance—http://true-th.listedcompany.com/) พบว่า ตั้งแต่ปี 2551-2555 ทรูมีฐานะเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายสุดท้าย ครองอันดับสุดท้าย (อันดับ 3) อยู่อย่างนั้น มีส่วนแบ่งประมาณ 15% เท่านั้น

4G กับพันธมิตรใหม่

“ผมมั่นใจในโอกาสที่ทรูจะก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทย โดยเฉพาะการชนะการประมูลคลื่นทั้ง 1800 MHz และ 900 MHz…” สารประธานกรรมการกลุ่มทรู (ธนินท์ เจียรวนนท์) สะท้อนความคาดหวังใหม่ ความพยายามครั้งใหม่ครั้งสำคัญ เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สำคัญๆ

— ปี 2557 กลุ่มทรูมีพันธมิตรใหม่-China Mobile (เข้าถือหุ้น 18%) เพื่อสามารถปรับปรุงโครงสร้างทางการเงินให้เข้มแข็ง เพื่อเข้าสู่การแข่งขันใหม่ เดิมพันใหม่

— โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปี 2558 ทรูเป็นผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียวในการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม (หรือที่เรียกว่า 4G) สามารถคว้าใบอนุญาตทั้งสองครั้ง ทั้งย่านความถี่ 900 และ 1800 MHz

ว่าไปแล้ว ซีพีและทรู กับ ธนินท์ และ ศุภชัย เจียรวนนท์ ก็ได้ทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างที่ควรจะทำแล้ว และดูเหมือนว่าสถานการณ์ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะกระเตื้องขึ้นบ้าง (จาก True At A glance เช่นเดียวกัน)

ที่เหลือเป็นภารกิจอันหนักอึ้งของ ศุภชัย เจียรวนนท์ ในความพยายามก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารธุรกิจสื่อสารที่ประสบความสำเร็จ อย่างแท้จริง