สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง/มะเดื่ออุทุมพร สมุนไพรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ/โครงการสมุนไพรเพื่อการพึงพาตนเอง มูลนิธิสุขภาพไทย www.thaihof.org

มะเดื่ออุทุมพร

สมุนไพรในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

 

การพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคม ผ่านไปอย่างยิ่งใหญ่สมพระเกียรติเป็นที่ชื่นชมโสมนัสของปวงพสกนิกรชาวไทยถ้วนหน้า

มีเกร็ดความรู้มากมายจากงานพระราชพิธีครั้งนี้ ที่คนส่วนใหญ่เพิ่งรู้ เช่น มีสมุนไพรธรรมดาสามัญหลายชนิดที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในพระราชพิธี ได้แก่ ใบมะตูม ใบมะม่วง ใบทอง ใบตะขบ และมะเดื่ออุทุมพร

เชื่อกันในคติพราหมณ์ว่าใบมะตูม 3 แฉก เป็นสัญลักษณ์แทนเทพพรของพระเจ้า 3 องค์ ที่เรียกรวมกันว่าตรีมูรติ คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม

ดังนั้น ในพระราชพิธีสำคัญอย่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจึงมีการนำใบมะตูมมาประกอบน้ำมหาสังข์เพื่อหลั่งพรพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามถวายแด่พระมหากษัตริย์

และถ้าสังเกตให้ดีในพระราชพิธีดังกล่าวจะเห็นพราหมณ์ถวายช่อใบสมิต ซึ่งจะขอนำมากล่าวถึงในโอกาสต่อไป

ในที่นี้จะกล่าวถึงไม้มะเดื่ออุทุมพร ที่ใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและใช้ในตำรับยาสมุนไพร

 

มะเดื่ออุทุมพร (Ficus racemosa L.) เป็นไม้เนื้ออ่อนยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ จึงมีชื่อเรียกว่า มะเดื่อใหญ่ และยังมีลำต้นเกลี้ยงจึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า มะเดื่อเกลี้ยงหรือเดื่อเกลี้ยง

เพื่อบ่งบอกชนิดให้แตกต่างจากมะเดื่อปล้อง (Ficus hispida Linn. f ) ซึ่งลำต้นและกิ่งก้านมีข้อปล้องคล้ายข้อปล้องไม้ไผ่ และใบมะเดื่ออุทุมพรเป็นรูปหอกโคนมนต่างจากใบมะเดื่อฝรั่ง (Ficus carica L.) ที่มีขอบใบหยักลึก 3-5 หยัก

และที่มักเข้าใจผิดกัน คือ ลูกฟิก(Fig) ที่อบแห้งรสชาติหอมหวานนั้นไม่ใช่ผลมะเดื่ออุทุมพรซึ่งมีอีกชื่อว่ามะเดื่อไทย

แต่เป็นผลแห้งของมะเดื่อฝรั่งที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือไม่ก็มาจากโครงการหลวงที่ส่งเสริมการปลูกมะเดื่อฝรั่งแทนการปลูกฝิ่น

คนไทยทั่วไปในปัจจุบันมักไม่เข้าใจในความสำคัญของมะเดื่ออุทุมพรมากนัก เพราะนอกจากเป็นไม้เนื้ออ่อนไม่ทนทานแล้ว ลูกมะเดื่อชนิดนี้ก็ไม่น่ากินเหมือนลูกมะเดื่อฝรั่ง เพราะมีไข่และตัวแมลงหวี่อยู่ภายในเต็มไปหมด ดังคำกลอนสุนทรภู่ในนิราศภูเขาทองตอนหนึ่งว่า

“ถึงบางเดื่อ โอ้มะเดื่อเหลือประหลาด บังเกิดชาติแมลงหวี่มีในไส้

เหมือนคนพาลหวานนอกย่อมขมใน อุประไมยเหมือนมะเดื่อเหลือระอา”

 

แต่สำหรับผู้รู้เรื่องพราหมณ์พิธีย่อมเห็นไม้มะเดื่อที่ชาวอินเดียเรียกว่า Udumbra (ซึ่งออกเสียงเป็นคำไทยว่า อุทุมพร และเพี้ยนเสียงไปเป็นคำว่าชุมพร) เป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นบัลลังก์ที่ประทับของเทพตรีมูรติ คนที่อยู่ในรั้วในวังของไทยย่อมทราบดีว่ามะเดื่ออุทุมพรเป็นไม้มงคลนาม

จึงไม่แปลกที่มีพระมหากษัตริย์ไทยราชวงศ์บ้านพลูหลวงสมัยอยุธยาอย่างน้อยสองพระองค์ที่เรารู้จักกันดี ที่มีพระนามเล่นว่าดอกมะเดื่อ

คือสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (หรือพระเจ้าเสือ) เหตุเพราะประสูติใต้ต้นมะเดื่อซึ่งถือว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการมาก เนื่องจากหนึ่งในพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัป คือ โกนาคมโนก็ประสูติใต้ต้นมะเดื่ออุทุมพร

และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอุทุมพร (ขุนหลวงหาวัด) เหตุเพราะพระราชมารดาสุบินว่าทรงได้ดอกมะเดื่อ

สำหรับพระองค์หลังนี้พระนามจริงมีความหมายเดียวกับพระนามเล่น และวัดที่พระองค์ทรงสร้างก็มีชื่อตามพระนามว่า วัดเจ้าดอกเดื่อ เนื่องด้วยไม้มะเดื่ออุทุมพรเป็นที่ประทับของเทพเจ้าดังกล่าวแล้ว

ดังนั้น ตั่ง ที่ประทับนั่งเล็กๆ ของพระมหากษัตริย์ในพิธีมูรธาภิเษก (พิธีสรงน้ำสหัสธาราอันเป็นเบื้องแรกแห่งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก) จึงต้องเป็นที่ประทับไม้อย่างเดียวกัน

ดังพระราชาธิบายของพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ในพระราชพิธีสิบสองเดือนว่า

“ม้าที่สำหรับประทับสรงเรียกว่าตั่ง ทำด้วยไม้มะเดื่อรูปกลมมีขาสี่หุ้มผ้าขาว ตั่งไม้มะเดื่อนี้เป็นเครื่องสำหรับอภิเษก ใช้แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระราชเทวีและพระสังฆราชกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า…ไม่เป็นของใช้ทั่วไป เป็นของเฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับอภิเษก”

 

จากพระราชพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษกบนตั่งไม้มะเดื่อทรงกลมเล็กๆ ก็เลื่อนขึ้นสู่พะราชพิธีบนพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ หรือที่เรียกว่าพระที่นั่งแปดทิศ ประดิษฐ์จากไม้มะเดื่ออุทุมพรรูปทรงแปดเหลี่ยมสำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับนั่งรับน้ำมหาสังข์ใบมะตูมแต่ละทิศไปจนครบแปดทิศ เป็นสัญลักษณ์ว่าทรงรับพระราชภาระของแผ่นดินทั้งแปดทิศ การประกอบพระราชพิธีบนพระแท่นไม้มะเดื่อในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะถึงพระราชพิธีสถาปนาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์บนพระที่นั่งภัทรบิฐที่ทรงรับเบญจราชกกุธภัณฑ์ และทรงประกาศพระปฐมบรมราชโองการ และคนส่วนใหญ่ก็มักไม่รู้ว่าพระที่นั่งภัทรบิฐก็สร้างขึ้นจากไม้มะเดื่ออุทุมพรด้วย

มะเดื่ออุทุมพรมีความศักดิ์สิทธิ์ในทางวัฒนธรรมประเพณีไทยฉันใด ในทางสรรพคุณสมุนไพรก็มีความสำคัญฉันนั้น

กล่าวได้ว่าชาวแพทย์แผนไทยทุกคนต้องรู้จักชื่อมะเดื่ออุทุมพรหรือมะเดื่อชุมพร

ใครไม่รู้จักจะเป็นหมอไทยไม่ได้โดยเด็ดขาด

เพราะพืชเภสัชวัตถุชนิดนี้มีค่าประดุจดังแก้ววิเชียรที่ส่องสว่างโลกโดยอยู่ในพิกัดยา “เบญจโลกวิเชียร “หรือ “ยาแก้วห้าดวง “และเนื่องจากยาทั้ง 5 ชนิดในพิกัดนี้ใช้ส่วนราก จึงมีชื่อเรียกง่ายๆ ว่า “ยา 5 ราก” คือ รากชิงชี่ รากย่านาง รากคนทา รากเท้ายายม่อม และรากมะเดื่ออุทุมพร (หรือรากมะเดื่อชุมพร)

เนื่องจากยากลุ่มนี้มีฤทธิ์เย็นมากในคัมภีร์ตักศิลา ว่าด้วยไข้พิษไข้กาฬต่างๆ จึงใช้ยา 5 รากกระทุ้งพิษไข้ทั้งปวง แต่ก่อนรากยากลุ่มนี้ใช้ฝนกิน หรือใช้สิ่งละเท่าๆ กันต้มดื่ม

แต่รูปแบบยาปัจจุบันทำเป็นยาผง ใช้ครั้งละ 2-3ช้อนโต๊ะละลายน้ำสุกกินห่างกันราว 3 ชั่วโมงต่อครั้ง จนกว่าไข้จะทุเลาหรือเมื่อกระทุ้งผื่นกาฬออกจนหมด

หากไม่ใช้ทั้ง 5 ราก จะใช้รากมะเดื่ออย่างเดียวก็ย่อมได้ เพราะฤทธิ์ฝาดเย็นของรากมะเดื่อนั้นท่านว่า สามารถแก้ไข้ กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษร้อน กล่อมเสมหะและโลหิต แก้ท้องร่วงได้ชะงัดนัก

ผลดิบมีฤทธิ์แก้ท้องร่วงเช่นกัน และยังใช้รักษาเบาหวานได้ผลดี

ตรงกันข้ามกับผลสุกที่มีฤทธิ์ระบาย

 

ไม้มะเดื่ออุทุมพรมีคุณค่ามาก แม้ไม่มีใครอุตรินำไม้มะเดื่ออุทุมพรไปทำเครื่องเฟอร์นิเจอร์เทียมเจ้าเหมือนอย่างเฟอร์นิเจอร์ไม้พะยูง ที่เศรษฐีเมืองจีนแย่งกันซื้อไปใช้เทียมราชูปโภคของฮ่องเต้

แต่ก็ควรหาทางอนุรักษ์บำรุงสายพันธุ์มะเดื่ออุทุมพรไว้เป็นไม้มีคุณค่าทางจิตใจ ปลูกเป็นมงคลหรือเป็นไม้บอนไซประดับบ้าน

ถ้าเป็นไปได้ก็ปลูกบำรุงรักษาต้นมะเดื่อเนื้อไม้ดีๆ ไว้สำหรับสร้างหรือซ่อมแซมเครื่องราชูปโภคให้สถาพรในแผ่นดินสืบไป

รากมะเดื่ออุทุมพรทำเครื่องยาไทย ใบอ่อนและช่อดอกตูมรสฝาดอ่อนๆ นำมาประกอบเป็นผักเคียงจิ้มน้ำพริกหรือทำแกงส้มได้

นับว่าพระราชราชพิธีบรมราชาภิเษกในคราวนี้ช่วยให้คนไทยทั้งประเทศตาสว่างเรื่องไม้สิริมงคลมะเดื่ออุทุมพรเป็นอย่างดี