วิรัตน์ แสงทองคำ : ทิศทางและบทสรุป (1) ธุรกิจอเมริกัน กับสังคมไทย อิทธิพลคงอยู่

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

หมายเหตุ – ช่วงปลายปี 2559 ต่อต้นปี 2560 ถือโอกาสสรุปประเด็นสำคัญๆ ด้วยซีรี่ส์เพียง 2-3 ตอน

ในช่วงกว่า 5-6 ทศวรรษ อเมริกันกับสังคมธุรกิจไทย ในภาพรวม สะท้อนความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น

บทสรุปอ้างอิงมาจากซีรี่ส์ชุดใหญ่ (มากกว่า 30 ตอน) “ธุรกิจอเมริกัน กับ สังคมไทย” ว่าด้วยการสำรวจความเป็นอยู่และเป็นไปธุรกิจอเมริกันในสังคมไทย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง ทั้งก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ 2540 นำเสนอต่อเนื่องในมติชนสุดสัปดาห์ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ถึงช่วงต้นปี 2559

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เปิดศักราชการก่อตั้งธุรกิจไทยอย่างมากมาย เป็นยุคใหม่ของธุรกิจครอบครัว สังคมธุรกิจไทยขยายตัวครั้งใหญ่

แรงกระตุ้นสำคัญมาจากยุคสงครามเวียดนาม

สหรัฐอเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย ภายใต้ความช่วยเหลือหลายด้าน พร้อมด้วยแรงกดดันต่อรัฐไทยปรับนโยบายเศรษฐกิจครั้งสำคัญให้เอกชนมีบทบาท

ขณะเดียวกัน เปิดโอกาสธุรกิจอเมริกันเข้ามาในภูมิภาคใหม่

ถือเป็นการรุกออกนอกสหรัฐครั้งแรกๆ


เกษตรกรรมวงจรใหม่ กับ บุกเบิกอุตสาหกรรม

โครงการเจ้าพระยาใหญ่ (Greater Chaophraya Project) เกิดขึ้นภายใต้คำแนะนำของ Food and Agriculture Organization : FAO และสนับสนุนการเงินโดยธนาคารโลก ในแผนการปรับปรุงระบบชลประทานเพื่อขยายพื้นที่ปลูกข้าวกว้างออกไป

เกษตรกรรมไทยได้เข้าสู่วงจรใหม่ พึ่งพิงเครือข่ายธุรกิจระดับโลกมากขึ้น ด้วยการใช้สารเคมี-ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช ฯลฯ อย่างจริงจัง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสให้กับนักธุรกิจไทยสร้างสายสัมพันธ์กับเครือข่ายธุรกิจระดับโลก ที่สำคัญการเข้ามาของธุรกิจระดับโลก โดยเฉพาะกรณีธุรกิจอเมริกัน

กรณี Monsanto น่าสนใจ เปิดสำนักงานในประเทศไทยเมื่อปี 2511 ช่วงแรกๆ จำหน่ายสารกำจัดวัชพืช มีบทบาทสำคัญสร้างแรงกระตุ้นเปลี่ยนแปลงแบบแผนเกษตรกรรมไทย การปรับเปลี่ยนธุรกิจ Monsanto ในช่วง 3-4 ทศวรรษมานี้ ให้ภาพสะท้อนความเป็นไปเกษตรกรรมไทยสมัยใหม่ อยู่ในระบบพึ่งพิงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

นั่นคือเข้าสู่ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ Monsanto ปรับยุทธศาสตร์ธุรกิจระดับโลก

ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเมล็ดพันธุ์ จนกลายเป็นผู้นำตลาดโลกในเวลาอันรวดเร็วเมื่อ 2 ทศวรรษที่ผ่านมานี่เอง ด้วยการซื้อกิจการเมล็ดพันธุ์อย่างขนานใหญ่ (รวมทั้งกิจการสหรัฐบางรายที่มีฐานในเมืองไทยด้วย)

ธุรกิจไทยอย่างกลุ่มซีพี กับโอกาสจากเกษตรกรรมไทยสมัยใหม่ ปี 2522 ได้ร่วมทุนกับ DeKalb Genetics กิจการเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่แห่งสหรัฐ เพื่อพัฒนาพันธุ์ข้าวโพด

จากนั้นเกษตรกรรมไทยสมัยใหม่ ไม่เพียงพึ่งพิงผลิตภัณฑ์ ยังก้าวสู่การอ้างอิงระบบฟาร์มสมัยใหม่

–Contact farming ปี 2513 ซีพีร่วมมือกับ Arbor Acres บริษัทเพาะเลี้ยงสัตว์ปีกชั้นนำของสหรัฐ สร้างธุรกิจเพาะเลี้ยงไก่แบบทันสมัย เป็นก้าวแรกของยุทธศาสตร์ครบวงจร (Vertical integration) ปัจจุบัน Contract farming ขยายตัวมากขึ้น เช่น โครงการปลูกมันฝรั่งในภาคเหนือ ป้อน Frito-Lay (กิจการในเครือข่าย PepsiCo แห่งสหรัฐ) —Plantation กรณี Dole แห่งสหรัฐ ผู้ผลิตผลไม้ประป๋องเข้ามาเมืองไทยในปี 2509 ถือเป็นต้นแบบ

ด้านอุตสาหกรรม กิจการพลังงานเป็นกรณีควรเพิ่งมอง ซึ่งเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลต่างชาติมานานโดยเฉพาะธุรกิจอเมริกัน ได้ผ่านช่วงเวลาสำคัญช่วงสงครามเวียดนาม อันเกิดจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ถือเป็นช่วงปรับยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศด้วยก่อตั้ง ปตท. ธุรกิจพลังงานสหรัฐในฐานะหุ้นส่วนใหญ่อุตสาหกรรมสำคัญ ปรับตัวและยังคงอิทธิพลไว้

เอสโซ่ (Esso) เข้ามาเมืองไทยรัชสมัย ร.5 และ “คาลเท็กซ์” (Caltex) เข้ามาหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่อมาทั้งสองมีกิจการโรงกลั่นและคงอิทธิพลในธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน ขณะเดียวกัน ในช่วงสงครามเวียดนาม Chevron (ขณะนั้นคือ Union Oil Company of California หรือ UNOCAL) เป็นบริษัทแรกที่ได้รับสัมปทานสำรวจปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย สามารถค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติปริมาณเชิงพาณิชย์แหล่งแรกของประเทศ (2516) ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตแหล่งก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุด เป็นฐานอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ในฐานะอุตสาหกรรมใหญ่และใหม่ของไทย ทั้งนี้ มีบริษัทอเมริกันอีกบางรายเข้ามาเกี่ยวข้อง

Dow Chemical เข้ามาเมืองไทยปี 2510 เป็นชิ้นส่วนหนึ่งการก้าวสู่ยุคพลาสติก ความทันสมัยในมิติสำคัญมิติหนึ่งของสังคมไทย อีกด้านหนึ่งเป็นปรากฏการณ์หลอมรวมกิจการสหรัฐด้วย Union Carbide เข้ามาเมืองไทยปี 2503 ได้เข้าหลอมรวมเข้ากับ Dow Chemical ในปี 2544 และ Rohm and Haas เข้ามาช่วงเศรษฐกิจขยายตัวอย่างมากในช่วงปี 2538 ต่อมาในปี 2549 ได้หลอมรวมกับ Dow Chemical เช่นกัน

ทั้งนี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ เช่น ยาและเวชภัณฑ์ ได้เข้ามาเมืองไทยอย่างคึกคัก (2509 Abbot Laboratories, 2510 Bristol-Myers Squibb)


ชีวิตสมัยใหม่ กับสังคมผู้บริโภค

ในช่วงสงครามเวียดนาม สังคมไทย ผู้บริโภคไทยผูกพันกับสินค้าอเมริกัน ทั้งในระดับครัวเรือน (2501 Colgate Palmolive, 2509 Kimberly-Clark, 2512 American standard, 2513 Johnson &Johnson, 2516 Gillette หมายเหตุ ตัวเลขปีแสดงการเข้ามาเริ่มธุรกิจในไทย) และวิถีชีวิตสมัยใหม่ ทั้งด้วยสินค้า (2499 Pepsi, 2500 Coca-Cola, 2511 Kodak, Avon, 2515 Levi Strauss) และเครือข่ายฟาสต์ฟู้ด

แม้มีสินค้าและบริการอย่างหลากหลาย ไม่เพียงแต่สินค้าอเมริกัน บางครั้งมองไม่เห็นภาพสำคัญว่า แกนกลางวิถีสมัยใหม่คงเคลื่อนไหวตามไลฟ์สไตล์แบบเมริกัน ตลอดช่วงจากสงครามเวียดนาม จนถึงปัจจุบัน สินค้าคอนซูเมอร์และเครือข่ายฟาสต์ฟู้ดอเมริกัน ยังเข้ามาอย่างต่อนื่อง

(เช่น 2528 McDonald”s, 2541 Starbucks Coffee, 2546 SUBWAY และ 2553 Krispy Kreme)

 

โนว์ฮาว มาตรฐาน กับระบบ

โดยเฉพาะกรณีความรู้ด้านบริหารธุรกิจแบบอเมริกัน ผ่านหลักสูตร Master Of Business Administration Program หรือ MBA เป็นภาพต่อเนื่องจากระบบพัฒนาบุคลากรในธุรกิจ สู่ระบบการศึกษาไทย ธนาคารกสิกรไทย (2509) เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี (2515) ให้ทุนการศึกษา MBA ณ มหาวิทยาลัยในสหรัฐ ไปจนถึงหลักสูตรได้เกิดขึ้นในสังคมไทย (2509 NIDA, 2525 มหาวิทยาธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

อีกด้านหนึ่งธุรกิจไทยเริ่มใช้โนว์ฮาวอมเริกัน ทั้งเพื่อสื่อสารกับผู้บริโภค การเข้ามาของเอเจนซี่โฆษณาอเมริกัน (2508-2517) อย่างเป็นขบวน ดังกรณี ในปี 2508 McCann Erickson (ปัจจุบันคือ McCann World group) ปี 2513 LINTAS (ปัจจุบันคือ Mullen Lowe Lintas Group สำนักงานใหญ่อยู่ที่อินเดีย) และปี 2517 Leo Burnett กับ Ogilvy & Mather (ปัจจุบันอยู่ในเครือข่าย WPP Group แห่งอังกฤษ) ไปจนถึงการปรับตัวเข้ากับมาตรฐานธุรกิจระดับโลก จากกรณี Baker & McKenzie ที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาเมืองไทยกว่า 30 ปีแล้ว จนถึงกิจการผู้สอบบัญชี อย่าง Deloitte (สำนักงานใหญ่ในสหรัฐ) มาในช่วงปี 2530

จากนั้นพัฒนาสู่อีกขั้น กรณีธนาคารกสิกรไทย กับแผนการ Re-engineering (ปี 2536-2537) เป็นจุดเริ่มต้นการปรับตัวธุรกิจไทยไปสู่มาตรฐานสากล ตามกระแสตะวันตกนำโดยแบบฉบับอเมริกัน (อ้างอิงหนังสือ Reengineering the Corporation : A Manifesto for Business Revolution เขียนโดย Michael Hammer) และว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาอเมริกัน Booz Allen & Hamilton เป็นที่ปรึกษาปรับกระบวนการทำงาน ซึ่งก้าวไปอีกขั้นจากการซื้อเทคโนโลยีธนาคารครั้งสำคัญตั้งแต่ก่อนปี 2530 (ซื้อระบบ ATM จาก IBM ซึ่งปักหลักเมืองไทยมาตั้งแต่ปี 2495)

รวมทั้งกรณีบริษัทที่ปรึกษาอเมริกันอีกบางราย Accenture และ McKinsey & Company มีบทบาทในแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจไทยช่วงหลังปี 2540 โดยเฉพาะระบบธนาคารไทยลงทุนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เพื่อการปรับโครงสร้างธุรกิจและจัดซื้อระบบเทคโนโลยีใหม่ จากนั้นก็ให้บริการลูกค้าสำคัญอื่นๆ เช่น เอสซีจี และซีพี

มาตรฐานอเมริกันมีหลายมิติ รวมทั้ง LEED (Leadership in Energy and Environmental Design โดย USGBC U.S. Green Building Council) เชื่อมโยงกับสำนักงานธุรกิจ ว่าด้วยบรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ระบบและมาตรฐานชีวิตทำงาน

โดยเฉพาะกรณีปี 2547 Energy complex หรือ EnCo ของ ปตท. บุกเบิกเข้าสู่มาตรฐานดังกล่าว ตามมาด้วยเอสซีจี (ปี 2555 อาคารสำนักงานใหญ่เดิมที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบันปรับปรุงใหม่ จนได้รับการรับรอง และต่อมา ปี 2557 อาคารสำนักงานใหม่ “เอสซีจี 100 ปี” ได้รับการรับรองเช่นกัน) และธนาคารกสิกรไทย (ปี 2556 อาคารศูนย์การเรียนรู้ อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา)


แพลตฟอร์ม

ภายใต้ระบบ เครือข่ายและแพลตฟอร์ม โดยอ้างอิงเครือข่ายธุรกิจอเมริกัน เชื่อว่าสังคมไทยกำลังเข้าสู่โลกยุคใหม่ผ่านสินค้าเทคโนโลยีและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต มีความเชี่อมโยงกับปัจเจกอย่างลึกซึ้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยกรณีสำคัญควรบันทึกไว้

–ปี 2554 ปีเดียวกัน Google ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการในโลกอินเตอร์เน็ต เปิดสำนักงานในประเทศไทย ในเวลาไกล้เคียงกัน Fox Entertainment Group ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐ เปิดเครือข่ายด้วยการนำภาพยนตร์ซีรี่ส์อเมริกันเข้ามาถึงครัวเรือนไทย

–ปี 2558 Apple South Asia (Thailand) ดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังในเมือองไทย ในปลายปีเดียวกัน Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิลพลมากที่สุดในโลก เปิดตัวในประเทศไทยให้ภาพพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งอย่างน่าทึ่ง

–ปี 2559 Netflix เครือข่ายธุรกิจบริการผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet video streaming เปิดบริการในสังคมไทย อเมริกันกับสังคมไทย

ธุรกิจอเมริกันกับสังคมไทย มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งมากกว่าที่คิด