วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์/ ดิเดียน : นักเขียน/เรื่องจริง (จบ)

วิช่วลคัลเจอร์/ประชา สุวีรานนท์

ดิเดียน : นักเขียน/เรื่องจริง (จบ)

 

หนังสารคดีพูดถึงความสัมพันธ์กับจอห์น เกรเกอรี่ ดันน์ สามี (ผู้เป็นนักเขียนชื่อดังและบรรณาธิการส่วนตัวของเธอ) และควินทานา ลูกสาว ซึ่งทำให้ต้องถามว่าดิเดียนจัดความสัมพันธ์เหล่านี้อย่างไร ช่วงนี้จะจบลงด้วยการตายอย่างกะทันหันของคนทั้งสอง ที่สำคัญ เธอเอามาเขียนถึงใน The Year of Magical Thinking และกลายเป็นหนังสือเบสท์เซลเลอร์อีกเล่ม

ดิเดียนพูดถึงตัวเองในแง่คนธรรมดาที่อยู่ในภาวะอ่อนแอที่สุด เช่น ทั้งๆ ที่เชื่อว่าคนตายจะกลับมาได้ เธอจึงเก็บเสื้อผ้าและรองเท้าของเขาเอาไว้ แต่ก็ยอมให้โรงพยาบาลผ่าศพและให้มีพิธีการฝังศพ

และในขณะที่บรรยายถึงความรู้สึกเบื้องลึกของตนเอง ก็ได้ยินเสียงจากคนอื่นๆ ในสังคมที่มองความสูญเสียในแง่ที่ต่างออกไป รวมทั้งมีการอ้างอิงหนังสือกวี นิยายและวิชาการหลายสิบเล่ม

เธอเคยเขียนว่า “We tell ourselves stories in order to live” หรือเล่าเรื่องเพื่อทำความเข้าใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้น และในหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้สิ่งที่เคยเขียนปรากฏเป็นจริงอีกครั้ง นั่นคือ เขียนเพื่อจะได้รู้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไร รวมทั้งให้ความสงบทางจิตใจแก่ผู้เขียน

คำว่า Magical Thinking ในชื่อหนังสือไม่ได้แปลว่าวิเศษหรือดีแต่เป็นศัพท์ทางจิตวิทยาและมานุษยวิทยา ซึ่งใช้อธิบายความเชื่อบางอย่าง ในแง่ที่เป็นสิ่งวิเศษหรือศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้ต่อสู้กับชะตากรรมต่อไปได้

ตัวอย่างเช่น การตอบคำถามที่ว่า ตายแล้วไปไหน? ด้วยการบอกว่า “ไปสวรรค์” นักจิตวิทยาชื่อ ชอง เพียเจต์ ใช้คำนี้อธิบายพฤติกรรมของเด็กอายุ 2-7 ขวบ หรือ preoperational stage โดยบอกว่า ในขั้นนี้เด็กจะมีความคิดอย่าง Magical Thinking

ดิเดียนเล่าเรื่องด้วยสองเสียง จากภายในและภายนอก เสียงภายในมีความเป็นส่วนตัว เช่น ภาวนาให้ผู้ตายกลับมา ไม่กล้าทิ้งรองเท้าและไม่กล้าลบอีเมลของเขา มันเป็นเสียงที่ไม่ยอมรับความจริง เช่น งานศพย่อมดี หรือไม่ควรอ่านคำไว้อาลัย เธอนึกถึงข่าวที่เธอเคยอ่านเกี่ยวกับแม่ของเด็กอายุสิบเก้า ซึ่งถูกฆ่าโดยการวางระเบิดในเคิร์คคัด ซึ่งคิดว่า ถ้าไม่ให้บุรุษพยาบาลเข้ามาในบ้าน เธอก็จะไม่ได้รับรู้เรื่องนี้จากปากคำของเขา

เสียงภายนอกมีความเป็นสังคม เช่น เมื่อได้ยินเรื่องความตาย บ้างก็ตอบด้วยการเล่าเรื่องผู้ป่วยที่รอดชีวิต บ้างก็เกี่ยวกับสมุนไพรที่รักษาโรคนั้นได้ บ้างก็บอกว่าคนป่วยนั้น “รับมือได้ดี” หรือ “แข็งแรง” ซึ่งถ้าพูดตรงๆ ก็คือเลิกรบกวนเขาเสียที เธอเล่าฉากที่ได้ยินบุรษพยาบาลบรรยายถึงตัวเธอในขณะพบว่าสามีกลายเป็นศพ ว่าเป็น “คนที่คูลมาก” ซึ่งทำให้เธอนึกในใจ “ถ้าไม่คูล ฉันจะทำอะไรได้บ้าง เป็นบ้า? กินยาระงับประสาท? หวีดร้อง?” ที่มากกว่านั้นคือท่าทางคนในโรงพยาบาล ทั้งในนิวยอร์กและลอสแองเจลิส ซึ่งเหมือนการคุกคามมากกว่าช่วยเหลือ

และเมื่อลูกสาวมีสภาพโคม่า เธอก็นึกว่าตนเองในฐานะที่มีเบอร์โทรศัพท์ หรือ “ทักษะการจัดการ” และสามารถโทร.หาหมอหรือนักการเมืองได้ถูกคน แต่เมื่อเผชิญความตายและความพลัดพรากจริงๆ สิ่งเหล่านั้นก็ล้มเหลว

 

ภาษาของดิเดียนมีความคมคายหรือไม่บรรยายทั้งหมด เธออาจจะจบประโยคเพียงสั้นๆ และทิ้งเรื่องราวที่เหลือไว้ให้ผู้อ่านตีความเอาเอง (มาร์ติน อามิส เขียนถึงเธอว่าใช้คำว่า “และ” มากไป)

ในฐานะนักเขียนเรื่องจริง เธอไม่ได้แสดงความเข้าใจอุดมการณ์ของบุปผาชนมากนักและเลี่ยงไปเขียนถึงสิ่งที่ตัวเองสัมผัส เช่น กลิ่นของดอกไม้ที่นั่น หรือเมื่ออยู่ที่หาดมาลิบู เธอจัดงานที่จิม มอริสัน มาด้วย แต่เธอเขียนถึงสิ่งที่เพื่อนร่วมวงของเขาพูด โดยที่ไม่ได้สัมภาษณ์นักร้องดังเลย แต่ด้วยสไตล์การเขียนซึ่งสั้น มีรายละเอียดและตรงต่อความเป็นจริง สิ่งเหล่านั้นจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยไปในที่สุด

และในฐานะนักเขียนหญิง เธอกลายเป็นต้นแบบของผู้มากด้วยสไตล์ ซึ่งต้องเข้าใจว่านักเขียนหญิงในยุคก่อนนั้น ไม่มีสูตรที่นักเขียนชายใช้กันบ่อยๆ เช่น ทะเล เหล้า กระทิง หรือเมีย และทำให้ผู้หญิงจำนวนมากถือเป็นแรงบันดาลใจ

 

ผลงานหลายเล่มทำให้ผู้อ่านเรียนรู้ความเป็นไปของสหรัฐอเมริกาในช่วงหกศูนย์และเจ็ดศูนย์เป็นอย่างดี Slouching Towards Bethlehem (จาก The Second Coming ของ ดับบลิว. บี. ยีตส์ และเป็นที่มาของชื่อหนังสารคดี) และ The White Album (จากอัลบั้มของเดอะบีตเทิลส์) เป็นที่อ้างอิง ถ้าพูดถึงฮิปปี้ ยาเสพติด การปฏิวัติของนักศึกษา ฮอลลีวู้ด และจอร์เจีย โอเคียฟ นิยายเรื่อง Play It as It Lays ซึ่งเกี่ยวกับตัวเอกหญิงในฮอลลีวู้ด ซึ่งสวมแว่นตาดำ ขับคอร์แวตต์สีเหลืองและกำลังมีไมเกรน

บางคนอาจจะบอกว่าดิเดียนเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม (ครอบครัวเธอเป็นฝ่ายรีพับลิกันและโหวตให้แบรี่ โกลด์วอเตอร์ ในช่วงต้นหกศูนย์) และมองเฟมินิสต์อย่างเคลือบแคลงใจ บทความชื่อ The Women’s Movement ที่ออกมาในช่วง พ.ศ.2515 บอกว่า ขบวนการเฟมินิสต์คือการทำให้ผู้หญิงเป็นชนชั้นหนึ่งและล้อเลียนว่าเฟมินิสต์จะกลายเป็นอาชีพหนึ่ง

บางคนบอกว่า เธอเป็นแบรนด์มากกว่านักเขียน ในช่วงหกศูนย์ ภาพถ่ายของเธอในชุดผ้าไหมยาวสีขาวกับรถคอร์แวตต์แพร่หลายมาก ต้นปี พ.ศ.2015 เธอเป็น brand ambassador ของ C?line และโฆษณาด้วยภาพของเธอในวัยชรา ซึ่งไว้ผมสั้นสีขาว สวมแว่นตาดำและแสดงความรู้สึกด้วยการเม้มปาก

ผู้กำกับฯ กริฟฟิน ดันน์ คิดว่านี่เป็นโอกาสจะเผยอีกด้านหนึ่งของโจน ดิเดียน เขาบอกว่า “เธอมักจะถูกวาดภาพเป็นคนที่คูลและลึกลับ แต่จริงๆ แล้วเธอเป็นคนตลก หัวเราะบ่อยและทุ่มเท” ดิเดียนพูดสั้นแต่น่าฟัง หรือใช้ภาษาได้อย่างที่เขียน

หนังสารคดีเรื่อง Joan Didion : The Center Will Not Hold จึงคมคายเหมือนงานเขียนของเธอ