นกหัสดีลิงค์ กับ ประเพณี “ลากปราสาท” หรือ “เผาศพครูบา” ของชาวล้านนา

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “นกหัสดีลิงค์”

แต่ละปี ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม ล้านนาจะมีประเพณีสำคัญอย่างหนึ่งคือประเพณี “ลากปราสาท” หรือ “เผาศพครูบา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ สาธุชนทั่วทุกสารทิศจะเดินทางมาร่วมงานกันอย่างล้นหลาม

ตามจารีตดั้งเดิม เมื่อพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระภิกษุอาวุโส ตลอดจนพระภิกษุสำคัญ มรณภาพลง ทางวัดจะเก็บศพของท่านไว้ก่อนอย่างน้อยประมาณ 1 ปี เพื่อเตรียมการจัดงานศพ

เมื่อใกล้กำหนดการประชุมเพลิง จะมีการสร้างบุษบกบรรจุศพก่อนขึ้นสู่ปราสาทอันวิจิตรอลังการเพื่อบรรจุศพก่อนเผา พร้อมนี้จะสร้างรูปนกขนาดใหญ่เป็นฐานรองรับปราสาทอีกทีหนึ่ง นกใหญ่ดังกล่าวเรียกกันโดยทั่วไปว่า “นกหัสดิ์”

ซึ่งย่อมาจาก “นกหัสดีลิงค์”

กล่าวถึง นกหัสดีลิงค์ เดิมทีโบราณให้เป็นสัตว์หิมพานต์ขนาดใหญ่ ชอบบินโฉบลงมาจับสัตว์บ้าง มนุษย์บ้าง และบางครั้งก็โฉบฉวยซากศพโบยบินขึ้นสู่โพยมบน

ในเชิงศิลปะมีรูปร่างลักษณะหลายแบบแตกต่างกันไป

ด้วยลักษณาแห่งการคาบศพสู่เบื้องบนดังกล่าว ชาวล้านนากำหนดให้เป็นนกยักษ์เพื่อเป็นพาหนะต่างปราสาทศพ ตั้งความมุ่งหวังให้นำพาวิญญาณยกระดับสู่สรวงสวรรค์ โดยจินตนาการให้มีลักษณะพิเศษคือมีหัวเป็นช้าง มีหางเป็นหงส์ พร้อมให้มีกำลังมหาศาลเทียบเท่าช้างสารถึง 5 เชือก

เรื่องของบุษบกและปราสาทอันอลังการ มีฐานเป็นนกหัสดีลิงค์ เป็นสิ่งสอดคล้องรองรับสถานะของผู้วายชนม์ ตลอดจนเป็นการส่งวิญญาณให้ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ชั้นเทวโลกในเชิงจินตนาการให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แก่สายตามหาชน

ในภาพเชิงสัญลักษณ์ ทั้งบุษบก ปราสาท และนกหัสดีลิงค์นั้น

บุษบกหมายถึงเรือนยอดขนาดเล็กที่ลอยเลื่อนเคลื่อนย้ายได้ ถือเป็นยานพาหนะของเทวดาอย่างหนึ่ง จึงมีการอัญเชิญศพลงสู่บุษบกก่อนเคลื่อนไปสู่ปราสาท

ปราสาทหมายถึงวิมาน คือสิ่งที่อยู่หรือประทับของเทวดาเช่นกัน เมื่อพักศพบนบุษบกระยะหนึ่งแล้วจะเคลื่อนศพไปนอนบนปราสาท ซึ่งปราสาทดังกล่าว เมื่อลากไปสู่ที่ตั้งหรือสถานที่ที่ถูกกำหนดให้เป็นบริเวณประชุมเพลิง จะมีการล้อมรั้วราชวัตร โดยสมมุติให้ปราสาทเป็นเมรุ ซึ่งหมายถึง “พระสุเมรุ” อันเป็นชื่อภูเขากลางจักรวาลมียอดเป็นที่ตั้งแห่งเมืองสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

นกขนาดใหญ่ที่กำหนดให้มีหัวเป็นช้าง เพราะต้องการให้มีพละกำลังมหาศาลเทียบเทียมช้างจะได้เดินทางไปสู่สวรรค์แดนไกล

ที่มีหางเป็นหงส์ เพราะหงส์เป็นสัตว์ปีกชั้นสูง สามารถเข้าสู่สรวงสวรรค์ได้ ทั้งหมดรวมเป็นปักษาชาติ สามารถบินขึ้นสูงอันมีเป้าหมายสู่สวรรคาลัย

การนำเอานกหัสดีลิงค์มาประกอบปราสาทศพ ในสมัยโบราณพบว่าใช้กับเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ด้วย ดังเช่น หลักฐานที่ปรากฏในพงศาวดารโยนก ของพระยาประชากิจกรจักรว่า “ลุศักราช 940 (พ.ศ.2121) ปีขาล สัมฤทธิศก เดือนอ้าย ขึ้น 12 ค่ำ นางพระยาวิสุทธิราชเทวี ผู้ครองนครพิงค์เชียงใหม่ถึงพิราลัย พระยาแสนหลวงแต่งการศพเป็นพิมานบุษบก ตั้งบนหลังนกหัสดินทร์ (นกหัสดีลิงค์) ขนาดใหญ่ รองด้วยเลื่อนแม่สะดึง เชิญหีบพระศพขึ้นไว้ในบุษบกนั้น แล้วฉุดชักไปด้วยแรงคชสาร เจาะกำแพงเมืองออกไปถึงทุ่งวัดโลก ก็กระทำฌาปนกิจถวายเพลิง ณ ที่นั้น เผาพร้อมทั้งรูปสัตว์วิมานที่ทรงศพนั้นด้วย จึงเป็นธรรมเนียมลาวในการปลงศพ เจ้าผู้ครองนคร ทำเช่นนี้สืบกันมา”

นอกจากนี้ ในตำนานพื้นเมืองเชียงแสน ซึ่งอยู่ในตำนานสิงหนวติ ประชุมพงศาวดารภาคที่ 61 ได้กล่าวถึงการส่งสักการศพของพระสงฆ์เถระผู้ใหญ่ และเจ้านาย เช่น

“ศักราชได้ 1045 ตัว (พ.ศ.2226) ราชครูเจ้าหลวงอนิจกรรมไปแล้ว ใส่ปราสาทต่างลูกนกหัสดีลิงค์ ส่งสักการด้วยเรือพ่วงน้ำแม่ของ”

“ศักราชได้ 1090 ตัว (พ.ศ.2271) ปีเปิกสัน เจ้าฟ้ายอดคำเมือง กินเมืองได้ 4 ปี อายุ 25 ก็จุติไปแล้วสร้างปราสาทใส่ รูปนกหัสดีลิงค์ แล้วส่งสักการเสีย”

กล่าวถึงรูปลักษณะของตัวนกหัสดีลิงค์ ส่วนอื่นมีรูปร่างเป็นนกใหญ่ เฉพาะหัวออกแบบให้เคลื่อนไหวเหลียวซ้าย เหลียวขวาได้ ใบหูกระพือพับ ดวงตากลมมน ขนตางอนสวยปริบๆ กะพริบได้ ส่วนงวงนั้นแกว่งกวัดไกว เคลื่อนไหวดังมีชีวิตจริง

การลากต้องใช้เชือกเส้นโตหลายเส้นขนานกันไป ศพใดมีบารมีกว้างไกล จะมีผู้คนหลั่งไหลไปร่วมชักลากกันมืดฟ้ามัวดิน ซึ่งทั้งสิ้นต่างมุ่งหวังอานิสงส์แห่งการได้มีส่วนร่วมฌาปนกิจพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณและบารมีธรรมกันทั้งนั้น

อย่างไรก็ตาม กล่าวโดยสรุปแล้ว ทั้งบุษบก ปราสาทและนกหัสดีลิงค์ เป็นสิ่งประกอบเชิงสัญลักษณ์ของการจัดการศพผ่านการเผาในที่สุด ซึ่งจะมีเฉพาะบุคคลชั้นสูงของ “วัง” กับ “วัด” เท่านั้น กิจกรรมทั้งหมดเป็นเรื่องของมวลชน ซึ่งต่างประสงค์ผลเพื่อส่งวิญญาณผู้ม้วยมรณ์สู่เมืองแมนแดนสวรรค์นั่นเอง