สุจิตต์ วงษ์เทศ /คนกับหมา มีขวัญ รูปเป็นวงมีแฉก

สุจิตต์ วงษ์เทศ

คนกับหมา มีขวัญ

รูปเป็นวงมีแฉก

 

ขวัญ คือส่วนที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น แต่เคลื่อนไหวได้ ลักษณะเป็นหน่วย มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของคน, สัตว์, สิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้, อาคารสถานที่

ขวัญของคน คือส่วนที่ไม่เป็นตัวตนของคน มีหลายหน่วย แต่ละหน่วยสิงสู่อยู่กระจายตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมีความสําคัญมากเท่ากับส่วนที่เป็นร่างกาย

 

จอมขวัญ อยู่บนหัว

 

ขวัญสําคัญของทุกคนเรียกจอมขวัญ ล้วนสิงในกะโหลกบนหัวตรงกระหม่อมกลางกบาล บริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงเหมือนก้นหอย จึงเชื่อว่าเป็นศูนย์รวมความมีชีวิตของคน ต้องดูแลรักษาไม่ให้ถูกกระทํารุนแรง เพราะถ้ากระทบกระเทือนจนขวัญเสียขวัญหาย ย่อมเป็นอันตรายถึงชีวิต เจ้าของขวัญล้มตายได้

ดังนั้น คนทั้งหลายจึง “ถือหัว” หมายถึง ยกย่องหวงแหนหัว เสมือนอวัยวะศักดิ์สิทธิ์สูงสุด เป็นตัวแทนของความมีชีวิต จึงไม่ให้คนอื่นล่วงล้ำหัว เช่น เล่นหัว, ลูบหัว, ตบหัว, เขกหัว, ข้ามหัว ฯลฯ

 

รูปขวัญ

 

ขวัญมีรูปเป็นวงและมีแฉก จำลองจากจอมขวัญบริเวณโคนเส้นผมขึ้นชนกันเป็นวงตรงกระหม่อมกลางกบาลของทุกคน พบบนหน้ากลองทอง (มโหระทึก) และพบภาพเขียนบนภาชนะดินเผากับผนังภูผา และอื่นๆ ทั้งหมดมีอายุราว 2,500 ปีมาแล้ว

เลยเชื่อกันว่าถ้าทําสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้มีลักษณะเป็นวงหรือขดเหมือนก้นหอย เท่ากับมีขวัญสิงสู่อยู่ตรงนั้น หมายถึง เฮี้ยน ย่อมบังเกิดสิ่งดีที่คอยคุ้มครองพ้นจากสิ่งไม่ดี

เครื่องมือเครื่องใช้เลยต้องมีขวัญสิงอยู่ในนั้น โดยทําลวดลายคล้ายวงก้นหอยจําลองขวัญในรูปลักษณ์ต่างๆ

กลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ทําปุ่มนูนแทนรูปจอมขวัญบนหัวคน ซึ่งมีหลายแฉก หมายถึง เส้นผมบนกลางกระหม่อมที่ขดเป็นวงเหมือนก้นหอย ใช้ตีประโคมเสียงดังกังวานไปไกล เพื่อเรียกขวัญให้กลับคืนร่าง (ปุ่มนูนบนหน้ากลองทองไม่ใช่ตําแหน่งใช้ไม้ตี ตามที่เข้าใจทั่วไป) บางทีใช้เก็บกระดูกคนตายด้วย

ลายหม้อบ้านเชียง เป็นลายขวัญคล้ายวงก้นหอยหรือลายนิ้วมือ มีหลายแบบ รูปร่างต่างๆ กัน แต่ต้องการสื่อว่าเป็นขวัญของผีขวัญที่นอนราบฝังอยู่นั้น

เฉลว จําลองขวัญลายก้นหอยบนกลางกระหม่อม น่าเชื่อว่าเฉลวยุคแรกสุดใช้ฝังกับศพเพื่อเรียกขวัญ แต่เน่าเปื่อยย่อยสลายหมดไปเพราะทําจากตอกไผ่บางๆ

ขดทองสําริดเป็นรูปขวัญ วางติดกะโหลกคน ราว 2,000 ปีมาแล้ว บ้านหนองนาดูม ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา (จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย)

หม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นลายขวัญ คล้ายวงก้นหอย หรือลายนิ้วมือ มีหลายแบบต่างๆ กัน ต้องการสื่อว่าเป็นขวัญของผีขวัญที่นอนราบฝังดินอยู่นั้น
ปุ่มนูนมีหลายแฉกเป็นรูปจอมขวัญบนกลางกระหม่อมของคน อยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ใช้ตีประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

 

คนตาย ขวัญไม่ตาย แต่ขวัญหาย

 

คนพื้นเมืองอุษาคเนย์นับถือศาสนาผี และทุกชาติพันธุ์มีความเชื่อคล้ายคลึงกันเกี่ยวกับขวัญตั้งแต่หลายพันปีมาแล้ว สืบจนทุกวันนี้

เชื่อว่าคนตายเพราะขวัญหายจากร่างของคน แล้วหาทางกลับร่างไม่ถูก ถ้าเรียกขวัญคืนร่างได้คนก็ฟื้นคืนเป็นปกติ จึงมีพิธีเรียกขวัญต่อเนื่องหลายวันหลายคืน ขอให้ขวัญกลับเข้าร่าง (แต่ไม่สําเร็จ)

ขวัญ เป็นวงและมีแฉก กระจายอยู่กับผีขวัญหมานำทางผีขวัญคนสู่โลกหลังความตายบนฟ้า พบภาพเขียนบนผาลาย มณฑลกวางสี ในจีน [ลายเส้นคัดลอกภาพเขียนสีที่ผาลาย จากหนังสืองานวิจัยของนักวิชาการของสถาบันในมณฑลกวางสี The Investigation and Study of the Rock Art of the Zuojiang River Valley in Guangxi. By Qin Shengmin, Qin Cailuan, Lu Minfei, Yu Ruyu]

 

ผีขวัญ คนกับหมา

 

ผีขวัญหมานำทางผีขวัญคนสู่โลกหลังความตาย พบภาพเขียนขนาดมหึมาบนผาลาย มณฑลกวางสี (ทางตะวันออกเฉียงใต้) ของจีน ซึ่งอยู่ต่อเนื่องภาคเหนือของเวียดนาม

หมามีทั้งรูปขนาดใหญ่และน้อย พบหลายรูปในตำแหน่งต่างๆ บางแห่งอยู่ตำแหน่งประธาน บางแห่งอยู่ตำแหน่งเหินฟ้า แล้วมีรูปขวัญกระจายทั่วไปอยู่ตามตำแหน่งต่างๆ ระหว่างคนกับหมา

 

หมาเก้าหาง

 

ผีขวัญหมานำทางผีขวัญของคนขึ้นฟ้า เมื่อเสร็จภาระหน้าที่ก็เก็บพันธุ์ข้าวบนฟ้าลงไปในชุมชนให้คนที่มีชีวิตปลูกกิน

ตามคำบอกเล่าเรื่องหมาเก้าหาง

 

 

หมานำทาง

 

หมา เป็นสัตว์นำทางของคนออกล่าเหยื่อเป็นอาหารในชีวิตประจำวันยุคดึกดำบรรพ์หลายหมื่นหลายพันปีมาแล้ว

เมื่อคนชั้นนำของเผ่าพันธุ์ตายลงเป็นผี แต่ขวัญไม่ตาย เรียกผีขวัญคน ต้องมีพิธีทำหมาให้ตายเป็นผี แต่ขวัญหมาไม่ตาย เรียกผีขวัญหมา แล้วฝังรวมในหลุมฝังศพคนชั้นนำ ตามความเชื่อทางศาสนาผีว่าหมารู้ทางสู่โลกหลังความตาย

โดยผีขวัญของหมาจะพาผีขวัญของคนเดินทางไกลไปทางบก-ทางน้ำ แล้วขึ้นฟ้าสิงสู่อยู่รวมกับผีขวัญบรรพชนที่ตายไปก่อนๆ (ไต-ไท เรียก แถน, ผีฟ้า) เพื่อรวมเป็นพลังปกป้องคุ้มครองคนที่ยังมีชีวิตอยู่ในชุมชน

โครงกระดูกหมาฝังรวมกับโครงกระดูกคน นักโบราณคดีขุดพบหลายแห่งในแหล่งโบราณคดีสำคัญ อายุราว 2,500 ปีมาแล้ว ได้แก่ บ้านเชียง (อุดรธานี), บ้านโนนวัด (นครราชสีมา), เมืองศรีเทพ (เพชรบูรณ์) ฯลฯ [เป็นพยานคำอธิบายว่าหมาคุ้นเคยกับผี หมาจึงหอนตอนกลางคืนเมื่อเห็นผี เป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป]

 

ใต้ภาพ

(ซ้าย) ขดทองสําริดเป็นรูปขวัญ วางติดกะโหลกคน ราว 2,000 ปีมาแล้ว บ้านหนองนาดูม ต.พลสงคราม อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา (จัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย)

(ขวาบน) หม้อบ้านเชียง ราว 2,500 ปีมาแล้ว เป็นลายขวัญ คล้ายวงก้นหอย หรือลายนิ้วมือ มีหลายแบบต่างๆ กัน ต้องการสื่อว่าเป็นขวัญของผีขวัญที่นอนราบฝังดินอยู่นั้น

(ขวาล่าง) ปุ่มนูนมีหลายแฉกเป็นรูปจอมขวัญบนกลางกระหม่อมของคน อยู่กึ่งกลางหน้ากลองทอง (มโหระทึก) ใช้ตีประโคมเรียกขวัญในงานศพ ราว 2,500 ปีมาแล้ว

 

ขวัญ เป็นวงและมีแฉก กระจายอยู่กับผีขวัญหมานำทางผีขวัญคนสู่โลกหลังความตายบนฟ้า พบภาพเขียนบนผาลาย มณฑลกวางสี ในจีน

[ลายเส้นคัดลอกภาพเขียนสีที่ผาลาย จากหนังสืองานวิจัยของนักวิชาการของสถาบันในมณฑลกวางสี The Investigation and Study of the Rock Art of the Zuojiang River Valley in Guangxi. By Qin Shengmin, Qin Cailuan, Lu Minfei, Yu Ruyu]