หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ/ ‘แก่น’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
หมาไน - ฤดูแล้ง แหล่งน้ำเหลือไม่มาก สัตว์กินพืชจะไปชุมนุมตามแหล่งน้ำที่เหลืออยู่ และสัตว์ผู้ล่าอย่างหมาไนก็ตามมา

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘แก่น’

 

ต้นเดือนพฤษภาคม

ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก

…เริ่มจากราวบ่าย 2 โมง ท้องฟ้าจะมืดครึ้ม สายลมพัดแรง ต่อจากนั้น สายฝนก็โปรย

ฝนช่วยให้ความร้อนอบอ้าวทุเลาลง

“ปีนี้แล้งและร้อนมากนะครับ”

สนั่น องค์การ ชายวัยกลางคนที่กำลังตัดแต่งกิ่งต้นไม้ พูดเบาๆ ตอนผมเดินเข้ามาใกล้ๆ

เสื้อลายพรางสีซีดๆ พับแขน เขาหันด้านข้างให้ผม แผลเป็นขนาดใหญ่บริเวณคอด้านซ้าย มองเห็นชัด

นี่คือร่องรอยจากการปะทะกับผู้ต้องหาเมื่อ 5 ปีก่อน

เพื่อนในทีมเขาเสียชีวิตสองคน อีกสองคนรวมทั้งเขาบาดเจ็บสาหัส

ลูกปืนเจาะเข้าแถวๆ คอ ต้องรักษาตัวอยู่หลายเดือน เขากลับมาทำงานเล็กๆ น้อยๆ เวลาจะหันมองอะไร ต้องหันไปทั้งตัวเพราะเอี้ยวคอไม่ได้

“วันนี้ไม่ออกป่าหรือครับ” ลุงหนั่นทักทาย

ผมส่ายหน้า กำหนดส่งต้นฉบับมาถึง 2-3 วันนี้ ผมทำงานอยู่ที่บ้านพักใกล้สำนักงานเขต

“เสียดายว่าเดินป่าไม่ไหว มีโป่งหลายแห่งอยากพาไป”

ลุงหนั่นอยู่ที่นี่มานาน คุ้นเคยกับพื้นที่ดี และเป็นคนไทยในจำนวนไม่กี่คนในหมู่เจ้าหน้าที่ของป่าทุ่งใหญ่ ที่เกือบทั้งหมดเป็นชายไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง

“ร้อนจริงๆ ปีนี้” ลุงหนั่นย้ำ

อุณหภูมิช่วงบ่ายราว 25 องศาเชลเซียส คือความร้อน “อย่างมาก” ที่คนในป่าทุ่งใหญ่พบ

“อย่าไปพูดแบบนี้ในเมืองนะครับ ที่นั่นน่ะ 40 องศากันแล้ว” ผมพูดขำๆ กับเขา

ดูเหมือนเราจะพบกับคลื่นความร้อนที่รุนแรง รวมทั้งฝนทิ้งช่วงไปนาน

ลำห้วยสายเล็กๆ ที่เคยมีน้ำตลอดปี ลดลงมากและขุ่นคลั่กเพราะคุณป้า ผู้นำฝูงช้าง พาสมาชิกมาใช้ทุกคืน

หัวหน้าให้คนนำรถไปเอาน้ำในห้วยใกล้หมู่บ้านมาใส่แท็งก์เพื่อใช้

“น้ำในห้วยนั่นเก็บไว้ให้สัตว์ใช้ดีกว่าครับ” หัวหน้าบอก

 

เช่นเดียวกับหนองน้ำขนาดใหญ่ ที่อยู่ห่างจากสำนักงานเขตราว 6 กิโลเมตร เดิมเป็นหนองน้ำเล็กๆ ปีที่แล้วเขตได้งบประมาณค่าน้ำมันสำหรับรถแทร็กเตอร์มา พวกเขาจึงปรับปรุงหนองน้ำเล็กๆ ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

ตลอดช่วงแล้ง ช้างนำสัตว์อื่นๆ มาใช้บริการอย่างสำราญ

ใกล้หนองน้ำ หัวหน้าให้นำเกลือไปใส่เป็นโป่งเทียม

ป่าทุ่งใหญ่ด้านตะวันออก เดิมเป็นพื้นที่ซึ่งมีคนอาศัยอยู่ คนหักร้างถางพง ปลูกข้าว, พริก และขิง สภาพทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ คือไร่เดิม

และทุ่งหญ้าเหล่านี้ คือแหล่งอาหาร

เมื่อได้เวลา พวกเขาจะ “ชิงเผา” เป็นแปลงๆ

เพราะสัตว์ป่าไม่ได้ต้องการแค่ต้นไม้ พวกมันต้องการทุ่งหญ้าไว้กินด้วย

ทุ่งหญ้าเขียวชอุ่มหลังไฟผ่านพ้น ระบัดเขียวๆ คือเมนูชั้นดี

ภาพที่คุ้นตาของคนในป่านี้คือช้างและกระทิงนับร้อยตัว เพลิดเพลินกับการเลาะเล็มหญ้า

ป่า แหล่งที่อยู่ แหล่งอาหารของสัตว์ป่า ถูกทำลายโดยคน

“คน” อีกนั่นแหละ ที่จะช่วยจัดการให้แหล่งที่อยู่ที่กินของพวกมันกลับคืนมา

 

ผมเดินต่อไปถึงหลังอาคารสำนักงาน ซึ่งเป็นบริเวณที่กินข้าวและครัว

ที่นี่ถูกเรียกว่า “ครัวหัวหน้า”

โดยปกติ เจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานในสำนักงานเขตส่วนใหญ่หุงหากินกันเอง บ้านใครบ้านมัน

แต่เมื่อหัวหน้ากลับเข้ามาที่นี่ จะคึกคักเพราะหัวหน้าจะซื้อเสบียงมาเยอะ โดยเฉพาะปลา

หลังรถมีตู้น้ำแข็งสีส้มขนาดใหญ่

“วันนี้รถขายปลาเข้ามาแล้ว ไม่ต้องออกไปซื้อเสบียงที่อุ้มผาง” ลูกน้องพูดอย่างชอบใจ

เราจะกินข้าวที่นี่ครบ 3 มื้อเมื่อหัวหน้าอยู่

ไม่ว่าใครจะอยู่ที่ไหน จะถูกวิทยุเรียกตัวมากินข้าว

 

“กินข้าวครับ”  ผู้ชายวัย 40 ต้นๆ ผู้กำลังกินข้าวอยู่เงยหน้าขึ้นชวน

เขาคือ หนิง หรือพิริยะ ผู้ยังมีกระสุนปืนฝังอยู่ที่โคนขา เขาอยู่ร่วมชุดเดียวกับลุงหนั่น

หนิงลุกขึ้นเดินเขยกๆ ทุกวันนี้เขาทำหน้าที่เป็นพนักงานวิทยุ

ในครัวมีข้าวและกับตลอดเวลา

“พวกข้างในออกมาลำบาก เหนื่อยๆ หิวๆ ก็มาหาข้าวกินก่อนกลับบ้าน หรือก่อนเข้าหน่วยครับ” อ้วน ในฐานะพ่อครัวใหญ่ ต้องเตรียมอาหารไว้ให้พร้อม ตามนโยบายหัวหน้า

อ้วน ชายหนุ่มอารมณ์ดี มาจากจังหวัดแพร่

เขาอยู่ในชุดเดียวกับสนั่นและพิริยะ

“อานทอง เขาอยู่ข้างๆ ผมครับ โดนลูกปืนเข้ากลางอก ไปทันทีเลย” อ้วนเล่า อานทอง ชายหนุ่มวัย 20 ต้นๆ จากเมียสาวและลูกที่ยังอยู่ในท้องไป

จากไปเพราะงาน ปกป้องชีวิตสัตว์ป่าที่เขารัก

คืนนั้น อ้วนถือลูกซอง 5 นัด เขายิงสวนไปจนกระสุนหมด

“ผู้ต้องหาตายหนึ่งคนครับ”

ชายผู้นั้นถือปืนอาร์ก้าไว้ในมือ ปืนที่ลูกกระสุนพุ่งมาหาอานทอง

ผมมองอ้วนที่กำลังล้างกระทะ เขาร้องเพลงเบาๆ สลับกับเล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้

ผมมองเขา และนึกถึงภาพที่เขากำลังเดินถือปืนลาดตระเวนอย่างเอาจริง

 

ฝนปรอยๆ ผมเดินกลับบ้านพัก ลุงหนั่นยังง่วนกับการแต่งกิ่งต้นไม้ แผลเป็นเด่นชัด

เสียงพิริยะดังแว่วๆ จากวิทยุสื่อสาร

นานแล้วที่ผมใช้ชีวิตแบบนี้อยู่ในป่า ถ่ายทอดเรื่องราวในนั้นออกมา

ว่าตามจริง เรื่องราวที่ผมถ่ายทอดออกมานั้น ชีวิตต่างๆ ที่ผมนำมากล่าวถึง โดยเฉพาะเหล่าสัตว์ป่า ไม่ได้เห็นหรืออ่านเรื่องราวของตัวเองหรอก

ไม่ได้เห็น ไม่ได้อ่าน คงไม่จำเป็นสักเท่าไหร่

เพราะชีวิตต่างๆ ที่ผมกล่าวถึงนั้น

เป็น “แก่น” อันแท้จริงของเรื่องราวอยู่แล้ว…