เพ็ญสุภา สุขคตะ : ถอดรหัส 5 ประติมากรรมชิ้นเยี่ยม แห่ง Notre Dame de Paris

เพ็ญสุภา สุขคตะ

คือพระแม่ของพวกเรา

คําว่า Notre Dame ที่อ่านเป็นภาษาไทยว่า “โนเทรอดาม” หรือ “นอเตรอดาม” ก็สุดแท้แต่ แปลว่า “Our Lady” มีความหมายว่าเป็นมหาวิหาร (Cathedral) ที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแด่ “พระแม่มาเรียของพวกเรา (ชาวคาทอลิก)”

จากข่าวเพลิงไหม้มหาวิหารในช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา หลายท่านคงพอจะทราบข้อมูลเบื้องต้นแล้วว่า สถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สร้างขึ้นในยุคกลางระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 9-13 อันตรงกับรูปแบบศิลปะ “กอทิก” (Gothic เดิมนิยมเขียน “โกธิค” แต่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติว่าให้ใช้ “กอทิก” แทน) ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในขณะนั้น

มิพักต้องถามถึงความเสียใจและความเสียดายของนักเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะที่ใช้ชีวิตป้วนเปี้ยนเวียนวนแถบยุโรป 5-6 ปีเช่นดิฉันว่าอกแทบกระอักเพียงไร ความสูญเสียอันมหาศาลมิอาจประเมินราคาค่าเยียวยา สิ่งเดียวที่ดิฉันพอจะชุบชูดวงวิญญาณให้ตนเองหายหม่นเศร้าได้ ก็คือการเปิดไฟล์ภาพเก่าที่เคยถ่ายไว้หลายครั้งหลายครา ล่าสุดคือปีที่แล้ว มาไล่ดู “ความทรงจำที่ไม่เคยเลือนหาย”

จนเกิดแรงบันดาลใจว่า ปริศนาโบราณคดีฉบับนี้ควรเขียนถึงเรื่อง Notre Dame de Paris ในมิติเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะที่ดิฉันเคยร่ำเรียนมาสายตรง โดยจะพาผู้อ่านไปร่วมไขรหัสรูปแกะสลักหินที่ประดับด้านนอกมหาวิหารจำนวนมากกว่าพันชิ้นนั้น มีประติมากรรมชิ้นใดบ้างที่ควรค่าแก่การทำความรู้จัก

ขอเลือกมาเพียง 5 ชิ้น ให้เหมาะสมกับพื้นที่อันจำกัด

 

Virgin de Paris

แท้ก็คือคำเดียวกันกับ Our Lady หรือ Notre Dame อันหมายถึงพระแม่มาเรียที่นิยมเรียกว่า Madonna & Child นั่นเอง แสดงด้วยรูปพระมารดาอุ้มพระบุตรหรือพระเยซูวัยทารกไว้ในอ้อมแขน

การใช้คำว่า Virgin อันแปลว่า สาวพรหมจรรย์ นั้นเป็นภาพสะท้อนหรือมุมมองของชาวคริสต์ที่ยกย่องว่าผู้ให้กำเนิดพระเยซูย่อมมี “ความบริสุทธิ์ไร้มลทิน” (นิรมล)

ไม่ต่างไปจากการแสดงฉากปางประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะที่ให้คลอดออกมาจากสีข้างของพระนางสิริมหามายา เห็นได้ว่าคนสมัยก่อนไม่ว่าศาสนาใด ต่างมองว่า “มหาบุรุษ” “มหาสตรี” คือเพศบริสุทธิ์

พระแม่มาเรียที่ Notre Dame de Paris สร้างขึ้นหลายองค์ทั้งเป็นประติมากรรมลอยตัวภายในอาคารและเป็นภาพสลักนูนสูงประดับด้านหน้าวิหารในส่วนที่เรียกว่า Facade อันที่จริงคนส่วนใหญ่เห็นปุ๊บก็รู้ทันทีว่ารูปนี้คือพระแม่มาดอนนา ไม่ต้องตีความถอดรหัสอะไรมากมาย

นำเสนอในที่นี้เป็นชิ้นแรกก็เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่ชื่อมหาวิหาร

 

นักบุญเดอนี ถือศีรษะตัวเอง

รูปที่ผู้คนตกอกตกใจมากที่สุดเห็นจะไม่มีอะไรเกินภาพของนักบุญท่านหนึ่งเศียรขาด แถมยังถือเศียรของตัวเองด้วยอาการสงบนิ่งปราศจากความทุรนทุรายอีกด้วย นักบุญท่านนี้มีชื่อว่า Saint Denis อ่านแบบฝรั่งเศสว่า แซงต์เดอนี (ตัว S ไม่ออกเสียง)

ท่านเป็นใคร และทำไมในกรุงปารีสจึงมีมหาวิหารแห่งหนึ่งสร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้ท่านเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว ชื่อ Basilique de Saint Denis (มีหลุมศพของท่านด้วย) ก่อนที่จะสร้าง Notre Dame de Paris เสียอีก

แสดงว่านักบุญท่านนี้ต้องมีความสำคัญต่อชาวฝรั่งเศสโดยตรงหรือเช่นไร แน่นอนที่สุด เมื่อศึกษาอัตชีวประวัติ พบว่าท่านไม่ใช่อัครสาวกที่ร่วมสมัยกับพระเยซูเฉกเช่น เซนต์แมททิว เซนต์มาร์ก เซนต์ลุก หรือเซนต์จอห์น ฯลฯ แต่เป็นบุคคลที่มีอายุถัดมาในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 3

แซงต์เดอนีเกิดที่กรุงโรม อิตาลี ชื่อของท่านในภาษาละตินคือ Dionysus เป็นสมณทูตที่ถูกส่งมาจากจักรวรรดิโรมัน ให้รับตำแหน่ง “บิชอปแห่งปารีส” มีหน้าที่เปลี่ยนความเชื่อของชาวโกล (Gauls ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่ง) ให้มานับถือศาสนาคริสต์

ท่ามกลางความขัดแย้งกับชาวโกล ท่านถูกสังหารด้วยการบั่นคอที่บริเวณเนินมงมาร์ท อนึ่ง คำว่า Mont Mart มาจากคำว่า Martyr ที่แปลว่า “มรณสักขี” หรือการสังเวยชีวิตเพื่อการประกาศพระศาสนา

ประวัติได้บันทึกไว้ว่า หลังจากที่ศีรษะหลุดจากบ่า แม้กระนั้นแซงต์เดอนียังอดทนหยิบศีรษะของตนเองขึ้นมาถือ แล้วดั้นด้นเดินทางต่อไปอีกถึง 6 ไมล์ เพื่อประกาศธรรมจนกว่าจะสิ้นลม

ประติมานวิทยารูปนักบุญถือศีรษะตัวเอง ไม่ใช่มีแค่แซงต์เดอนีเพียงคนเดียว แต่ยังมีอีกหลายคน ศัพท์ทางโบราณคดีเรียกรูปนักบุญถือเศียรตัวเองว่า “Cephalophore”

Saint Stephen ปฐมมรณสักขี

นักบุญสเตเฟน แสดงออกด้วยรูปชายผมสั้น สวมมงกุฎใบลอเรล ถือใบปาล์ม และหนังสือ (พระวรสาส์น) ท่านผู้นี้มีชีวิตร่วมสมัยกับพระเยซูคริสต์ เสียชีวิตที่กรุงเยรูซาเลม อิสราเอล ในปี ค.ศ.34

ความสำคัญของท่านคือ ถือเป็นนักบวชคนแรกสุดที่พลีชีพเพื่อความศรัทธาในศาสนาคริสต์ ดังที่เรียกว่า “ปฐมมรณสักขี” (Protomartyr) เป็นอีกหนึ่งนักบุญที่ชาวฝรั่งเศสยกย่องในวีรกรรม

งูพันตาสตรีชาวยิว

ประติมากรรมชวนพิศวงรูปสตรียืนหมดอาลัยตายอยาก ถือคทาที่แตกหัก ก้มหน้าหมดสภาพ บนศีรษะมีงูรัดพันกระหวัดรอบดวงตา เป็นอีกหนึ่งความทึ่งที่ผู้พบเห็นอยากทราบว่านางคือใคร

รูปนี้มีชื่อเฉพาะว่า “Synagoga” อ่านยากนิดหนึ่งว่า “ซีนาโกกา” แสดงออกด้วยรูปหญิงสาวชาวยิวผู้สิ้นหวัง พ่ายแพ้ต่อชาวคริสต์ จนต้องยอมเข้ารีตมานับถือศาสนาของพระเยซู คำว่า Synagoga มาจากรากศัพท์ว่า Synagogue ที่แปลว่า โบสถ์ของชาวยิว หรือ Jewish Church

โดยปกติการทำรูปของ Synagoga มักทำคู่กับสตรีอีกคนหนึ่ง ถือเป็นด้านตรงข้ามกัน มีชื่อว่า Ecclesia แสดงออกด้วยรูปสตรีเชิดหน้า ถือคทาแจ่มจรัส เป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะที่สามารถปราบชาวยิวให้หันมานับถือคริสต์ศาสนาได้

ชาร์เลอมาญมหาราช

ประติมากรรมชิ้นสุดท้ายที่ขอนำเสนอคือ พระเจ้าชาร์เลอมาญ Charlemagne ผู้เป็นมหาราชของชาวแฟรงก์ (คำว่าแฟรงก์ใช้เรียกฝรั่งเศสยุคโบราณ ต่อมาพัฒนาเป็น France) มีชีวิตในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 8 ความโดดเด่นของพระองค์คือ สามารถรวบรวมราชอาณาจักรแฟรงก์ให้เป็นปึกแผ่น ทั้งยังร่วมสนับสนุนพระสันตะปาปาลีโอที่ 3 ให้ประกาศพระศาสนาในดินแดนฝรั่งเศสอย่างเสรี

การถ่ายถอดลักษณะเฉพาะของพระองค์สู่งานศิลปกรรม ไม่ว่าจะเป็นอนุสาวรีย์ทรงม้า ณ ลานด้านหน้ามหาวิหาร Notre Dame de Paris ก็ดี หรือในภาพเหมือนยุคบาโรกโดยศิลปินชื่อก้อง “เรมบรันดท์” ก็ดี ซึ่งทั้งสองชิ้นสร้างขึ้นในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ต่างก็ลอกเลียนแบบรูปแกะสลักที่ Facade ของ Notre Dame de Paris ทั้งสิ้น

พระเจ้าชาร์เลอมาญไว้หนวดเครายาว สวมมงกุฎประดับไม้กางเขนตกแต่งด้วยดอกลิลลี่ มือข้างหนึ่งถือศาสตราวุธ อีกข้างถือลูกกลมๆ คล้ายลูกเทนนิสหรือผลส้มไว้ในอุ้งมือ

แท้จริงหมายถึง “โลก” สะท้อนถึงความปรารถนาจะเป็นจ้าวโลกของพระองค์

 

สรุปได้ว่า รูปแกะสลักรายรอบมหาวิหาร Notre Dame de Paris ชิ้นใหญ่น้อยนับพันๆ ชิ้นเหล่านี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวของบุคคลสำคัญทั้งทางโลกย์และทางธรรม

จัดวางทั้งนักบุญและคนบาป มีทั้งคนตัวเป็นๆ ที่มีชีวิตจริงในประวัติศาสตร์ ปะปนกับเทพนิยายอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกว่าประติมากรจักออกแบบองค์ประกอบท่วงท่าจัดวางตัวละครที่มีสัญลักษณ์พิเศษนับพันๆ ร่างนี้ ให้ลงตัวพอดีพอเหมาะพอเจาะกับอาคารสถาปัตยกรรม ไม่ว่าในกรอบหน้าบัน ขื่อ เสาประดับกรอบประตู ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องใช้เวลานานหลายศตวรรษ

ขอส่งกำลังใจไปยังกรุงปารีส โปรดรับรู้ว่าคนทั่วโลกเฝ้ารอคอยการบูรณปฏิสังขรณ์มหาวิหารพระแม่มาเรียของพวกเรา อย่างใจจดใจจ่อ ขอจงสัมฤทธิผลในเร็ววันเทอญ