มุกดา สุวรรณชาติ : องคมนตรี กับ รัฐมนตรี ก่อนและหลัง การมีรัฐธรรมนูญ (จบ)

AFP PHOTO AND THAI TV POOL / STRINGER

ตอน 1

ที่มาของรัฐมนตรี

แม้แนวคิดเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรี (Cabinet) ได้ถูกเสนอขึ้นมาเป็นครั้งแรกในช่วง ปี ร.ศ.103 ซึ่งรัชกาลที่ 5 ทรงเห็นว่าสภาพบ้านเมืองขณะนั้นยังไม่พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงเต็มรูปแบบ แต่ก็ได้ทรงจัดระเบียบการปกครองบ้านเมืองใหม่ครั้งใหญ่ โดยทรงจัดตั้งกระทรวงต่างๆ ขึ้น มีเสนาบดีเป็นหัวหน้ากระทรวง ทำหน้าที่ในลักษณะของคณะรัฐมนตรี (ไม่มีอัครมหาเสนาบดี ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี) พระมหากษัตริย์ยังคงทรงเป็นประธาน

ใน พ.ศ.2430 ทรงเริ่มการปฏิรูปการปกครองแผนใหม่ตามแบบตะวันตก โดยเฉพาะในส่วนกลางมีการจัดแบ่งหน่วยงานการปกครองออกเป็น 12 กรม ซึ่งต่อมาเปลี่ยนไปใช้คำว่า “กระทรวง” แทนโดยประกาศสถาปนากรมหรือกระทรวงต่างๆ ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2435 และยังได้ประกาศตั้งเสนาบดีเจ้ากระทรวงต่างๆ ขึ้น ยุบตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีจตุสดมภ์ทุกตำแหน่ง มีสิทธิเท่าเทียมกันในที่ประชุม

ต่อมาได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเหลือเพียง 10 กระทรวง ดังนี้

1. กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายเหนือรวมทั้งประเทศราชทางเหนือ เสนาบดีที่มีชื่อเสียง เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ

2. กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองฝ่ายใต้ กรมทหารเรือ กรมช้าง กรมแสงพลเอก มีเสนาบดี เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

3. กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่จัดการเรื่องเกี่ยวกับการต่างประเทศ เสนาบดี เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ

4. กระทรวงนครบาล มีหน้าที่จัดการในเรื่องความปลอดภัยในพระนคร

5. กระทรวงวัง มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องในราชสำนักและพระราชพิธีต่างๆ

6. กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่บังคับบัญชาการเก็บภาษีอากรและการเงินของแผ่นดิน เสนาบดี เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

7. กระทรวงเกษตรและพาณิชยการ มีหน้าที่จัดการเรื่องเพาะปลูก การป่าไม้ การค้า และโฉนดที่ดินเสนาบดี เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค)

8. กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่จัดการเรื่องเกี่ยวกับศาล เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม (พระองค์แรก) พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภน ซึ่งต่อมาได้เลื่อนเป็น กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ (ต้นตระกูลสวัสดิวัตน์)

9. กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องศาสนา การศึกษา การพยาบาล และพิพิธภัณฑ์เสนาบดี เจ้าพระยาภาสกรวงศ์

10. กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่จัดการเกี่ยวกับเรื่องการก่อสร้าง การไปรษณีย์ การสื่อสาร

คณะรัฐมนตรี
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ.2475

คณะรัฐมนตรี ชุดแรกใช้ชื่อว่า คณะกรรมการราษฎร เมื่อมีการประชุมรัฐสภาครั้งแรกถกเถียงกันในเรื่องนี้อย่างมาก และที่ประชุมรัฐสภาได้ลงมติให้ใช้คำว่า “รัฐมนตรี” แทน “กรรมการราษฎร” และใช้คำว่า “นายกรัฐมนตรี” แทน “ประธานคณะกรรมการราษฎร” และคำว่า “คณะรัฐมนตรี” แทนคำว่า “คณะกรรมการราษฎร” คณะรัฐมนตรี คือผู้บริหารประเทศ มิใช่ที่ปรึกษาแบบสมัยก่อน หลังจาก 2475 ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ก็กำหนดให้มีคณะรัฐมนตรีบริหารประเทศ แต่อาจมีที่มาต่างกัน…

รธน.2475…มาตรา 46 พระมหากษัตริย์ทรงตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายกนายหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบสี่นาย อย่างมากยี่สิบสี่นาย

ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานแห่งสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

ให้คณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

มาตรา 47 นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีอีกสิบสี่นายต้องเลือกจากสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร นอกนั้นจะเลือกจากผู้ที่เห็นว่ามีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษ แม้มิได้เป็นสมาชิกของสภาผู้แทนราษฎรก็ได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่อาจดำรงตำแหน่งการเมืองได้ (จะเห็นว่า รธน.ฉบับแรก รมต. ส่วนใหญ่ ต้องมาจากการเลือกตั้ง)

รธน.2489 มาตรา 66 พระมหากษัตริย์ทรงตั้งรัฐมนตรีขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอีกอย่างน้อยสิบคนอย่างมากสิบแปดคน

ในการตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานพฤฒสภาและประธานสภาผู้แทนเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ รัฐมนตรีต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ

 

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร 2502 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้คำว่า รัฐมนตรีมีจำนวนตามสมควร ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี (เพราะอำนาจที่แท้จริงอยู่กับหัวหน้าคณะปฏิวัติคือจอมพลสฤษดิ์ ว่าจะตั้งใครกี่คนเป็น รมต. อำนาจอธิปไตยยุคนั้นไม่ได้เป็นของประชาชน ดูได้จาก…)

มาตรา 16 ก่อนตั้งคณะรัฐมนตรี หัวหน้าคณะปฏิวัติปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรี

มาตรา 17 ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควร เพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักรหรือราชบัลลังก์ หรือการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ก่อกวน หรือคุกคามความสงบ ที่เกิดขึ้นภายในหรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรี โดยมติของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่า คำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายเมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ (ปัจจุบันมีมาตรา 44)

มาตรา 18 บรรดาบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใด อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

 

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม รธน.2517 มาตรา 177 นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐมนตรีอีกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมด จะต้องเป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (คล้าย รธน.2475)

หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 รธน.2521 ซึ่งเป็นประชาธิปไตยครึ่งใบ มี ส.ว. จากการแต่งตั้ง 3 ใน 4 ของจำนวน ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง

หลังรัฐประหาร รสช. รธน.2534 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 เมื่อ รสช. ถูกโค่นไปก็มีการแก้ไขเพิ่มเติม ในปี 2535 ให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

รธน.2540 ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ต้องเลือกตั้งหมด และนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.

หลังรัฐประหาร 2549 ของ คมช. มี รธน.2550 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหา ครึ่งหนึ่ง ส.ว.จากเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส. แต่มีเพิ่มว่า จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีไม่ได้

หลังรัฐประหาร 2557 ของ คสช. มี รธน.2559 ซึ่งไม่มี ส.ว.จากการเลือกตั้ง มี ส.ว.สรรหา 250 คน คือ ครึ่งหนึ่งของ ส.ส. 500 คน และมีสิทธิ์เลือกนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ส.ส. ตาม รธน. นี้นายกฯ อาจมาจาก ส.ส. หรือไม่ก็ได้ แล้วแต่การคัดเลือกของรัฐสภา แต่ครั้งนี้มีเพิ่ม…

มาตรา 162 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนำมาใช้จ่ายในการดำเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่

 

สรุปว่า การตั้งองคมนตรี เป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ และตามรัฐธรรมนูญ องคมนตรีไม่มีหน้าที่บริหาร หรือยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่บ้านเมืองเรา ในอดีตมีปรากฏการณ์ที่องคมนตรี อาจต้องลาออกมาเป็นนายกรัฐมนตรี ล่าสุดมีรัฐมนตรีลาออกไปเป็นองคมนตรี ซึ่งก็เป็นไปตามสถานการณ์การเมืองแต่ละยุค

ส่วนนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี จะเป็นใคร มาจากไหน ก็อยู่ที่ช่วงเวลานั้น อำนาจเป็นของใคร ของคนกลุ่มใด ถ้าประชาชนมีอำนาจ คนที่มาจากการเลือกของประชาชน จะได้เป็นนายกฯ และรัฐมนตรี ถ้าเป็นช่วงเวลาที่ทหารมีอำนาจ ก็จะมาจากทหาร เป็นส่วนใหญ่ และบางช่วงเวลาก็ต้องแบ่งอำนาจกัน

อำนาจรัฐในอนาคต ตามโรดแม็ป จะเป็นอย่างไร อยู่ในมือใคร ต้องว่ากันต่อในตอนหน้า