คนมองหนัง | “หญิง-ชาย” ใน “บ้านแบ้”

คนมองหนัง

ละครโทรทัศน์ยอดฮิตอย่าง “กรงกรรม” ที่เพิ่งอวสานลงไปนั้น มีหลายมิติน่าสนใจให้วิเคราะห์ถึง

ไม่ว่าจะเป็นการจัดวาง “พื้นที่” ภายในโลกของนิยาย/ละคร ซึ่งฉายภาพให้ “บ้านแบ้” เป็นดังศูนย์กลางของจักรวาลน้อยๆ ณ ตลาดชุมแสง ที่มีความสัมพันธ์โยงใยกับผู้คนในตำบลอื่นๆ ร่วมอำเภอชุมแสง เช่น ทับกฤช, ฆะมัง, เกยไชย หรือท่าไม้ หรือในอำเภออื่นๆ ร่วมจังหวัดนครสวรรค์ เช่น อำเภอเมือง (ตำบลปากน้ำโพ), ตาคลี, พยุหะคีรี หรือลาดยาว (ตำบลหนองนมวัว)

ขณะเดียวกัน “เวลา” ใน “กรงกรรม” ก็ดำเนินไปอย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน

เพราะเรื่องราวอันแสนผกผัน ที่ประกอบด้วยความเปลี่ยนแปลง-เปลี่ยนผ่านนานัปการ การคลี่คลายตัวตน การเติบโตเรียนรู้ การเริ่มต้นชีวิตใหม่ การถือกำเนิดของหลายชีวิต และความตายของบางชีวิต ล้วนเกิดขึ้นภายในกรอบระยะเวลาสั้นๆ แค่ 1 ปีเท่านั้นเอง

นอกจากนี้ ตัวละครใน “กรงกรรม” ยังมี “ความเท่าเทียมกัน” หากพิจารณาว่าทั้งหมดต่างตกอยู่ท่ามกลางบ่วงของความรัก-โลภ-โกรธ-หลง ซึ่งโอบรัดตัดข้ามสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนภูมิหลังทางการศึกษา

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่อยากชวนถกผ่านบทความชิ้นนี้คือ เรื่องตำแหน่งแห่งที่และบทบาทของ “ผู้หญิง-ผู้ชาย” ซึ่งดำรงอยู่ใน “บ้านแบ้”

ถ้าอิงกับวิธีคิดแบบฝรั่ง ตำแหน่งแห่งที่ของ “ผู้หญิง” มักถูกผูกติดอยู่กับ “โลกภายในบ้าน/ครัวเรือน”

แต่สำหรับโลกในละครเรื่อง “กรงกรรม” “บ้าน” หรือ “ครัวเรือน” กลับกลายเป็นพื้นที่หรือฐานที่มั่นของตระกูลฝ่าย “ผู้ชาย” เพราะนี่คือเรื่องเล่าว่าด้วยครอบครัวคนจีน ซึ่งมีประเพณีแต่งสะใภ้เข้าบ้าน

อย่างไรก็ตาม “บ้านแบ้” นั้นมิใช่พื้นที่แห่งการสถาปนาอำนาจนำของผู้ชายโดยสัมบูรณ์สิ้นเชิง เนื่องจากผู้ชายคนแล้วคนเล่าในบ้าน/วงศ์ตระกูลนี้ไม่ได้อยู่ในภาวะ “กระตือรือร้น” หรือเป็นฝ่ายใช้อำนาจอย่างแข็งขันสักเท่าใดนัก

หัวหน้าครอบครัวแต่ในนามอย่าง “หลักเซ้ง” ถูกกดและกลบโดยหัวหน้าครอบครัวตัวจริงคือ “ย้อย” อยู่เกือบตลอดเวลา

ส่วน “อาตง” ลูกชายคนรอง ก็มีบุคลิกลักษณะคล้ายๆ พ่อ

ลูกชายคนสุดท้อง เช่น “อาสี่” โชคดีกว่าใครๆ เมื่อได้ออกไปร่ำเรียนและใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่เขาก็ยังไม่โต และไม่มีโอกาสจะได้เติบโต

ลูกชายลำดับที่สามผู้มีชีวิตชีวากว่าพี่น้องคนอื่นๆ อย่าง “อาซา” มีโอกาสเดินออกจาก “บ้านแบ้” ถึงสองหน

หนแรก เขาถูกผลักออกจากบ้านโดยไม่เต็มใจ ผ่านกระบวนการคลุมถุงชน หนหลัง เขาเป็นฝ่ายก้าวเท้าออกจากบ้านเพื่อขึ้นรถไฟไปเริ่มต้นชีวิตคู่และผจญภัยในดินแดนไกลโพ้นอย่าง “เชียงใหม่” ด้วยเจตจำนงเสรีของตัวเอง

แต่น่าเสียดาย ที่ท้ายสุดชะตากรรมได้ผลักไสให้ “อาซา” เป็นฝ่ายต้องหวนย้อนคืนกลับมายังตลาดชุมแสง/นครสวรรค์ทุกคราวไป ราวกับเขาต้องคำสาปมิให้หลุดพ้นจาก “บ้านแบ้”

กระทั่งลูกชายคนโตที่แทบไม่ได้อยู่ติดบ้านเช่น “อาไช้” ก็ออกไปโดนผู้หญิงทำของใส่ ออกไปโดนลูกสาวเจ้านายกดขี่ และสุดท้าย เขาจำเป็นต้อง “กลับบ้าน” เพื่อเยียวยาสภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง

เป็นฝ่ายตัวละครหญิงเสียอีกที่มักต้องออกเดินทางไกลจากบ้านของตน และต้องพยายามอย่างหนักหน่วงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกภายนอก

พวกเธอแทบทุกคนต่างต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้สอดคล้องลงรอยกับ “บ้าน/โลกของฝ่ายชาย” เป็นอย่างน้อยที่สุด (หรือมากกว่านั้นคือ เพื่อครอบงำ/ยึดครอง/ทวงคืน “บ้าน/โลกของผู้ชาย”) ไม่ว่าจะเป็น “ย้อย” “เรณู” “จันตา” “พิไล” กระทั่ง “บุญปลูก” หรือ “วรรณา” รวมถึงเพื่อนๆ ของ “เรณู” ที่ “ตาคลี”

“บ้าน” ที่ตกเป็นของ “ลูกผู้หญิง” จริงๆ ในละครเรื่อง “กรงกรรม” โดยไม่ต้องมีการประลองอำนาจระหว่างสองเพศสภาพ (หรืออาจผ่านพ้นสถานการณ์เช่นนั้นมาเนิ่นนานแล้ว) คือ “บ้าน/ร้านสังฆภัณฑ์” ของ “อาม่า” และ “แจ้หมุ่ยนี้” ซึ่งไม่มี “ผู้ชาย” หลงเหลืออยู่

ขณะเดียวกัน “ผู้ชาย” และ “ผู้หญิง” อาจมี “บ้าน” เป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลของตัวเองได้อย่างอิสระ ดังกรณีของ “ก้าน” กับ “เพียงเพ็ญ” ต่อเมื่อเขาและเธอใช้ชีวิตอยู่ใน “หมู่บ้านชนบท/สังคมชาวนา” (ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่?) ไม่ใช่ตึกแถวในสังคม/ชุมชนเมือง

อีกหนึ่งประเด็นที่อาจแสดงให้เห็นว่าตัวละคร “ผู้หญิง” ใน “กรงกรรม” มีความ “ก้าวหน้า/ถอนรากถอนโคน?” ยิ่งขึ้นก็คือ การที่พวกเธอบางส่วน อาทิ “พิไล” “เพียงเพ็ญ” และ “อรพรรณี” ไม่ยอม “เข้าครัว”

การยืนกรานปฏิเสธภารกิจที่จะช่วยเติมเต็มภาพลักษณ์ของ “ครัวเรือน” ในอุดมคติดังกล่าว อาจเกิดจากทั้งสถานภาพเฉพาะส่วนบุคคลของสตรีแต่ละราย (ลูกสาวบ้านเล็กเถ้าแก่ที่จบมัธยมปลาย, ลูกสาวกำนัน และลูกสาวนายทหาร) หรือสถานภาพโดยรวมของสตรีไทยที่กำลังผันแปรไปนับแต่ทศวรรษ 2510 เป็นต้นมา