การะเกต์ ศรีปริญญาศิลป์ : ทวีปที่สาบสูญ ค่อยๆ

“กินนักๆ ของมักลูก” พ่อพูดพร้อมรอยยิ้ม มือเลื่อนถ้วยแกงมาให้

“ใส่ผักกระถินให้มากหน่อย เห็นว่าชอบ” แม่เสริมขึ้นมาเรียบๆ

น้องนั่งอิงแอบระหว่างกลางพ่อกับแม่ ข้างหน้ามีปลาทอดกับข้าวนึ่งปั้นใหญ่ ส่วนในโตกเป็นแกงขนุนใส่ปลาทูเค็ม มียอดกระถินมัดตอกอยู่ในชามแกงด้วย

การกินผักอย่างนี้ ก็ต้องคลายตอกออก ใช้มือจับรูดกินทีละก้าน

ในบ้านยังคงกินข้าวด้วยมือ มีเพียงช้อนสั้นไว้หีบซดน้ำแกง วันที่พี่ๆ ไม่อยู่ ก็มีเพียงเราสี่คน

เป็นมื้อค่ำยามแลง หลังฉันกลับจากงานมาแล้ว และเป็นวันที่ค่าแรงออก เช่นเคย มอบเงินส่วนใหญ่ให้แม่ไป

“อ้าว อิ่มแล้วกา” พ่อทักขึ้น เมื่อเห็นฉันละมือ ทำท่าจะเตรียมลุก

“อิ่มแล้ว”

“เดี๋ยวก่อนสิ อย่าเพิ่งไป อู้กันก่อน” พ่อว่า

ฉันสังเกตว่า แม่เหลือบตาดูหน้าพ่อ และพ่อก็ยักคิ้วให้แม่ ทั้งสองแลดูมีลับลมคมในอย่างไรพิกล แต่ฉันก็กลับนั่งลงอย่างว่าง่าย

พ่อกระแอมขึ้นก่อน แล้วก็เอ่ยขึ้นว่า

“ได้ยินมาว่า อยากจะไปเช่าที่ทำสวนรึ”

ฉันตัวแข็งขึ้น ยังไม่ได้เล่าอะไรให้พ่อแม่ฟัง ความคิดแล่นไปรอบๆ ทันที ใครที่ปากบอนมาสาระแนบอก

แต่ก็นึกไม่ออกว่าใคร…จะมีใคร เห็นมีเพียงคำหวาน

“รู้ได้ยังไง” เปิดปากออกไป

เหลือบตาเห็นน้องนั่งยิ้มแป้น ตาใสมีแววความสนใจใคร่รู้ น้องเรียนอยู่ชั้นประถมสามแล้วในตอนนี้ แต่ก็ยังเด็กเกินกว่าจะพูดกันเข้าใจในหลายๆ เรื่อง

หากนั่นก็ทำให้ฉันลดความกระด้างของท่าทีลง

“หวานมันมาเล่าๆ บ้าง”

นั่นยังไง เป็นอย่างที่คิดไม่ผิด ให้นึกฉุนโกรธขึ้นมาทันที

ถ้าหากสิ่งที่ฉันคิดไม่อาจเป็นไป เพราะถูกขัดขวางเอาไว้ตั้งแต่แรก ฉันคงจะ…จะต้องพูดกับหวานให้รู้เรื่องในไม่ช้า

“มันว่ายังไงอีกล่ะ”

“ทำไมทำเสียงอย่างนั้นเล่า” พ่อยังคงอารมณ์ดีอยู่ และสบตากับแม่อีก

“พี่พูดไปเถอะ” แม่ว่า

“มีอะไรกันเหรอ” ฉันมองหน้าพ่อแม่ และตระหนักว่า เวลาที่สองคนอยู่ด้วยกัน ไม่เหมือนที่ยายพร่ำบอกมาสักอย่าง

“แม่มึงไม่ได้รักพ่อมึงหรอก” นั่นไม่จริงเลย

“แม่มึงจำใจเอามันละไม่ว่า” นั่นก็ไม่ใช่อีก

ตุ๊กตา…ตุ๊กตาของแม่ ที่แท้ก็เพียงสิ่งประดิษฐ์ที่คนทั้งสองทำร่วมกัน สิ่งที่ฉันคิดว่าได้เห็น ได้ยิน ได้รู้ สุดท้ายก็กลายเป็นเพียงบางเรื่องราวในช่วงสั้นๆ

มีค่ำคืนวันที่หญิงชายคู่นี้เป็นปากเสียงถกเถียงกัน (โดยเงียบเชียบและระมัดระวัง) แต่วันเหล่านั้นก็มักลงเอยด้วยเสียงหัวเราะของพ่อ กับสุดท้าย คือท่าทีที่อ่อนลงของแม่ เพื่อจะเห็นคนทั้งสองกลับมาดีต่อกัน หนุนตักกัน หยอกล้อกระเซ้าเย้าแหย่ แม่หวนคืนสู่เวลามุ่งเสาะหาของที่พ่อชอบมาทำกับข้าว ส่วนพ่อก็จะเอาอกเอาใจกลับด้วยวิธีการต่างๆ

หลายคนมาบ้านมักได้เจอภาพพ่อ แม่ น้อง หัวเราะหัวใคร่อยู่ร่วมกันในเรือน

คนที่แปลกแยกสุดคือฉัน…คนที่เก้ๆ กังๆ อยู่อย่างเงียบงัน ไม่รู้ว่าควรจะวางตัวต่อความสัมพันธ์กับทุกคนอย่างไร

เหมือนในเวลานี้

แล้วพ่อก็พูดมันออกมา

“คืออย่างนี้นะ พ่อกับแม่อู้จ๋ากันแล้ว ถ้าลูกอยากจะ…”

 

ฉันจำไม่ได้แล้วว่า ท้องฟ้ามีสีฟ้าสดจัดๆ ครั้งสุดท้ายตอนไหน หรือมันอาจจะเป็นเช่นนั้นอยู่เสมอ แต่เพราะใจ…ที่มักเห็นฝุ่นฝ้าไปปกคลุมอยู่บ่อยๆ

ฟูกูโอกะว่าอะไรอีกนะ

[เมื่อคุณตั้งใจที่จะเข้าใจของทั้ง 10 สิ่ง (1) คุณจะไม่สามารถเข้าใจอะไรแม้สักสิ่งเดียว ถ้าคุณรู้จักดอกไม้ถึง 100 ชนิด คุณจะไม่ “รู้จัก” มันสักชนิด คนเราต้องต่อสู้อย่างหนักเพื่อจะเข้าใจ ทำให้ตัวเองเชื่อว่าได้เข้าใจ…]

ช่างเป็นการทำความเข้าใจ กับคำว่า “ความเข้าใจ” และ “ความไม่เข้าใจ” ที่ไม่ง่ายเอาเสียเลยจริงๆ แต่ก็นั่นเอง เมื่อหวนคิดถึงประโยคนั้น ก็ทำให้ฉันต้องกลับมาทบทวนตัวเองเหมือนกันว่า

แล้วฉันเข้าใจพ่อแม่มากแค่ไหน ฉันรู้จักทั้งสองคนนั้นจริงๆ หรือเปล่า?

[คนเราคิดว่า เมื่อเขาละสายตาจากพื้นโลกไปยังท้องฟ้า เขาก็จะเห็นสรวงสวรรค์ เขาแยกผลส้มออกจากใบสีเขียวของมัน และกล่าวว่า เขารู้จักสีเขียวของใบ และสีส้มของผล แต่จากชั่วขณะที่เขาแยกระหว่างสีเขียวกับสีส้ม สีที่แท้ก็หายไป

ผู้คนคิดว่า เขาเข้าใจสิ่งต่างๆ เพราะเขาคุ้นเคยกับมัน นี่เป็นเพียงความรู้ที่ผิวเผิน มันเป็นความรู้ของนักดาราศาสตร์ที่รู้จักชื่อของกลุ่มดาว เป็นความรู้ของนักพฤกษศาสตร์ที่รู้จักการจำแนกประเภทของใบและดอก เป็นความรู้ของจิตรกรที่รู้จักทฤษฎีความงามของสีเขียวและแดง นี่มิใช่การรู้จักธรรมชาติโดยตัวของมันเอง

พื้นโลกและท้องฟ้า สีเขียวและสีแดง นักดาราศาสตร์ นักพฤกษศาสตร์ และจิตรกร มิได้ทำอะไรมากไปกว่าการจับเอาความประทับใจและตีความมันโดยอาศัยความทะยานแก่งจิตของแต่ละคน…]

มีดอกหญ้าสีขาวชูช่อเป็นกลุ่ม เอนไหวอยู่ใกล้ร่องลำน้ำเหมือง ลมพัดโบยมา เป็นกระแสที่เย็นชื่นเสียจนต้องหายใจเข้าลึกสุดปอด ท้องฟ้าช่างกว้างขวางขึ้น และลมก็รื่นกว่าครั้งใดๆ หรือว่า เพราะหัวใจของฉันไม่ได้ตีความอะไรเลยในเวลานี้

คำหวานเดินใกล้เข้ามา ตีนหนาๆ ย่ำลงบนคันนาอย่างมั่นคง ยิ้มระรื่นบนใบหน้าที่มันปลาบด้วยครีมทากันแดด

“เป็นอะหยัง ยืนยิ้มอยู่คนเดียว!”

 

[คนเดินทางคะ

เธอเล่ามาว่า เป็นคนที่ไม่ชอบยิ้ม ไม่ค่อยมีรอยยิ้มจะมอบให้ใคร ฉันออกจะแปลกใจน่าดู คนเราต้องคิดก่อนถึงจะยิ้มด้วยหรือคะ

ตัวฉันเอง ก็ไม่ใช่คนยิ้มง่ายอะไรนักหรอกนะคะ แต่ว่า ก็มีหลายครั้งที่ฉันพบว่าตัวเองยิ้มและหัวเราะอยู่บ่อยๆ แต่เอ…เธออาจจะว่าฉันบ้าก็ได้ เพราะครั้งที่พูดถึงนั้น บางทีก็เป็นการยิ้มอยู่คนเดียว อย่างตอนที่เขียนจดหมายถึงเธอยังไงละคะ]

 

“คุยกับพ่อแม่แล้วเหรอ” คำหวานถาม

“อือ” พยักหน้ารับ “เธอเอาไปพูดกับพ่อแม่ฉันทำไม”

“ไม่ได้ตั้งใจหรอก” คำหวานยังยิ้มอยู่ “พอดีฉันคุยกับอ้ายของเธอ แล้วเขาก็ถาม…ว่าคิดอยากจะทำอะไรยังไงบ้าง ฉันก็เลยบอกเรื่องที่เราคิดกัน พอดีแม่เธอมาได้ยินเข้า”

ฉันเหลียวมองหน้าคำหวาน

“เธอคุยกับพี่ตรีหรือ…ตอนไหน”

“หลายวันแล้ว ตอนนั้นฉันไปหาเธอ แต่เธอไม่อยู่ เห็นว่าออกไปถ่ายเอกสารในเวียง”

“อ้อ” คงจะเป็นวันที่ฉันเอาต้นฉบับจุลสารไปทำสำเนา และต้องเป็นวันที่เราเหมางาน จึงได้กลับบ้านเร็ว

“นึกยังไงไปเล่าให้เขาฟัง”

“ก็เขาถาม…” คำหวานตอบ และครั้งนี้ ดูจะมีบางสิ่งแปลกออกไป “อันที่จริง พี่เธอเขาก็ดูนิสัยดีนะ”

“งั้นหรือ”

“อือ ไม่รู้นะ” คำหวานถอนหายใจออกมา “ฉันก็บอกไม่ถูกหรอก ช่างเถอะ”

มีอะไรอีกสักอย่าง กลับกลายเป็นความเงียบและนิ่งค้างอยู่ในอากาศ ฉันนิ่ง และคำหวานก็นิ่ง ไม่แน่นัก เราอาจจะคิดในสิ่งเดียวกัน แต่ความรู้สึกของเรานั้นอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้

แต่…ท้องฟ้ากำลังสดใส และฉันก็ไม่อยากจะทำมันพังอีก

“พ่อกับแม่บอกว่า ถ้าจะเช่าที่ทำสวนจริงๆ ก็จะสนับสนุนฉัน” บอกกับคำหวานออกไป

“เห็นมั้ย! เป็นอย่างที่คิดไว้เลย!” คำหวานแทบจะเต้นขึ้น “พ่อแม่เธอเป็นคนใจดีและรักเธอมากๆ! ฉันกับพี่ตรีคิดไว้แล้ว เขาจะต้องส่งเสริมเธอ!”

นั่นคือสิ่งที่เหนือความคาดหมาย อย่างมาก…ก็คิดว่าพ่อแม่อาจจะเพียงรับฟัง แต่คำพูดที่ดังอยู่ในวงโตกข้าว ยังก้องในหูอยู่

“ถ้าลูกอยากจะทำก็ทำ พ่อแม่ไม่ว่าอะหยังสักอย่าง สตางค์ก็ลูกฮิหามาเอง ถ้าลูกไปได้ดีมีสุข พ่อแม่ก็ตึงได้เป็นสุขไปด้วย” คำพูดของพ่อ

“ถ้าจะเอาสตางค์ไปวางค่าหัวนาก็บอก ที่ให้ๆ มา แม่ก็แบ่งเก็บไว้ให้ ไม่ได้เอาไปใช้เสียหมดสิ้น” คำพูดของแม่

 

[ทั้งหมดที่คนเราต้องทำเพื่อรู้จักธรรมชาติก็คือ การตระหนักว่าตนไม่ได้รู้อะไรจริงๆ เลยสักอย่าง ตระหนักว่าตนเองไม่อาจรู้อะไรสักอย่าง นี่จึงจะคาดหวังได้ว่าเขาจะเลิกสนใจในความรู้แบบแบ่งแยก เมื่อเขาละทิ้งความรู้แบบแบ่งแยก ความรู้แบบไม่แบ่งแยกจะปรากฏขึ้นเองภายในตัวของเขา

ถ้าเขาไม่พยายามคิดเกี่ยวกับการรู้ หากเขาไม่วิตกเกี่ยวกับการเข้าใจ เวลาแห่งการเข้าใจของเขาก็จะมาถึง…]

มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เขียนเอาไว้ในบทที่ชื่อว่า “ความโง่ดูเหมือนเป็นความฉลาด” ขณะยืนอยู่กับคำหวาน มองไปที่ขอบฟ้าเบื้องหน้า และโดยปลายนิ้วที่ค่อยๆ เกี่ยวเข้าหากันอย่างเคย ฉันเริ่มรู้สึกสับสนเล็กน้อยกับรูปรอยความคลุมเครือที่ค่อยๆ กระจ่างชัด ระหว่างความเข้าใจกับความไม่รู้ และความรู้กับความไม่เข้าใจ รวมถึงความรู้สึกใหม่ๆ ที่ดั่งหนึ่งมองเห็นแสงตะวันค่อยๆ ทอแสงลงสู่มัวขุ่นในน้ำ จนเห็นฟุ้งโคลนในน้ำค่อยๆ ตกตะกอน เปิดให้มองเห็นส่วนใส

ค่อยๆ เป็นไป…ช้าๆ…ทีละนิดละน้อย…ที่ฉันก็ได้พบว่า การยกปากขึ้น คลี่ยิ้มออกมา ขณะหันไปสบตากับใครสักคนหนึ่งอย่างตั้งใจ ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินไป จนจะทำไม่ได้

———————————————————————————————————————–
(1) จากหนังสือ ปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว มาซาโนบุ ฟูกูโอกะ เขียน รสนา โตสิตระกูล แปล