หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่น

หนังสือ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ ฉบับใหม่ของ ราชบัณฑิตยสภา ซึ่งประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๕ ตอนพิเศษ ๘๒ ง วันที่ ๙ เมษายน ๒๕๖๑ พร้อมๆ กับหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาพม่า (เมียนมา) และ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาสเปน ก็คือ หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่น

การทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นตามหลักเกณฑ์นี้เป็นการถ่ายเสียงภาษาญี่ปุ่นที่เขียนด้วยอักษรโรมันเท่าที่อักษรโรมันจะแสดงได้ โดยถ่ายเสียงสระและเสียงพยัญชนะตามที่ออกเสียงในภาษาญี่ปุ่นมาตรฐานหรือภาษาโตเกียว และมีตารางเทียบสระ พยัญชนะ แสดงไว้

ระบบการเขียนภาษาญี่ปุ่นโดยใช้อักษรโรมันเพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถอ่านได้มีหลายระบบ หลักเกณฑ์นี้ใช้ระบบ Hepburn เป็นหลัก เนื่องจากเป็นระบบเขียนที่ใกล้เคียงกับเสียงมากที่สุด และเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้ระบบอื่น จึงได้นำอักษรโรมันที่ถอดตามระบบอื่นมาใส่ไว้ในตารางด้วยโดยเรียงตามลำดับอักษร อักษรโรมันระบบ Hepburn เป็นอักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษาญี่ปุ่นระบบหนึ่งซึ่งเน้นเสียงเป็นหลักเริ่มใช้เมื่อ ค.ศ.๑๘๘๕ เป็นระบบการเขียนซึ่งแพทย์และนักสอนศาสนาชาวอเมริกันชื่อ James Curtis Hepburn (๑๘๑๕-๑๙๑๑) ริเริ่มคิดขึ้นและใช้ในการจัดทำพจนานุกรมญี่ปุ่น-อังกฤษ อังกฤษ-ญี่ปุ่น

เป็นระบบที่ได้รับการยอมรับและใช้กันแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน

คําย่อที่เขียนด้วยอักษรโรมัน ให้เขียนชื่อตัวอักษรนั้นๆ ตามเสียงภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยตามที่กำหนดไว้ในหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น

NHK = เอ็นเอชเค

JR = เจอาร์

อย่างไรก็ดี คนญี่ปุ่นอาจออกเสียงตัวอักษรเหล่านี้แตกต่างจากตารางข้างต้น ส่วนคำที่ผูกขึ้นจากตัวย่อ ซึ่งอ่านออกเสียงได้เสมือนคำคำหนึ่ง มิได้ออกเสียงเรียงตัวอักษรให้เขียนตามเสียงที่ออกและไม่ต้องใส่จุด เช่น

JASSO (Japan Student Services Organization) = จัสโซ

ส่วนคำภาษาญี่ปุ่นที่รับมาใช้ในภาษาไทยเป็นเวลานาน และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว ให้ใช้ตามเดิม เช่น

โตเกียว (ตามหลักเกณฑ์นี้ทับศัพท์เป็น โทเกียว)

เกียวโต (ตามหลักเกณฑ์นี้ทับศัพท์เป็น เคียวโตะ)

ในภาคผนวกของหลักเกณฑ์นี้ได้ให้ตัวอย่างคำที่อาจจะพบบ่อยไว้ด้วย เพื่อให้ใช้ได้สะดวก ตัวอย่าง

ชื่อยุคสมัยในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เช่น Edo = เอโดะ Meiji = เมจิ Taish? = ไทโช Sh?wa = โชวะ Heisei = เฮเซ

ชื่อสกุลของคนญี่ปุ่น เช่น Abe = อาเบะ Hashimoto = ฮาชิโมโตะ

ชื่อจังหวัด ๔๗ จังหวัดของญี่ปุ่น เช่น Hiroshima = ฮิโรชิมะ (ฮิโรชิมา) Hokkaid? = ฮกไกโด (ฮอกไกโด) Nara = นาระ (นารา) Okinawa = โอกินาวะ (โอกินาวา) ?saka = โอซากะ (โอซากา) คำที่อยู่ในวงเล็บเป็นคำภาษาญี่ปุ่นที่รับมาใช้ในภาษาไทยเป็นเวลานาน และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้ว

คำภาษาญี่ปุ่นที่พบบ่อย เช่น haiku = ไฮกุ หมายถึง คำประพันธ์ชนิดหนึ่ง ikebana = อิเกบานะ หมายถึง ศิลปะการจัดดอกไม้ manga = มังงะ, มังกะ หมายถึง หนังสือการ์ตูน samurai = ซามูไร หมายถึง นักรบโบราณ

อนึ่ง การจัดทำหลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาญี่ปุ่นเสร็จเรียบร้อยในสมัยเฮเช พระนามพระราชวงศ์ญี่ปุ่นที่อยู่ในภาคผนวกจึงเป็นพระนามในสมัยเฮเซ ซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๒ จนถึงวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๕๖๒ ก่อนจะเริ่มสมัยเรวะในวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๒

หมายเหตุ

ขอขอบคุณผู้เชี่ยวชาญภาษาญี่ปุ่น ดังต่อไปนี้

รศ.ผกาทิพย์ สกุลครู, ผศ.ดร.พจนี ศิริอักษรสาสน์, ผศ.ดร.วรวุฒิ จิราสมบัติ, Mr. Mitsuo Nakayama และ Mrs. Kiyomi Iketani