มองบ้านมองเมือง / ปริญญา ตรีน้อยใส/ มองประเทศเพื่อนบ้าน

มองบ้านมองเมือง/ปริญญา ตรีน้อยใส

มองประเทศเพื่อนบ้าน

 

ขออนุญาตมาต่อเรื่องป่าไม้ในไทยและลาวต่อ

โดยจะขยายไปถึงประเทศข้างเคียง คือ พม่า กัมพูชา และเวียดนาม ที่อยู่ในประชาคมอาเซียนด้วยกัน

ขอเริ่มต้นกันที่ขนาดพื้นที่ประเทศโดยรวม ในจำนวนห้าประเทศที่กล่าวมา พม่ามีพื้นที่มากที่สุดคือ 676,578 ตร.ก.ม.

รองลงมาคือ ไทย มีพื้นที่ 513,120 ตร.ก.ม.

ส่วนเวียดนามตามมา เพราะมีพื้นที่ 329,500 ตร.ก.ม.

ส่วนลาวและกัมพูชา มีพื้นที่น้อยกว่าประเทศอื่น คือ 236,800 และ 181,035 ตร.ก.ม. ตามลำดับ

สำหรับจำนวนประชากร ลำดับจะไม่เหมือนกับพื้นที่

เพราะประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในกลุ่ม กลับเป็นเวียดนาม คือ มีมากถึง 91.7 ล้านคน (ข้อมูลปี 2561)

รองลงมาเป็นไทย คือ 65.1 ล้านคน และพม่า 52.1 ล้านคน

ส่วนกัมพูชาและลาว นอกจากพื้นที่จะน้อย จำนวนประชากรยังน้อยด้วย เพราะมีเพียง 15.4 ล้านคน และ 6.9 ล้านคน ตามลำดับ

ด้วยเหตุนี้ ประเทศที่คนอยู่หนาแน่นที่สุด ย่อมเป็นเวียดนาม คือ 278 คน/ตร.ก.ม. รองลงมาคือ ไทย 127 คน/ตร.ก.ม. ส่วนกัมพูชาและพม่า มีความหนาแน่นใกล้เคียงกัน คือ 85 และ 77 ตร.ก.ม. ตามลำดับ

สำหรับลาวนั้น เคยมองไปแล้วว่า ผู้คนอยู่กันแบบสบายๆ แค่ 20 คน/ตร.ก.ม.

 

มาถึงเรื่องป่าไม้ ประเทศที่ยังเหลือป่าไม้มากที่สุดคือ พม่า คือมีมากกว่าสี่แสน ตร.ก.ม. (ข้อมูลปี 2559)

รองลงมาคือ ลาว ที่มีอยู่เกือบสองแสน ตร.ก.ม. (2561)

ไทยกับเวียดนาม มีป่าไม้มากพอกัน คือ แสนหกหมื่น ตร.ก.ม. (2561) และแสนสี่หมื่น ตร.ก.ม. (2560)

ส่วนเขมรนั้น เหลือป่าไม้ไม่ถึงแสนตารางเมตรแล้ว (2559)

แต่เมื่อนำตัวเลขไปเทียบกับขนาดพื้นที่ประเทศแล้ว ตัวเลขความเขียวชอุ่มจะเปลี่ยนไป ลาวจะเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุด คือ ร้อยละ 82.45 ของพื้นที่ทั้งประเทศเป็นป่าไม้ รองลงมาคือ พม่า อยู่ที่ร้อยละ 62.62 ส่วนกัมพูชาและเวียดนาม มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน คือ 48.14 และ 43.13

สุดท้ายคือ ประเทศไทย เหลือพื้นที่ป่าไม้อยู่แค่ร้อยละ 31.60 เท่านั้น

 

เห็นตัวเลขแบบนี้ นักวิชาการไทย ข้าราชการไทย คงต้องให้ความสำคัญกับป่าไม้ให้มากกว่านี้ เพราะถ้าไม่ทำอะไรกัน ไทยเราจะกลายเป็นดินแดนที่แห้งแล้งที่สุด ส่งผลให้ปัญหาสภาพแวดล้อมตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ อากาศ ฝุ่น พืชพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่า ยิ่งรัฐบาลมีแผนจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการค้าและการบริการ รวมไปถึงอุตสาหกรรม คงจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆ แน่นอน

เอาเฉพาะเรื่องเขื่อนที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเขื่อนนั้น ตัวเลขปี 2561 รายงานว่า เวียดนามมีจำนวนเขื่อนมากที่สุด คือ 94 แห่ง จึงผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุด คือ 14,636 MW.

ลาว แบตเตอรี่แห่งอาเซียน ที่เล่าไปแล้ว ตอนนี้มีเขื่อนอยู่ 56 แห่งและผลิตได้ 5,272 MW. แต่จำนวนจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าในไม่กี่ปีข้างหน้า

ไทยเราอยู่อันดับ 3 ทั้งจำนวนเขื่อน คือ 25 แห่ง และกำลังการผลิต 3,488 MW. ส่วนพม่าและกัมพูชานั้น มาหลังคนอื่น คือ มีเขื่อนแค่ 15 และ 7 แห่ง ตามลำดับ

รวมทั้งผลิตไฟฟ้าได้เพียง 2,211 และ 132.8 MW. ตามลำดับ

แต่ต้องไม่ลืมว่า พม่า ประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในห้าประเทศ และมีพื้นที่ป่าไม้มากสุดเช่นกัน จึงเป็นไปได้ว่า อีกไม่นาน พม่าอาจกลายเป็นประเทศที่มีเขื่อนและสามารถผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนได้มากกว่าใครเขา

ส่วนเมืองไทยของเรา ขอแค่รักษาพื้นที่ป่าไม้ที่มีอยู่ไม่ให้ลดลง หรือถ้าจะเพิ่มมากขึ้นก็ยิ่งดี

ส่วนเขื่อนที่จะผลิตไฟฟ้านั้น คงจะยาก เพราะปริมาณน้ำบริโภค อุปโภค ก็เริ่มไม่พอแล้ว คงต้องมุ่งไปที่พลังงานทางเลือกอื่น

โดยเฉพาะแสงอาทิตย์ ที่มีอยู่มหาศาล เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ในวันนี้ วันที่เขียนมองบ้านมองเมืองฉบับนี้