วงค์ ตาวัน | เอาชนะใจประชาชนไม่ได้

วงค์ ตาวัน

เป็นอันว่าบ้านเมืองเราก็หนีไม่พ้นปัญหาเดิมๆ วนซ้ำอยู่กับเรื่องที่เคยเกิดมาตลอดในช่วงนับสิบปีแห่งการขัดแย้งแบ่งแยกสี ต่อเนื่องไปจนถึงเหตุการณ์คณะ คสช.เข้ามายึดอำนาจ ใช้ข้ออ้างว่าเข้ามายุติความแตกแยก สร้างสังคมปรองดองสมานฉันท์ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงวันเริ่มกลับสู่ประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม

“ลงเอยแล้ว ปัญหาความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม อันเนื่องจากกระบวนการยุติธรรมก็ยังคงเป็นอยู่ต่อไป ไม่ต่างจากเมื่อกว่าสิบปีที่ผ่านมา”

โดยเฉพาะบรรยากาศในช่วงหลังเลือกตั้งในขณะนี้ ที่ยังอยู่ระหว่างการสรุปจำนวน ส.ส.อย่างเป็นทางการ นับวันยิ่งเต็มไปด้วยข้อวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในสังคมต่อการใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรม

เมื่อการจัดตั้งรัฐบาลระหว่าง 2 ขั้ว เกิดสภาพก้ำกึ่งสูสีกันมาก

เลยเกิดเรื่องที่ประชาชนคาดเดากันได้ไม่ยากก็คือ ส.ส.ของอีกฝ่ายหนึ่งจะค่อยๆ โดนลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ

ผู้นำการเมืองที่มาแรง เป็นที่ยอมรับของประชาชนอย่างสูงก็โดนสารพัดขวากหนาม จนน่าสงสัยว่าสุดท้ายจะได้เดินอยู่บนถนนไปสู่สภาได้หรือไม่

“กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างโจ่งแจ้ง ขัดสายตาของประชาชนคนดูและผู้ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งอย่างมาก!”

ถ้านับย้อนไปตั้งแต่มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 เป็นต้นมา

ทำให้เกิดการเมืองแนวใหม่ขึ้นมา ปลุกให้ประชาชนโดยเฉพาะในชนบทได้ตื่นตัว เห็นความสำคัญของการเลือกตั้ง เห็นว่าประชาธิปไตยมีผลต่อปากท้องความเป็นอยู่ของชาวบ้านได้จริง

นับจากนั้น ผลการเลือกตั้งได้มาถึงจุดเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยครั้งใหญ่

“ประชาชนเลิกสนใจเงินซื้อเสียงไม่กี่ร้อยบาท แต่หันมาเลือกพรรคการเมืองที่มีนโยบายพลิกโฉมสังคม สร้างประโยชน์ในระยะยาวในด้านความเป็นอยู่ การรักษาพยาบาล การยกระดับรายได้การเกษตร”

แต่ขณะเดียวกันอีกฟากฝ่ายทางการเมือง ที่ยอมไม่ได้หากสังคมการเมืองไทยจะเปลี่ยนโฉม และพรรคการเมืองที่มีแนวทางอนุรักษนิยม ก็ไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนได้ พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่า

“จึงหันไปใช้กลไกอำนาจต่างๆ เข้ามาหยุดยั้งการเติบโตของฝ่ายการเมืองแนวใหม่!!”

เล่นงานด้วยกระบวนการยุติธรรมจนเกิดข้อสรุปในสังคมไทยว่า มียุติธรรม 2 มาตรฐาน

แถมด้วยการใช้กลไกกองทัพก่อรัฐประหาร ทั้งในปี 2549 และในปี 2557 โดยเฉพาะการรัฐประหาร 2557 ซึ่งรัฐบาลของ คสช.ได้ปกครองประเทศถึง 5 ปี เพื่อสร้างกฎกติกาทุกอย่าง หวังให้สังคมไทยหยุดนิ่งแช่แข็งยาวนานที่สุด ประมาณว่าจะไม่ให้เติบโตเปลี่ยนแปลงถึง 20 ปี

แล้วพอเปิดให้มีการเลือกตั้ง กลับพบว่าผลการเลือกตั้งไม่เป็นไปตามที่คาดเอาไว้

บรรยากาศบ้านเมืองเราในวันนี้ จึงย้อนกลับไปเหมือนเดิมๆ อีก

วนกลับไปปัญหาเดิมอีก นั่นคือ กระบวนการยุติธรรม ทำให้สังคมรู้สึกขัดแย้งแตกแยกอีก

หลังการเข้ามายึดอำนาจของ คสช. ด้วยเหตุผลว่าเพื่อยุติความขัดแย้งแตกแยกในสังคมให้ได้นั้น ได้มีการประกาศนโยบายของคณะรัฐประหาร ที่ยอมรับว่าปัญหาความไม่ยุติธรรม ปัญหา 2 มาตรฐาน เป็นเรื่องใหญ่ในตลอดช่วงก่อนหน้านั้น แถมวางแนวทางจะยุติปัญหานี้ให้ได้

โดยในคำประกาศ คสช. ฉบับที่ 63/2557 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ระบุว่า การดำเนินคดีต่างๆ ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาและการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือคลาดเคลื่อน เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมว่ามีการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

“ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคมเกิดขึ้นและอาจมีเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต”

คณะ คสช.ขอประกาศให้ทราบทั่วกันว่า มีนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ โดยประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายทั่วถึง โดยเสมอภาคและเท่าเทียมกัน

“องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นศาล คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ องค์กรอิสระอื่นๆ อัยการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ รวมทั้งหน่วยงานอื่นของรัฐที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม”

ขอให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรมและมีบรรทัดฐานที่ชัดเจน ซึ่งสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้

ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจแก่สาธารณชนในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่มีการเลือกปฏิบัติ

“ประกาศนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลงนามเองในฐานะหัวหน้า คสช.”

อ่านจากเนื้อความชัดเจนว่า คสช.ได้เห็นถึงต้นตอความขัดแย้งแตกแยกอย่างหนึ่ง คือ กระบวนการยุติธรรม ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติ จึงเน้นย้ำทุกหน่วยงานและองค์กรในกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ต้องเที่ยงธรรม มีบรรทัดฐานชัดเจน อย่าทำให้สาธารณชนเกิดความเข้าใจในด้านที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งแตกแยก

แล้วตลอด 5 ปีที่ คสช.ปกครองบ้านเมือง นโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมนี้ได้บังเกิดผลในทางที่สามารถยุติปัญหาที่ประชาชนรู้สึกว่ามีการเลือกปฏิบัติหรือไม่

จนมาถึงในช่วงการเลือกตั้ง ในระหว่างการตรวจสอบผลเลือกตั้ง ในการดำเนินคดีกับนักการเมืองและพรรคการเมืองที่กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในสังคมขณะนี้

บรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้นในด้านกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ตามประกาศ คสช.ฉบับดังกล่าวหรือไม่!?

ทุกสังคมการเมืองทั่วโลก มีข้อสรุปกันไปแล้วว่า มีแต่ระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่จะทำให้การปกครองและการต่อสู้ทางการเมือง ระหว่างผู้มีแนวคิดอุดมการณ์ต่างกันสามารถดำเนินไปได้อย่างสันติที่สุด โดยในประเทศที่เจริญก้าวหน้ามากๆ พรรคการเมืองทุกแนว ไม่ว่าขวาหรือแนวซ้าย ต่อสู้กันในเวทีการเลือกตั้งเป็นหลัก ไม่เคยออกนอกลู่นอกทาง

“การเมืองที่สันติ มีขัดแย้งกันแต่อยู่ในเวทีที่มีมาตรฐาน ตัดสินกันด้วยความนิยมของประชาชนในวันเลือกตั้ง จึงส่งผลให้เศรษฐกิจ สังคม พัฒนาก้าวหน้าไปด้วยดี”

ประเทศไทยเราเคยผ่านบทเรียน กลุ่มอุดมการณ์ซ้าย ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ แต่ไม่เคยคิดต่อสู้ทางรัฐสภา ไปสร้างกองกำลังในป่า ใช้การสู้รบเพื่อต่อสู้ช่วงชิงอำนาจ จนสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่ายมาหลายปีในช่วงระหว่างปี 2508-2523

จนสุดท้ายกองทัพไทยยุคการเมืองนำการทหาร ได้ออกคำสั่งที่ 66/2523 เปิดทางให้วางปืน แล้วเข้ามาต่อสู้ทางความคิดอุดมการณ์อย่างสันติวิธี นั่นจึงทำให้สงครามคอมมิวนิสต์ยุติลงได้

“จากนั้นจะฝ่ายซ้ายหรือฝ่ายขวาก็เข้ามาเล่นการเมืองในแนวทางรัฐสภา ซึ่งสันติที่สุด!”

แต่พอเริ่มเกิดปัญหา พรรคการเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ชนะใจประชาชนได้อย่างกว้างขวางในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพรรคตรงข้ามกับขั้วอนุรักษนิยมการเมืองไทยหรือบรรดากลุ่มอำนาจเก่าทั้งหลาย

ก็เริ่มมีการใช้กระบวนการยุติธรรมอย่างเลือกปฏิบัติเพื่อหยุดยั้งพรรคที่ชนะเลือกตั้งบ่อยๆ

“การเลือกตั้งหนล่าสุด มีพรรคเกิดใหม่ ชนะใจประชาชนคนรุ่นใหม่ท่วมท้น ไม่ทันไรก็โดนสารพัดกระบวนการ จนเริ่มจะเดินหน้าไปไม่ได้อีก”

ทั้งที่พรรคการเมืองเหล่านี้เลือกเดินแนวทางประชาธิปไตย แนวทางรัฐสภา ถือว่าเลือกเวทีสันติวิธีและเปิดเผยแล้ว เหตุใดจึงกดดัน บีบคั้น กระทั่งไปกล่าวหาว่าเป็นพรรคแนวคิดอันตราย

ราวกับจะกีดขวางปิดกั้นไม่ให้พรรคการเมืองที่คิดแตกต่างเหล่านี้ มีที่ยืนบนเวทีสันติ ทั้งที่ทุกฝ่ายก็มีบทเรียนมาแล้วว่า ความขัดแย้งทางการเมือง ถ้าถูกกดแล้วไปปะทุในแนวทางการต่อสู้แบบอื่น มีแต่จะสร้างความสูญเสียให้กับทุกฝ่าย

เมื่อเอาชนะใจประชาชนไม่ได้ในการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นอย่างนี้มาตลอดตั้งแต่ใช้รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมา

ก็จะเกิดปัญหาเดิมๆ คือกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม จนถึงวันนี้ก็มาเกิดซ้ำเหมือนเดิมอีก!