นิธิ เอียวศรีวงศ์ | พระกับการเมือง

นิธิ เอียวศรีวงศ์

ผมพยายามค้นหาข้อห้ามไม่ให้พระภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทั้งในพระสูตรและพระวินัย แต่ความรู้อันจำกัดของผมทำให้ค้นไม่พบ

แม้ค้นไม่พบตรงๆ แต่ก็พอจะเดาได้ว่า ข้อพิพาทหรือกลวิธีใดๆ ก็ตามเพื่อแย่งชิงกันเป็นใหญ่ในทางโลกย์ ไม่น่าจะเป็นกิจของสงฆ์ หากพระสงฆ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยการถือหางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ย่อมเพาะศัตรูให้เกิดขึ้น ทำให้ไม่เหมาะแก่การเผยแผ่พระธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อมาสรุปอย่างนี้ ย่อมทำให้การเมืองเหลือความหมายที่แคบลงอย่างมาก

ในพระสูตรมีเรื่องพระพุทธเจ้าไปห้ามศึกแย่งน้ำระหว่างพระญาติสองแคว้น แต่ท่านไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใด เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่ามีสิ่งที่สำคัญกว่าน้ำในชีวิตเราหลายอย่าง เช่น ความเป็นญาติ หรือความสามัคคีปรองดอง จนทั้งสองฝ่ายได้สติจึงยุติความบาดหมางต่อกัน

ข้อพิพาทเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการแย่งชิงกันเป็นใหญ่ แต่เป็นเรื่องสิทธิเหนือทรัพยากรซึ่งในปัจจุบันเราคงเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ของการเมืองทีเดียว ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้พระพุทธเจ้าเข้าไปแทรกแซงทางการเมืองเรื่องนี้ โดยไม่ “ฝักใฝ่” ฝ่ายใด และผมเข้าใจว่า ความไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดน่าจะเป็นหลักเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากภิกษุจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ พระภิกษุเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองนั้นไม่สู้กระไร เท่ากับว่ายุ่งเกี่ยวอย่างไร

Eugene Ford ผู้แต่ง Cold War Monks ชี้ให้เห็นว่า คณะสงฆ์ไทยถือว่าพระภิกษุไม่พึงยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เพราะไม่มีนิยามที่ชัดเจนว่า “การเมือง” คืออะไร จึงทำให้ภิกษุไทยยุ่งเกี่ยวกับการเมือง (ตลอดมาในทัศนะของผม) เพียงแต่เป็น “การเมือง” ที่คณะสงฆ์เห็นชอบเท่านั้น

ผมขอเล่าเรื่องของการเมืองกับภิกษุไทยในทัศนะของนายฟอร์ดผสมกับทัศนะของผมเองดังนี้

ในสมัยอยุธยา เท่าที่จดเอาไว้ในพระราชพงศาวดาร พระภิกษุไม่เคยเข้าไปร่วมในการแย่งชิงราชสมบัติ ยกเว้นแต่ผู้ชิงราชสมบัติบวชเป็นพระภิกษุอยู่เอง แต่การบวชเรียนย่อมยกสถานะทางสังคมและการเมืองขึ้นอย่างมาก ทั้งไม่ใช่เป็นการยกขึ้นโดยพระราชอำนาจด้วย หากเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชาชน ทิดหรือคนบวชเรียนมาแล้วจึงเป็นผู้นำก่อกบฏของคนระดับล่างหลายครั้ง

ผมเข้าใจ (ซึ่งเดาว่าตรงกับนายฟอร์ด) ว่า การปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์ในสมัย ร.5 ทำให้ข้อห้ามไม่ให้ภิกษุยุ่งเกี่ยวกับการเมืองชัดเจนขึ้น อย่างน้อยก็ในทางปฏิบัติ ถ้าข้อห้ามนี้ไม่เคยมีมาก่อนหรือมีอย่างไม่ชัด และนี่คือเหตุที่ทำให้ผมเดาต่อว่า ทั้งภิกษุและฆราวาสซึ่งมีส่วนในการครองคณะสงฆ์ระหว่างที่ญี่ปุ่นยึดครองไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา ไม่เห็นด้วยกับการผลักดันของศาสตราจารย์ซูโชะ เบียวโตะ ที่ต้องการเปลี่ยนคณะสงฆ์ไทยให้เข้าไปหนุนรัฐในการเข้าสงครามร่วมกับญี่ปุ่นตามสนธิสัญญาที่เป็นพันธมิตรกัน

นายฟอร์ดเล่าเรื่องของศาสตราจารย์เบียวโตะว่า เป็นนักเขียนที่มีงานเกี่ยวกับพุทธมหายานมากมาก่อน แต่ก็เป็นไปตามแนวโน้มในญี่ปุ่นยุคนั้น คือตีความพุทธธรรมตามปรัชญาเซนแบบทหาร ฆ่าสิ่งเล็กเพื่อสร้างสิ่งใหญ่ ฆ่ามารเพื่อจรรโลงธรรม

เขาเข้ามาอยู่ในเมืองไทยเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นจะยาตราเข้าสู่ประเทศไทย จึงทำให้เขาตั้งตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญพุทธเถรวาทแบบไทยด้วย ในระหว่างสงครามเขาเขียนบทความสองบทเพื่อเผยแพร่ในเมืองไทย มีเนื้อหาอย่างที่กล่าวแล้ว คือพระภิกษุไทยควรมีบทบาทส่งเสริมการสงคราม

ปรากฏว่าสองบทความนี้กว่าจะได้รับการเผยแพร่ในภาษาไทย (ซึ่งแปลจากภาษาอังกฤษอีกต่อหนึ่ง) ข้าราชการกรมการศาสนา, กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักนายกรัฐมนตรี ต่างเกษียณหนังสือคัดค้านทั้งสิ้น แต่นายกรัฐมนตรีคือจอมพล ป. พิบูลสงคราม อนุมัติให้เผยแพร่ได้ ด้วยเหตุผลทางการทูต แค่ให้เผยแพร่ แต่ระวังอย่าให้ถูกเผยแพร่ เพียงเท่านี้ ไม่พ้นฝีมือของจอมพล ป.ไปได้

แต่พอหลังสงคราม ภายใต้การแบ่งข้างในสงครามเย็น รัฐบาลไทยหลายชุดต่อกันเลือกอยู่ฝ่ายสหรัฐ เพื่อเสริมกำลังของตนเองในการต่อสู้กับคู่แข่งทางการเมืองภายในประเทศเป็นสำคัญ ซีไอเอและนักรบสงครามเย็นในสหรัฐมองเห็นมานานแล้วว่านักบวชชาวพุทธเถรวาทมีศักยภาพที่จะต่อสู้กับอิทธิพลทางความคิดของฝ่ายซ้าย ทั้งนี้ ในทุกสังคมพุทธเถรวาทตั้งแต่ศรีลังกาไปจนถึงกัมพูชาและลาว จะต้องมีกลวิธีที่จะใช้ประโยชน์พระสงฆ์ในการนี้

แต่พระสงฆ์ในแต่ละสังคมพุทธเถรวาทไม่เหมือนกัน จึงต้องมีกลวิธีที่แตกต่างกันด้วย นอกจากนี้ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ ถือหลักความเป็นรัฐฆราวาสอย่างเคร่งครัด รัฐบาลอเมริกันจะเอาเงินมาเที่ยวบำรุงศาสนาไม่ว่าภายในประเทศหรือนอกประเทศไม่ได้ ด้วยเหตุดังนั้นจึงต้องมีองค์กรบังหน้าเพื่อทำการนี้ และองค์กรดังกล่าวคือมูลนิธิเอเชีย ซึ่งมีสำนักงานในเกือบทุกประเทศพุทธเถรวาทของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (หรือแม้ไม่ใช่เช่นเวียดนามใต้)

ว่าเฉพาะเมืองไทย มูลนิธิเอเชียและกระทรวงต่างประเทศสหรัฐรู้ว่าคณะสงฆ์ไทยรังเกียจการไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เพราะนิยามคำว่า “การเมือง” ดังกล่าวไม่ชัดจึงเกิดช่องโหว่มาก จะทำอย่างไรจึงจะให้พระสงฆ์ไทยมีกิจกรรมทาง “การเมือง” โดยพระสงฆ์ไทยไม่เห็นว่าเป็น “การเมือง” แต่เป็นกิจกรรมที่สอดคล้องหรือหนุนช่วยนโยบายต่อสู้คอมมิวนิสต์ของสหรัฐ

มูลนิธิเอเชียจึงเข้าไปส่งเสริมสนับสนุนคณะสงฆ์หลายเรื่อง เช่น การศึกษาตั้งแต่ระดับมหาวิทยาลัยไปจนถึงโรงเรียนมัธยมของคณะสงฆ์, โครงการธรรมจาริกและธรรมทูตเป็นต้น สำเร็จบ้างล้มเหลวบ้าง ที่สนุกอีกอย่างหนึ่งคือการเข้าไปหนุนองค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลก ซึ่งพยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้แก่อัตลักษณ์ “ชาวพุทธ” ทั่วโลก ตรงกับนโยบายของซีไอเอด้วย เพราะทำให้เสียงของ “ศาสนิก” หนึ่งดังขึ้นมา เพื่อถ่วงดุลฝ่ายซ้ายซึ่งไม่มีศาสนา

(คนอเมริกันเชื่อถือพลังของศาสนาในการต่อสู้กับปรปักษ์ในสงครามเย็นมาก นายฟอร์ดยกคำพูดของวุฒิสมาชิกอเมริกันคนหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1950 ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง มีว่า “สหรัฐจะก้าวไปข้างหน้าด้วยมือข้างหนึ่งถือระเบิดปรมาณู และอีกข้างหนึ่งถือไม้กางเขน”)

แต่เดิมสำนักงานใหญ่ขององค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์ฯ ตั้งอยู่ที่ย่างกุ้ง ซึ่งไม่เหมาะกับนโยบายของสหรัฐนัก เนื่องจากรัฐบาลอูนุยึดถือนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อนายพลเนวินยึดอำนาจในต้นทศวรรษ 1960 เนวินก็ขับไล่สำนักงานออกจากพม่า จึงต้องย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ โดยมี ม.จ.หญิงพูนพิศมัย ดิศกุล เป็นประธาน

ท่านหญิงพูนพยายามรักษามิให้องค์กรนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” ใดๆ แต่จะว่าเป็นกลางในสงครามเย็นก็ไม่ใช่ เพราะท่านต่อต้านคอมมิวนิสต์ด้วย และด้วยเหตุดังนั้นจึงทำให้ท่าทีขององค์กรสอดคล้องกับนโยบายของสหรัฐไปโดยปริยาย ไม่พูดถึงว่ามูลนิธิเอเชียได้ให้ความช่วยเหลือแก่องค์กรด้วย

จนมาเกิดเหตุการณ์อันหนึ่งที่สะท้อนจุดยืนขององค์กรอย่างชัดเจน นั่นคือการประท้วงระบอบโงดินห์เซียมของเวียดนามใต้ ภายใต้ข้อกล่าวหาว่าชาวพุทธถูกเลือกปฏิบัติ พระสงฆ์เป็นผู้นำการประท้วง จนมาลงเอยที่การเผาตัวตายจนกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก พระสงฆ์และผู้นำองค์กรชาวพุทธเวียดนามจึงวิ่งเต้นให้องค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์โลกแสดงท่าทีคัดค้านต่อต้านรัฐบาลเวียดนาม แต่ท่านหญิงพูนทรงใช้ความสามารถและความนับถือที่ตัวแทนองค์กรพุทธทั่วโลกซึ่งเข้าร่วมประชุมประจำปี ไม่ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนทาง “การเมือง” ใดๆ ได้ทุกครั้ง

ตอนนั้นอเมริกันยังไม่ได้ตัดสินใจว่าต้องเอาโงดินห์เซียมออก ดังนั้น จุดยืนไม่ “การเมือง” ขององค์กรพุทธศาสนิกสัมพันธ์ฯ จึงเป็นการเลือกข้างฝ่ายสหรัฐอย่างชัดเจน

หลัง 14 ตุลา ชนชั้นนำไทยเชื่อว่าความเคลื่อนไหวของนักศึกษาและกรรมกรชาวนา เป็นการเคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ หนึ่งในผู้ต่อต้านการเคลื่อนไหวนี้ที่โดดเด่นที่สุดคือพระกิตติวุฑโฒ ซึ่งจากเหตุผลที่ท่านอธิบายข้อเสนอต่างๆ ของท่าน (และอาจรวมการกระทำด้วย) ให้ต่อสู้ปราบปรามฝ่ายซ้ายอย่างเด็ดขาด ก็แทบไม่แตกต่างอะไรกับข้อเสนอของศาสตราจารย์เบียวโตะในระหว่างสงคราม แต่คราวนี้ทั้งข้าราชการและคณะสงฆ์ไม่เห็นว่าเป็นการละเมิดข้อห้ามไม่ให้ภิกษุเกี่ยวข้องกับ “การเมือง” แต่อย่างใด

น่าสนใจที่นายฟอร์ดชี้ให้เห็นด้วยว่า หลัง 14 ตุลา ไม่เฉพาะแต่พระกิตติวุฑโฒเท่านั้น ยังมีพระภิกษุอื่นที่นายฟอร์ดเรียกว่า “ฝ่ายซ้าย” ก็เข้ามายุ่งเกี่ยวทาง “การเมือง” ไม่น้อยเหมือนกัน ที่มีชื่อเสียงมากคือพระมหาจัด คงสุข แห่งวัดดุสิตาราม รวมทั้งพระภิกษุชั้นผู้น้อย (คือไม่ได้ดำรงสมณศักดิ์หรือไม่มีความเชื่อมโยงกับชนชั้นนำ) อีกหลายรูป ที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ถือว่า “การเมือง” หลายเรื่อง นับตั้งแต่เรียกร้องให้คืนสมณศักดิ์แก่พระพิมลธรรม ไปจนถึงร่วมเรียกร้องกับนักศึกษาและกรรมกรชาวนา แต่ในที่สุดพระมหาจัดก็ถูกขับไล่จากวัด

อันที่จริงมาจนถึงปัจจุบัน เราได้เห็นพระภิกษุไทยมีบทบาททาง “การเมือง” อย่างชัดเจนตลอดมา ทั้งโดยการกระทำและไม่กระทำ และน่าสนใจที่จะตั้งข้อสังเกตว่า พระชั้นผู้ใหญ่จะอยู่ฝ่าย “บ้านเมือง” เสมอ เช่น ก่อนจะมีการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงใน พ.ศ.2553 องค์กรคณะสงฆ์ก็ตาม พระชั้นผู้ใหญ่ก็ตาม ไม่ได้ออกมาบิณฑบาตขอชีวิตและความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมประท้วงรัฐบาลเลย การไม่กระทำก็เป็น “การเมือง” อย่างหนึ่ง

ในทางตรงกันข้าม พระชั้นผู้น้อยกลับร่วมเคลื่อนไหวกับคนเล็กๆ ในสังคมอย่างออกหน้าหลายหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปลูกป่า การเรียกร้องให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการป่า, สมัชชาคนจน หรือแม้แต่การประท้วงของคนเสื้อแดง ก็มีพระภิกษุบางรูปเอาใจช่วยอย่างเปิดเผย

ข้อห้ามไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของคณะสงฆ์ไทย กลายเป็นข้อห้ามที่ก่อความสับสนในหมู่พระภิกษุเองไม่น้อย เพราะไม่ชัดว่า “การเมือง” หมายถึงอะไรแน่ ซ้ำยังทำให้วิจารณญาณของพระภิกษุว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็น “การเมือง” มีความแตกต่างกันระหว่างพระภิกษุที่ต่างทางฐานันดรด้วย (ความขัดแย้งกรณีพระพิมลธรรมแสดงให้เห็นว่าภายใต้ พ.ร.บ.สงฆ์ 2484 แม้ไม่ชัดเหมือนกันว่าอะไรคือ “การเมือง” แต่ความเห็นที่ต่างกันไม่ได้แยกระหว่างพระชั้นผู้ใหญ่และชั้นผู้น้อย)

ผมคิดว่า “การเมือง” สมัยพุทธกาลและปัจจุบันแตกต่างกันมาก อย่างน้อยในสมัยพุทธกาล รัฐทั้งหลายยังไม่เป็นรัฐประชาชาติหรือประชารัฐ ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงความแตกต่างทางเศรษฐกิจ, สังคม และวัฒนธรรมระหว่างสมัยพุทธกาลและปัจจุบัน ซึ่งมีอยู่อย่างไพศาล ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงอยากสรุปว่า ความรู้ในพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะทำให้พระภิกษุเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมืองของโลกปัจจุบันได้ เช่นมีระบบคุณค่าสมัยปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้รวมไว้ในระบบคุณค่าของพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่า สิทธิมนุษยชน, สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคล, ความเป็นธรรมทางสังคม, การแข่งขันโดยเสรี, อธิปไตยเป็นของปวงชน ฯลฯ

ดังนั้น เมื่อพระภิกษุเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ “การเมือง” จึงมักผิดฝาผิดตัวหรือเสล่ออยู่บ่อยๆ เช่น ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป, ความสงบเรียบร้อยทางสังคมคืออยู่ในโอวาทของผู้ปกครอง, หรือเผด็จการโดยธรรม ฯลฯ เป็นต้น

จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ผมก็คิดไม่ออกหรอกครับ เพียงแต่คิดแน่ใจว่า ที่ห้ามไม่ให้พระยุ่งเกี่ยวกับการเมือง กลับเป็น “การเมือง” เสียยิ่งกว่า เพราะคณะสงฆ์กลายเป็นเสาหลักของ “การเมือง” ของชนชั้นนำไปโดยไม่รู้ตัว