เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ | หนังสือในเรือนจำ

เคยเข้าไปพูดคุยกับผู้ต้องขังในเรือนจำเกี่ยวกับงานวรรณกรรม ซึ่งทางเรือนจำเลือกผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมจำนวนหนึ่ง หลายคนล้วนมีเรื่องราวอยากระบาย อยากเล่าผ่านข้อเขียนทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

มีคนหนึ่งกล่าวให้ฟังราวภาษิตคำคมว่า

“ประตูโบสถ์เปิดกว้าง แต่มีคนเข้าน้อยนิด

ประตูคุกปิดสนิท แต่มีคนเข้ามากมาย”

ครั้งสุดท้ายไปเยี่ยมเพื่อนผู้ต้องขังที่เรือนจำคลองเปรม กับคุณรัชนี ธงไชย แห่งโรงเรียนหมู่บ้านเด็กเมืองกาญจน์ เพื่อนผู้ต้องขังเล่าให้ฟังถึงห้องสมุดในเรือนจำว่าน่าจะพัฒนาปรับปรุงได้ดีกว่านี้ ด้วยหนังสือที่มีอยู่ขาดการคัดสรรเท่าที่ควร

ถ้าได้พัฒนาปรับปรุง หนังสือจะสร้างคนดีซึ่งจะช่วยลดภาระให้กับทางเรือนจำได้ไม่น้อยเลย

ที่โรงเรียนหมู่บ้านเด็กมีโครงการตู้หนังสือในบ้านเด็ก โดยให้ครูจากโรงเรียนต่างๆ คัดเลือกเด็กในโรงเรียน เห็นใครรักอ่านจริง ทางมูลนิธิเด็กที่ดูแลหมู่บ้านเด็กจะจัดตู้บรรจุหนังสือที่เหมาะสมตามวัยและความชอบของเด็กไปมอบให้เด็กไว้ที่บ้านของเด็กเองเลย

ไม่ใช่มอบให้หรือมอบไว้ที่โรงเรียน

มีเงื่อนไขว่า เด็กที่ได้ตู้หนังสือต้องชวนเพื่อนมาอ่านด้วย ทางโรงเรียนหมู่บ้านเด็กจะสำรวจความเป็นไป พร้อมจะเปลี่ยนหนังสือให้ใหม่ในระยะเวลาหนึ่งสืบไป

ปัจจุบันมีเด็กอยู่ในโครงการทุกภาคทั่วประเทศแล้วถึงกว่าหนึ่งพันคน กว่าพันตู้

เป็นการสร้างโอกาสการเข้าถึงหนังสือของเด็กผู้ด้อยโอกาส และเป็นการนำหนังสือดีเข้าถึงเด็กผู้ต้องการโอกาสด้วย

เพราะฉะนั้น ความคิดของเพื่อนผู้ต้องขังในเรือนจำเรื่องหนังสือ ห้องสมุดในเรือนจำจึงน่าชื่นชมยิ่ง ด้วยเป็นการสร้างโอกาสเข้าถึงหนังสือของผู้ขาดโอกาสและเป็นการนำหนังสือดีเข้าถึงผู้ต้องการโอกาสนั้นด้วย

เด็กเป็นผู้ด้อยโอกาส

ผู้ต้องขังเป็นผู้ขาดโอกาส

หนังสือที่ดีที่เหมาะสมจะเป็นสิ่งเติมเต็มให้แก่เขาได้อย่างดียิ่ง

เรานำเรื่องนี้มาคุยกันเชิงเสวนาโดยมีเจ้าหน้าที่เรือนจำร่วมด้วย เห็นพ้องต้องกันว่าควรเป็นโครงการที่ต้องดำเนินให้เป็นรูปธรรม คือนอกจากคัดสรรหนังสือดีเข้าห้องสมุดเรือนจำแล้วควรมีกิจกรรมร่วมอ่านหนังสือคือ นอกจากอ่านแล้วยังร่วมพูดคุยถึงสิ่งที่ได้จากหนังสือนั้นๆ ด้วย เป็นกลุ่มอ่านหนังสือนั่นเอง

เพราะหนังสือเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้จริง

ขอยกตัวอย่าง ผู้ขาดโอกาสคนหนึ่ง เธอเป็นหญิงสาวตาบอดข้างเดียวมาแต่กำเนิด เพราะคลอดก่อนกำหนด ต้องเข้าตู้อบ ทำให้ตาข้างซ้ายบอดสนิท ฟังเธอเล่าดีกว่า

“…แต่ฉันก็ไม่ลำบากอะไรกับการมองโลกด้วยดวงตาข้างเดียว ฉันเรียนวิ่งเล่นอย่างเพลิดเพลินและสดใสในวัยเด็ก เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นฉันเริ่มวาดฝันอนาคต ฉันมักจะสมมุติว่าตัวเองได้ทำอาชีพต่างๆ ฉันจะมีชีวิตอย่างไร เป็นครู เป็นหมอ เป็นพยาบาล กระทั่งจินตนาการไปถึงอาชีพนักบินอากาศ

แต่ฉันก็ถูกความเป็นจริงกระชากให้ตื่นจากฝันงดงาม เมื่อวันหนึ่งฉันลืมตาตื่นขึ้นมาแล้วพบว่า ตนเองกลายเป็นคนตาบอดสนิทไปเสียแล้ว

“เมื่อโลกภายนอกดับมืดลง ครูสอนวิชาภาษาไทยจูงมือฉันให้ออกเดินทางสำรวจโลกภายในผ่านเสียงอ่านหนังสือบทกวี เล่มแล้วเล่มเล่า ฉันค้นพบดวงไฟขาววิสุทธิ์ที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในตน

ฉันใช้แสงสว่างนี้นำทาง พาตนเองก้าวเดินมาจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง นิเทศศาสตร์ (ประชาสัมพันธ์) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม”

เธอใช้นามปากกาเขียนกวีว่า “รินศรัทธา กาญจนวตี” ชื่อเล่นที่เราเรียกกันคือน้อง “ลูกหมู”

นี่คือกลอนบทหนึ่งที่เธอเขียนไว้ในหนังสือ “ทุกขณะกระจ่างรัดสัมผัสใจ”

โลกความจริงมืดยิ่งกว่า “หลับตาสนิท”

ยังมีสิทธิ์เห็นความงาม ความสดใส

เมื่อตาหลับกลับสว่าง กว้างและไกล

ฉันมี “โลกดวงใหญ่” อยู่ในนั้น ฯ

โลกดวงใหญ่ของน้องลูกหมูคือ โลกของการอ่านและเขียนหนังสือ อันเป็นดั่งดาวฤกษ์ส่องแสงได้ในตัว ให้สว่างทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น

เธอมีโอกาสได้อ่านหนังสือทั้งจากเสียงและจากสื่อพิเศษสำหรับคนพิการทางสายตา หนังสือได้สร้างชีวิตใหม่ให้กับเธอได้จริง

นี่คือบทพิสูจน์ว่า หนังสือเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีกว่าเดิมได้

ผู้ต้องขังในเรือนจำไทยว่าเวลานี้มีถึงเกือบสี่แสนคน นับเป็นผู้ขาดโอกาสที่ดูเหมือนจะเป็นภาระทั้งแก่รัฐและสังคม การสร้างโอกาสให้เขาได้พัฒนาชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากกระบวนการทั้งหลายบรรดามีนั้นแล้ว การให้เขาได้เข้าถึงหนังสือ และกิจกรรมเกี่ยวกับหนังสือตามเหมาะสม ควรเป็นกระบวนการหนึ่งที่ต้องทำ

โครงการหนังสือในเรือนจำกำลังเริ่มแล้ว

มีคำกล่าวว่า “คนรู้หนังสือ แต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนไม่รู้หนังสือ” เวลานี้มีคนไม่รู้หนังสืออยู่มากมาย เพราะไม่อ่านหนังสือ

เหตุสำคัญประการหนึ่งที่คนไม่อ่านหนังสือทั้งที่รู้หนังสือ ก็คือ โอกาสที่คนจะเข้าถึงหนังสือกระทั่งรักการอ่านหนังสือนั้นมีน้อยเกินไปหรือแทบไม่มีเลย จนมีคำเปรียบเปรยว่า

ห้องสมุดคือคุกขังหนังสือ

ช่วยกันเปิดประตูคุกให้หนังสือได้เข้าถึง

ดวงตาที่เรือนจำไม่อาจจำจองกันเถิด