รัฐบาลเหวี่ยงแหออกมาตรการ ช็อปกินเที่ยวช่วยชาติส่งท้ายปีลิง หวังดัน ศก.ฟื้นต่อเนื่องถึงปีระกา

เหลือเวลาอีกไม่กี่วัน!! สำหรับบรรดาขาช็อป หรือไลฟ์สไตล์ชอบการท่องเที่ยวทั้งหลาย ที่ต้องรีบใช้สิทธิ์มาตรการช็อปช่วยชาติ ที่รัฐบาลได้มอบของขวัญชิ้นงามให้แก่มนุษย์เงินเดือน หรืออาชีพอิสระที่มีรายได้ต่อปีสูง สามารถใช้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีเงินได้วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่รวม 18 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดมาตรการในวันที่ 31 ธันวาคมนี้

มาตรการนี้ นอกจากเพิ่มช่องทางให้เหล่าผู้เสียภาษีมีโอกาสเสียภาษีลดลง แถมยังได้ช็อป กิน ดื่ม เที่ยว พักค้างแรมได้กันอย่างสุดเหวี่ยงหลังจากที่ก่อนหน้านี้เพียงไม่กี่วัน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยให้นำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1-31 ธันวาคม 2559 มาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 15,000 บาท เช่นกัน

นับเป็นโชค 2 เด้ง ในเดือนแห่งความสุขส่งท้ายปีลิงซึม เศรษฐกิจซบ

 

มาตรการทางภาษี ถือเป็นมาตรการท็อปฮิตติดชาร์จ ที่รัฐบาลมักหยิบมากระตุ้นการใช้จ่ายของกลุ่มชนชั้นกลางขึ้นไปนับตั้งแต่ปลายปี 2557 เป็นต้นมา หากพิจารณาเฉพาะปี 2559 คนไทยได้เห็นรัฐบาลออกมาตรการทางภาษี เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างไม่ขาด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลวันหยุดยาวของคนไทย อย่างเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบมาตรการภาษี 2 เรื่อง ได้แก่

1. มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายท่องเที่ยวช่วงสงกรานต์ โดยบุคคลธรรมดาสามารถนำรายจ่ายจากการ กิน-เที่ยวช่วยชาติ หรือค่าใช้จ่ายจากการจ่ายค่าอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร (ไม่รวมสุรา เบียร์ ไวน์) รวมถึงค่าที่พักโรงแรม ระหว่างวันที่ 9-17 เมษายน 2559 รวมแล้ว 9 วัน มาหักเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15,000 บาท

2. ต่อยอดมาตรการด้านท่องเที่ยวจากเดิมที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2558 กำหนดให้มาตรการมีผลต่อเนื่องย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 โดยให้บุคคลธรรมดา ตลอดจนบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีการจัดโครงการอบรมสัมมนาภายในประเทศ สามารถนำค่าใช้จ่ายทางด้านโรงแรม ราคาแพ็กเกจทัวร์หรือการท่องเที่ยว นำไปใช้หักลดหย่อนภาษีได้ถึงปลายปี 2559 นี้ วงเงินไม่เกิน 15,000 บาท หากรวมมาตรการท่องเที่ยวล่าสุด เท่ากับว่าผู้เสียภาษีสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 45,000 บาท

นอกจากนี้ ตลอดเดือนสิงหาคม ซึ่งตรงกับวันแม่แห่งชาติ รัฐบาลได้ไฟเขียวมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่น หรือช็อปสินค้าโอท็อปช่วยชุมชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจรากหญ้าให้คึกคัก โดยสามารถนำมาหักกลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมได้ไม่เกิน 15,000 บาท

ในครั้งนั้นรัฐบาลคาดว่าจะมีเงินสะพัด 1 หมื่นล้านบาท กระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่มาก

หากพิจารณาจากมาตรการทั้ง 5 ในปี 2559 ที่รัฐบาลมอบให้กับประชาชนที่มีหน้าที่เสียภาษี และได้ใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือค่าบริการต่างๆ รวมแล้วประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 75,000 บาทต่อราย

ขณะที่รัฐบาลสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีไปมูลค่าหลายพันล้านบาท

อย่างมาตรการช็อปช่วยชาติล่าสุด รัฐบาลออกมายอมรับว่า จะสูญเสียรายได้จัดเก็บราว 3.2 พันล้านบาท

แต่ในแง่ผลลัพธ์กลับคืนด้วยเม็ดเงินเพิ่มในระบบเศรษฐกิจมากถึง 20,000 ล้านบาท

 

สําหรับมุมมองจากผู้ประกอบการต่อแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศ ผ่านมาตรการทางภาษีนั้น มีเสียงสะท้อนแตกต่างกันออกไป

อย่างกลุ่มเซ็นทรัล โดย นายพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ระบุว่า มาตรการช็อปช่วยชาติถือว่าดีมาก ช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายมากขึ้น เชื่อว่ามาตรการนี้จะประสบความสำเร็จมากกว่าครั้งที่ผ่านๆ มาอีก เพราะรู้สึกว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความสนใจและตั้งตารอที่จะเข้าร่วมมาตรการนี้อยู่แล้ว เชื่อว่าจะช่วยผลักดันให้ยอดการซื้อสินค้าประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

หรืออย่าง นายอนวัช สังขะทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ที่เห็นไม่ต่างกันว่า แคมเปญช็อปช่วยชาติ เชื่อมั่นว่าจะส่งผลดีต่อด้านจิตวิทยา และช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของประชาชนได้เป็นอย่างดี ทางห้างมีความพร้อมทั้งด้านการบริการ การออกบิล

ด้าน นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส ระบุไม่ต่างกันว่า มาตรการนี้ คิดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของลูกค้ามีความคึกคักมากยิ่งขึ้น แม้ตอนนี้อาจจะยังไม่คึกคักเท่าที่ควร เพราะบางส่วนรอในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปี 2559

 

ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มาตรการช็อปช่วยชาติ จะเป็นโอกาสในการเพิ่มยอดขายให้กับบรรดาผู้ประกอบการค้าปลีก ร้านอาหาร และธุรกิจบริการ โดยจากผลสำรวจพบว่า ประชาชนกว่า 60% ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด สนใจใช้สิทธิตามมาตรการเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นกว่าปีที่แล้ว

โดยในจำนวนนั้น 34% ระบุว่าจะใช้สิทธิเต็มจำนวน

คาดว่าผลจากมาตรการจะกระตุ้นให้มีเม็ดเงินกระจายไปสู่ธุรกิจต่างๆ ราว 1.3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นค้าปลีกสินค้าและบริการทั่วไปรวม 1.2 หมื่นล้านบาท และร้านอาหาร 1 พันล้านบาท

แม้จะได้เห็นเสียงสนับสนุนจากกลุ่มธุรกิจค้าปลีก แต่อีกมุมมองจากภาคธุรกิจท่องเที่ยว แม้ในทางผลประโยชน์จะตกกับธุรกิจจากค่าลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดารวมกัน 3 ครั้งในรอบปี 2559 มูลค่าถึง 4.5 หมื่นล้านบาท แต่ในความเป็นจริงเจ้าของธุรกิจก็ออกมายอมรับว่า จะได้ผลในเชิงจิตวิทยามากกว่าการออกมาใช้จ่ายจริง

โดย นายอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ยอมรับว่า มาตรการนี้จะได้ผลในเชิงจิตวิทยา สร้างความรู้สึกคึกคักในการจับจ่ายใช้สอย มากกว่าการจะออกมาจับจ่ายใช้สอยจริง ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันยังซบเซา ธุรกิจท่องเที่ยวถือเป็นความบันเทิงหนึ่ง

การท่องเที่ยวจะเกิดขึ้น เมื่อบุคคลนั้นไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ

 

แต่สำหรับกลุ่มคนที่แม้จะเข้าข่ายต้องเสียภาษี แต่ก็อาจไม่ใช้สิทธิ์ผ่านการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวก็น่าจะมีจำนวนมาก เพราะต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายในส่วนที่จำเป็น

ดังนั้น มาตรการนี้จะเห็นผลสำหรับกลุ่มคนที่มีฐานะดีจริงๆ และพร้อมใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม สทท. มองว่า หากรัฐบาลจะให้เห็นผลในเชิงรูปธรรมจริง การกระตุ้นให้เศรษฐกิจในภาพรวมดี ก็เป็นหนทางที่ดีสุด เพราะเมื่อเศรษฐกิจดี ก็จะเกิดกำลังใจตามมา เกิดการจับจ่ายใช้สอยด้านท่องเที่ยวเอง

ซึ่งตรงนี้จะโทษรัฐบาลคงไม่ได้ เพราะภาพรวมเศรษฐกิจโลกก็ไม่ค่อยดีเช่นกัน

เช่นเดียวกับ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่ระบุว่า มาตรการลดหย่อนภาษี หากให้ประเมินกลุ่มที่ได้ประโยชน์ มีเพียงตระกูลใหญ่ๆ ที่ครอบครองธุรกิจใหญ่ๆ เป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรมขนาดใหญ่มากกว่า

สมาคมมองว่า หากรัฐบาลต้องการให้เกิดการช่วยเหลือคนไทย เศรษฐกิจไทย ควรเลือกการช่วยเหลือที่ลงถึงรากหญ้า เกษตรกร

อาจใช้วิธีซื้อของผ่านสหกรณ์ ได้ลดหย่อนภาษี ไม่ใช้ให้ซื้อของผ่านร้านค้าขนาดใหญ่แบบที่ทำกันอยู่ เพราะสุดท้ายผลประโยชน์ก็ตกกับกลุ่มนายทุนไม่กี่รายในเมืองไทย

 

ซึ่งจากข้อมูลฐานจำนวนจ่ายภาษีของกรมสรรพากร ล่าสุด พบว่า คนไทย 65.7 ล้านคน ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 ปีภาษี 2557 ราวจำนวน 10.3 ล้านคน

กลับมีเพียงแค่ 4 ล้านคน จ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีงบประมาณ 2558 ให้กรมสรรพากรเป็นเงินประมาณ 302,491 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือราว 6.3 ล้านคน มายื่นแบบ ภ.ง.ด.90-91 แต่ไม่ต้องจ่ายภาษี เพราะมีรายได้สุทธิไม่ถึง 1.5 แสนบาทต่อปี

เท่ากับว่า ผลประโยชน์จากมาตรการนี้ จะตกอยู่กับประชาชนที่ต้องเสียภาษีไม่กี่ล้านคนเท่านั้น

ซึ่งแต่ละคนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีสูงสุด 75,000 บาท จากทั้ง 5 มาตรการรวมกัน

ซึ่งจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจปีลิงที่ยังเป็นลิงซึมๆ ให้กลับมาสดใสพร้อมต้อนรับปีระกาได้มากน้อยเพียงใดนั้น ต้องรอดูฝีมือของรัฐบาล…