ต่างประเทศ : อีสเตอร์นองเลือด ที่ศรีลังกา

วันอีสเตอร์ถือเป็นอีกวันสำคัญของชาวคริสต์ เนื่องจากเป็นวันเฉลิมฉลองที่พระเยซูคริสต์ทรงคืนพระชนม์ชีพจากความตาย ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 21 เมษายน โดยชาวคริสต์จะเดินทางไปร่วมพิธีกรรมในโบสถ์

หากแต่อีสเตอร์ปีนี้ สำหรับชาวศรีลังกา กลับกลายเป็นวันนองเลือดครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามกลางเมืองในศรีลังกาเมื่อ 10 ปีก่อน

เนื่องจากเกิดระเบิดขึ้นหลายจุดทั่วประเทศ

ทั้งโบสถ์ที่คลาคล่ำไปด้วยชาวคริสต์ที่ไปทำพิธีเนื่องในวันอีสเตอร์

และตามโรงแรมที่เต็มไปด้วยผู้คน

ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งทะลุไปกว่า 320 ราย บาดเจ็บกว่า 500 คน

มีชาวต่างชาติเสียชีวิต 35 ราย โดยมีชาวอเมริกัน 4 คน เนเธอร์แลนด์ 3 คน เดนมาร์ก 3 คน อังกฤษ 8 คน และอินเดีย 8 คน

นอกจากนี้ยังมีคนจากชาติตุรกี ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น และโปรตุเกส ที่เสียชีวิตจากเหตุรุนแรงในศรีลังกาครั้งนี้ด้วย

 

ระเบิดลูกแรกดังขึ้นที่วิหารเซนต์แอนโธนีในกรุงโคลัมโบ หลังจากนั้นเกิดระเบิดขึ้นที่เซนต์เซบาสเตียน เมืองเนกอมโบ ตามด้วยโบสถ์แห่งที่ 3 โบสถ์ไซออน ที่เมืองบัตติคาโลอา ในเวลาไล่เลี่ยกันก็เกิดเหตุระเบิดขึ้นที่โรงแรม 3 แห่งในกรุงโคลัมโบ ได้แก่ โรงแรมซินนามอน แกรนด์ โรงแรมแชงกรี-ลา และโรงแรมคิงส์บูรี

เหตุระเบิดป่วนศรีลังกาสร้างความโกลาหลไปทั่วประเทศ ผู้คนต่างพากันหวาดกลัว ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตถูกปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่ในอีกไม่กี่ชั่วโมงต่อมาจะมีรายงานเกิดระเบิดขึ้นที่จุดที่ 7 เป็นโรงแรมแห่งที่ 4 ที่โดนระเบิด ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับสวนสัตว์แห่งชาติ ที่เมืองเทฮีวาวาลา ตอนใต้ของกรุงโคลัมโบ เบื้องต้นมีรายงานผู้เสียชีวิต ณ จุดนี้อย่างน้อย 2 คน

ก่อนที่จะมีรายงานระเบิดจุดที่ 8 แต่จุดนี้เป็นเหตุระเบิดที่บ้านหลังหนึ่งชานกรุงโคลัมโบ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปตรวจค้นในบ้าน ก็เกิดการระเบิดฆ่าตัวตายขึ้น และทำให้มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 3 นาย

 

เหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นต่อเนื่องถึง 8 จุดในศรีลังกา ทำให้ทางการต้องประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศในคืนวันนั้น และระงับการใช้สื่อสังคมออนไลน์และแอพพลิเคชั่นส่งข้อความใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อป้องกันการสื่อสารข้อมูลที่ผิดพลาดและป้องกันการเผยแพร่ข่าวลือต่างๆ

หลังจากนั้นอีก 1 วัน ก็ยังเกิดเหตุระเบิดขึ้นใกล้กับวิหารเซนต์แอนโธนี ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังปลดชนวนระเบิดที่พบ แต่โชคดีที่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ และยังพบเครื่องจุดระเบิดอีกถึง 87 เครื่องที่สถานีรถโดยสารแห่งหนึ่งในกรุงโคลัมโบ

เอเอฟพีรายงานว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดเหตุ 10 วัน ผู้บัญชาการตำรวจ พูจูธ จายาซุนดารา ได้ส่งคำเตือนข่าวกรองไปยังผู้บัญชาการระดับสูงของศรีลังกาทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 11 เมษายน แจ้งเตือนว่ามีการวางแผนที่จะก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายขึ้นตามโบสถ์สำคัญต่างๆ

โดยในเอกสารแจ้งเตือนที่ถูกส่งไปยังตำรวจทั่วประเทศที่ทางเอเอฟพีได้รับ ระบุว่าข่าวกรองต่างชาติแห่งหนึ่งแจ้งเตือนว่า เนชั่นแนล โธวีธ จามัธ (เอ็นทีเจ) วางแผนที่จะก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย โดยมีเป้าหมายคือโบสถ์สำคัญๆ

หากแต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์นองเลือดขึ้นจนได้

 

โดยตอนนี้ ดูเหมือนกลุ่มเอ็นทีเจจะตกเป็นเป้าหมายของทางการศรีลังกาว่าน่าจะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการก่อเหตุโจมตีต่อเนื่องในศรีลังกา โดยกลุ่มเอ็นทีเจเป็นกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงในศรีลังกา ที่โดดเด่นขึ้นมาเมื่อช่วงปีก่อน หลังจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายพระพุทธรูป

แต่รัฐบาลศรีลังกาก็เชื่อว่ากลุ่มเอ็นทีเจน่าจะได้รับการช่วยเหลือจากต่างชาติในการก่อเหตุครั้งนี้ เพราะกลุ่มติดอาวุธเล็กๆ เช่นเอ็นทีเจ ไม่น่าที่จะมีความสามารถในการก่อเหตุรุนแรงขนาดใหญ่แบบนี้ได้

อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงล่าสุดจากกระทรวงกลาโหมของศรีลังการะบุว่า จากการสอบสวนเบื้องต้นพบว่าการก่อเหตุระเบิดอีสเตอร์นั้น เป็นการแก้แค้นให้กับการโจมตีมัสยิดที่เมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเร็วๆ นี้

และเป็นฝีมือของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง 2 กลุ่ม คือ เอ็นทีเจ กับกลุ่มจัมมิยาทูล มิลลาทู อิบราฮิม (เจเอ็มไอ) กลุ่มติดอาวุธในศรีลังกาอีกกลุ่มหนึ่ง

 

หากเป็นจริง ก็ถือเป็นเหตุรุนแรงอันเกิดจากความขัดแย้งทางศาสนาครั้งล่าสุดที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อยคนเช่นนี้ ซึ่งศรีลังกาถือเป็นประเทศที่เจอกับความขัดแย้งทางชนชาติและทางศาสนามาก่อน อันเนื่องมาจากความหลากหลายของเชื้อชาติและศาสนา

โดยศรีลังกามีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และมีผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกอยู่ราว 6 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น โดยพวกชาวสิงหลส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนพวกทมิฬนับถือศาสนาฮินดู บางส่วนนับถือคริสต์ และพวกชาวมัวร์จะนับถือศานาอิสลาม

ในอดีตที่ผ่านมา ศรีลังกาต้องเผชิญหน้ากับปัญหาความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา จากความพยายามของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม ที่ต้องการจะตั้งรัฐทมิฬขึ้น และก่อเหตุรุนแรงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ 1983 กลายเป็นสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก่อนที่กลุ่มทมิฬอีแลมจะปราชัยปี 2009 สมัยที่นายมหินทรา ราชปักษา เป็นประธานาธิบดีศรีลังกา

เป็นอันสิ้นสุดสงครามกลางเมืองที่มีมายาวนานเกือบ 26 ปี และหลังจากนั้นศรีลังกาก็ไม่ได้เจอกับการก่อการร้ายรุนแรงอีกเลย

 

เหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่มีกลุ่มใดออกมาอ้างว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ก็ไล่จับผู้ต้องสงสัยได้นับสิบรายแล้ว

หากมองไปที่ความขัดแย้งทางศาสนาก็จะพบว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเกิดเหตุปะทะกันระหว่างชุมชนชาวพุทธที่เป็นชาวสิงหลและกลุ่มมุสลิมอยู่บ่อยครั้ง โดยเมื่อเดือนมีนาคมปีที่ผ่านมา รัฐบาลถึงกับต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน 12 วัน เพื่อปราบปรามกลุ่มต่อต้านมุสลิม

ขณะที่กลุ่มชาวคริสต์เองก็ออกมาร้องเรียนเกี่ยวกับการถูกกลุ่มชาวพุทธหัวรุนแรงก่อความรังควานอยู่เป็นประจำ

ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ คือเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยวของศรีลังกาที่อาจจะซบเซาลงไป หลังจากเพิ่งฟื้นขึ้นมาหลังสิ้นสุดสงครามกลางเมือง

ที่ก็คงต้องรอเวลาในการฟื้นฟูกันต่อไป