พิศณุ นิลกลัด : ทำไมถึงฝันอยากเป็นนักเตะอาชีพ

พิศณุ นิลกลัด

ตลาดซื้อขายนักเตะรอบแรกของพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2016/2017 หรือที่เรียกว่า Transfer Window เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม และสิ้นสุดวันที่ 31 สิงหาคม

ตามกฎของพรีเมียร์ ลีก ตลาดซื้อขายนักเตะเปิดการซื้อขาย 2 รอบ

รอบสองระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 1 กุมภาพันธ์ 2560

ย้อนไปเมื่อร้อยกว่าปี ก่อนที่จะมีการออกกฎกำหนดวันเวลาเริ่มต้นและวันสุดท้ายของตลาดซื้อขายนักเตะเตะในทีมฟุตบอลของอังกฤษ สามารถย้ายทีมเตะได้ตลอดเวลา เสาร์นี้เล่นให้กับทีมนี้ เสาร์หน้าสามารถย้ายไปลงเล่นให้กับอีกทีมหนึ่งได้

พอถึงปี 1885 สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (Football Association) ได้เล็งเห็นว่า นักฟุตบอลเป็นอาชีพจริงจัง ดังนั้น ต้องมีการลงทะเบียน เซ็นสัญญาเป็นนักเตะให้แต่ละทีมในแต่ละฤดูกาล

เมื่อนักเตะลงทะเบียนเป็นนักเตะให้กับทีมใดทีมหนึ่งแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนไปเล่นให้กับทีมอื่นในฤดูกาลเดียวกันได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากสมาคมฟุตบอลและต้นสังกัดให้เปลี่ยนทีมได้

ต่อมาในปี 1888 มีการก่อตั้ง Football League เป็นฟุตบอลลีกอาชีพแรกของโลก ประกอบด้วยสโมสรฟุตบอลอาชีพ 12 ทีม ซึ่งทีมพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาล 2016/2017 ที่จะถึงนี้ มีทีมเอฟเวอร์ตัน, สโต๊ก ซิตี้ และเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ที่อยู่ใน 12 ทีมแรกของการก่อตั้ง

ในอดีต นักฟุตบอลอาชีพอังกฤษได้ค่าตัวน้อยนิด โดยฟุตบอลลีกได้กำหนดค่าแรงสูงสุดไว้ว่าห้ามเกิน 4 ปอนด์ หรือ 185 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งรายได้ไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

นักฟุตบอลอาชีพอังกฤษสมัยนั้นจึงต้องหางานอื่นทำเป็นรายได้เสริม

ต่อมาในปี 1907 มีการก่อตั้งสหภาพนักฟุตบอลขึ้นเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของนักเตะ นับจากนั้น รายได้ต่อสัปดาห์ของนักเตะก็สูงขึ้น แต่ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

มาถึงปี 1961 สหภาพนักฟุตบอลต่อสู้และยกเลิกการกำหนดค่าแรงสูงสุดนักฟุตบอลได้สำเร็จ

ก่อนหน้าที่จะมีการยกเลิกกำหนดค่าแรงสูงสุด นักฟุตบอลอาชีพ ห้ามได้ค่าแรงเกิน 20 ปอนด์ หรือ 930 บาทต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นรายได้ใกล้เคียงกับอาชีพคนงานทั่วไป

สําหรับพรีเมียร์ ลีก ฤดูกาลล่าสุด 2015/2016 โดยเฉลี่ย นักเตะได้ค่าตัวสัปดาห์ละ 44,000 ปอนด์ (2 ล้านบาท) หรือ 2.29 ล้านปอนด์ต่อปี (106 ล้านบาท)

เวย์น รูนี่ย์ ได้เงินต่อสัปดาห์มากเป็นอันดับต้นๆ ในพรีเมียร์ ลีก คือ 260,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (12 ล้านบาท)

รายได้ของนักเตะพรีเมียร์ ลีก ในปัจจุบันคิดเป็นจำนวนเงินมหาศาลเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อปีของคนในสหราชอาณาจักรซึ่งได้รับ 27,000 ปอนด์ หรือ 1.2 ล้านบาท

นักเตะพรีเมียร์ ลีก ทำงานหนึ่งสัปดาห์ได้เงินมากกว่าคนอังกฤษทั่วไปทำงานทั้งปี!

หากนักเตะพรีเมียร์ ลีก ได้รับบาดเจ็บเพราะการแข่งขัน หรือฝึกซ้อม เล่นต่อไม่ได้ทั้งฤดูกาล นักเตะยังคงได้รับค่าตัวทุกสัปดาห์เช่นเดิมเพราะนักเตะล้วนมีค่าตัวมหาศาล ทางทีมจะซื้อประกันให้กับนักเตะเผื่อไว้ในกรณีที่บาดเจ็บลงแข่งไม่ได้ โดยบริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบจ่ายค่าตัวให้กับนักเตะที่บาดเจ็บตามจำนวนเงินที่ระบุไว้ในสัญญา

แต่ในกรณีที่นักเตะบาดเจ็บเพราะทำกิจกรรมโลดโผนที่ห้ามไว้ในสัญญา เช่น เล่นสกี กระโดดบันจี้ จัมพ์ ทางทีมไม่ต้องจ่ายค่าตัวให้กับนักเตะเพราะถือว่าทำผิดสัญญา

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก สมัยนี้มีรายได้มหาศาล มาจากรายได้การขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดทั่วโลก

ประมาณกันว่ารายได้จากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันพรีเมียร์ ลีก ระหว่างปี 2013-2016 เป็นเงินถึง 5,500 ล้านปอนด์ หรือ 256,000 ล้านบาท

ทุกทีมในพรีเมียร์ ลีก จะได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกว่า 2,700 ล้านบาทต่อปี

จากรายได้มหาศาลในวงการฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ที่เห็นจึงไม่น่าแปลกใจที่ค่าตัวนักเตะระดับโลกหลายคนถึงสูงลิบลิ่วเป็นสิบเป็นร้อยล้านปอนด์ ชนิดที่คนอาชีพอย่างเราๆ เขียนตัวเลขกันไม่ถูกเลยทีเดียว