พระปรมาภิไธย | บทความโดย ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

ถ้าผมจะขึ้นต้นเรื่องเล่าประจำสัปดาห์นี้โดยกล่าวว่า ในหลวงรัชกาลที่หนึ่งและในหลวงรัชกาลที่สอง พระองค์ท่านไม่เคยทราบเลยแม้จนสวรรคตว่า พระองค์ท่านมีพระปรมาภิไธยอย่างย่อที่รู้จักกันทุกวันนี้ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

เหตุที่เป็นอย่างนี้ไม่น่าแปลกใจครับ เพราะพระปรมาภิไธยเช่นที่เรารู้จักกันนี้เพิ่งจะถวายในรัชกาลที่สามนี่เอง

ต้องย้อนความไปสมัยเมื่อเราเรียนหนังสือตอนเป็นเด็กครับ

คุณครูบอกว่าพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ตามแบบที่เป็นทางการนั้นยืดยาวมาก

อีกทั้งมีธรรมเนียมที่ประชาชนจะไม่เรียกขานพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์โดยพร่ำเพรื่อ เพราะถือเป็นการไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง

ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกพระเจ้าแผ่นดินของตัวเองว่า ขุนหลวงหรือในหลวง เพียงแค่นั้นก็เข้าใจกันแล้ว

ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปมีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ที่ต้องกล่าวถึงในเนื้อความเดียวกัน ผู้คนในสมัยรัชกาลที่สามจึงเรียกขานในหลวงรัชกาลที่หนึ่งและรัชกาลที่สองว่า “แผ่นดินต้น” และ “แผ่นดินกลาง” ตามลำดับ

เป็นเหตุให้ในหลวงรัชกาลที่สามทรงพระวิตกว่าหากปล่อยให้เป็นอย่างนี้ต่อไป รัชกาลของพระองค์ท่านจะกลายเป็น “แผ่นดินปลาย” หรือ “แผ่นดินท้าย” ไปเสีย

เพื่อแก้ความขัดข้องเรื่องนี้จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องขึ้นสององค์

ทรงถวายพระนามพระพุทธรูปว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกและพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่หนึ่งและรัชกาลที่สอง

กับทั้งมีประกาศให้เรียกนามแผ่นดินทั้งสองตามนามพระพุทธรูปที่ได้ทรงถวายไว้

ด้วยความเป็นมาอย่างนี้เราจึงเรียกขานรัชกาลที่หนึ่งว่าพระบาทสมเด็จพระพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และรัชกาลที่สองว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

โดยที่ทั้งสองพระองค์ไม่เคยทรงได้ยินพระปรมาภิไธยเช่นนี้มาก่อนเลย

ถ้าเราอยากทราบต่อไปว่า แล้วพระปรมาภิไธยที่แท้ ซึ่งจารึกลงในพระสุพรรณบัฏและทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นมีเนื้อความว่าอย่างไร

และที่ว่ายืดยาวนั้นยืดยาวเช่นไร

ผมไปค้นมาให้ได้แล้วครับ พระปรมาภิไธยดังต่อไปนี้เป็นพระปรมาภิไธยที่ใช้เหมือนกันตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่งจนถึงรัชกาลที่สาม

และน่าเชื่อว่าจะเป็นแบบแผนที่สืบมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาด้วยซ้ำ

ลองอ่านดูครับ ท่านว่าไว้อย่างนี้

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาษกรวงษ์ องค์ปรมาธิเบศร์ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หรหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบุลย์คุณอกณิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต์ บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชไชย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมินทรปรมาธิเบศร์ โลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประเทศคตา มหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

เมื่อได้อ่านได้เห็นเช่นนี้แล้วก็พอเข้าใจแล้วนะครับว่า เหตุใดจึงต้องมีพระปรมาภิไธยอย่างกลางและอย่างย่อเกิดขึ้น

ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติของผู้คนทั้งหลายนั่นเอง

ธรรมเนียมที่มีพระปรมาภิไธยอย่างเต็มซ้ำกันทุกรัชกาลตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่งจนถึงรัชกาลที่สามนี้มาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในรัชกาลที่สี่

ข้อที่ทรงเปลี่ยนแปลงนี้โดยสรุปก็คือ พระปรมาภิไธยอย่างเต็มนั้นจะมีข้อความยาวขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ยังเขียนให้มีสัมผัสคล้องจองกันอย่างร่ายตามขนบ

เนื้อความที่เพิ่มเติมขึ้นคือข้อความที่อ่านแล้วจะเกิดความรู้ว่า พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นทรงมีเชื้อสายสืบมาอย่างไร มีพระรูปพระโฉมงดงามอย่างไร ทรงมีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดบ้าง ทรงมีพระเกียรติยศเป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั้งหลายเช่นไร

ความยาวนั้นถ้าพูดให้คนสมัยนี้เข้าใจง่ายก็ต้องบอกว่ายาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษเอสี่เลยทีเดียว

เมื่อพระปรมาภิไธยอย่างเต็มมีความยาวเช่นนั้น ทางราชการก็ต้องกำหนดให้แน่นอนว่าถ้าจะเรียกขานพระปรมาภิไธยอย่างกลางหรืออย่างย่อควรใช้ถ้อยคำว่าอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ในรัชกาลที่สี่ มีการกำหนดให้ใช้พระปรมาภิไธยอย่างกลางว่า

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ สุทธิสมมติเทพยพงษ์ วงษาดิศวรกระษัตริย์ วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมจักรพรรดิราชสังกาศ บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

มีพระปรมาภิไธยอย่างย่อที่หนึ่งว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และอย่างย่อแบบที่สองว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระปรมาภิไธยอย่างยาวที่มีข้อความพรรณนาพระกิตติคุณตามแบบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ได้ใช้เป็นแนวทางของพระปรมาภิไธยที่จารึกในพระสุพรรณบัฏของรัชกาลที่ห้า รัชกาลที่หก และรัชกาลที่เจ็ดต่อเนื่องกันมาทุกรัชกาล

ครั้นมาถึงรัชกาลที่แปด ยังมิทันได้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน พระปรมาภิไธยที่เรียกขานกันในเวลาที่ยังดำรงพระชนม์อยู่ จึงเรียกขานแต่เพียงว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อเริ่มรัชกาลที่เก้า ได้มีการถวายพระปรมาภิไธยเพิ่มเติมขึ้นบ้างแต่ก็ยังมิได้มีความยาวตามแบบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

จนกระทั่งเมื่อพุทธศักราช 2539 ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่แปด มีความเต็มที่ตามขนบโบราณราชประเพณี และมีพระปรมาภิไธยอย่างสังเขปว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร

ส่วนพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่เก้าตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏนั้นก็เป็นพระปรมาภิไธยที่เรารู้จักคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็เป็นพระปรมาภิไธยที่มิได้มีเนื้อความตามขนบพระราชนิยมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันนี้เราเล่าสู่กันฟังไว้เพียงนี้ก่อนไหมครับ ถ้าอ่านแล้วยังงุนงงสงสัย ก็ต้องขอความกรุณากลับไปอ่านใหม่อีกครั้งหนึ่งครับ

เรื่องยากอยู่สักหน่อย แต่ผมเชื่อว่าไม่เกินความสามารถของผู้อ่านที่เป็นแฟนานุแฟนทุกท่าน เชื่อฝีมือครับ