“บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ เข้าโค้งสุดท้ายภารกิจคุมวงการกีฬา

ในอดีตที่ผ่านมาวงการกีฬาของเมืองไทยค่อนข้างขาดแคลนงบประมาณในการดำเนินงานแผนงานโครงการต่างๆ ทำให้ภารกิจหลายๆ เรื่องของชาวกีฬาไม่ค่อยจะราบรื่น

นั่นเป็นเพราะทัศนคติของผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลหลายๆ ยุค หลายๆ สมัยที่ผ่านมามักจะมองว่ากีฬาเป็นกิจกรรมสาธารณะอันไม่ก่อให้เกิดรายได้ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุนลงแรงจึงไม่ค่อยผลักดันเรื่องของกีฬา ทั้งๆ ที่กีฬาเป็นเรื่องของการสร้างความสุข สร้างรอยยิ้มให้คนไทยอย่างแท้จริง

แต่เมื่อนักกีฬาของไทยพิสูจน์ให้เห็นว่าสามารถไปยืนบนแท่นความสำเร็จเทียบชั้นนักกีฬาระดับโลกได้ในหลายๆ ชนิดกีฬา อาทิ แบดมินตัน มี “น้องเมย์” “รัชนก อินทนนท์” เป็นหัวหอกนำทีม, กอล์ฟอาชีพ มีทั้ง “โปรช้าง” “ธงชัย ใจดี”, “โปรอาร์ม” “กิรเดช อภิบาลรัตน์”, “โปรเม” “เอรียา จุฑานุกาล” ฯลฯ, สนุ้กเกอร์ พอหมดยุค “ต๋อง ศิษย์ฉ่อย” ก็มาถึงยุคของ “เอฟ นครนายก”, วอลเลย์บอลหญิง ที่ไปถึงระดับโลกกันแล้ว และอีกหลายๆ ชนิดกีฬา

ทำให้ปัจจุบันวงการกีฬาของเมืองไทยที่เมื่อก่อนเปรียบเสมือนลูกเมียน้อยได้รับการเลื่อนสถานะขึ้นมาชนิดดูดีแบบผิดหูผิดตา

 

เมื่อก่อน “การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.)” ในฐานะหน่วยงานหลักที่ดูแลกีฬาของประเทศได้รับการจัดสรรงบประมาณปีละแค่ 2-3 พันล้านบาท เดี๋ยวนี้ได้อานิสงส์จากการเรียกเก็บสินค้าในกลุ่มสุรา และยาสูบ ของกรมสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่า” “ภาษีบาป”” ปีๆ นึงมีงบประมาณต้องคืนกลับสู่สาธารณะ นั่นคือ วงการกีฬา ปีละประมาณ 3.7 พันล้านบาท

โดยงบประมาณก้อนดังกล่าวจะถูกจัดสรรเข้าในงบประมาณแต่ละปีๆ ของ “กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ” ขณะที่อีกส่วนงบประมาณประจำปีของ กกท. ได้รับจัดสรรค่อนข้างคล่องตัวขึ้น เฉลี่ยแล้วปีๆ นึง กกท. มีงบประมาณไม่ต่ำกว่า 6 พันล้านบาทในการพัฒนาวงการกีฬาของเมืองไทย

“บิ๊กเสือ” “สกล วรรณพงษ์” ผู้ว่าการ กกท. ในยุคนี้ถือว่าโชคดีที่ได้เข้ามาเป็นผู้นำองค์กรสูงสุดด้านกีฬาในยุคที่งบประมาณเหลือเฟือ

แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ปีแรกของการได้รับงบฯ อุดหนุนจากภาษีบาปสู่วงการกีฬาอาจจะยังใช้งบประมาณในการพัฒนาแบบไม่ถูกจุด แต่อาจถูกใจสมาคมกีฬาต่างๆ

แต่พอจะเข้าใจ” “บิ๊กเสือ”” เพราะเป็นปีแรกที่ได้รับงบประมาณอาจจะขยับทำโปรเจ็กต์ต่างๆ ได้ไม่ง่ายนัก

ที่ว่าไม่ถูกจุดเพราะหากมองในเรื่องของการพัฒนากีฬาที่ยั่งยืนถาวรของวงการกีฬาไทยแล้ว ต้องหันกลับมามองว่าประเทศไทย วงการกีฬาของไทยยังขาดอะไรที่ประเทศชั้นนำของโลกในด้านกีฬาไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ, จีน, เยอรมนี, ญี่ปุ่น ฯลฯ เขามีกัน

สิ่งที่นึกออกและเห็นภาพได้ทันทีนั่นคือ “ศูนย์ฝึกกีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาแบบครบวงจรชนิดได้มาตรฐานระดับโลก”

ย้ำนะว่าได้มาตรฐานระดับโลกเพื่อเป็นสถานที่ในการฝึกซ้อม เก็บตัวของนักกีฬาทุกชนิด มีห้องทดสอบแรงดันอากาศซึ่งเป็นเรื่องของเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเหมือน” “ศูนย์ฝึกซ้อมนักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่น” หรือ “JISS” ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการกีฬาต่างเดินทางไปดูงานถึงกรุงโตเกียวมาแล้วนับไม่ถ้วน

แต่ทำไมประเทศไทยถึงยังไม่มีสถานที่พวกนี้ ทั้งที่ศักยภาพสามารถทำได้เพราะมันคือประโยชน์อันสูงสุดของวงการกีฬาเมืองไทยในระยะยาว

ไม่ต้องไปนับศูนย์กีฬาแห่งชาติ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เพราะตั้งแต่ก่อสร้างมายังใช้งานไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ทุ่มไปกว่า 2,000 ล้านบาทเลย

เพราะอะไรนั่นหรือ 1.ไกลจากกรุงเทพฯ สมาคมกีฬาไหนอยากจะใช้เป็นสถานที่เก็บตัวบ้าง 2.แบบที่ก่อสร้างครึ่งๆ กลางๆ ไม่ใช่สเกลใหญ่ ครบวงจรเหมือนเช่นประเทศมหาอำนาจวงการกีฬาของโลกเขาทำกัน

 

“บิ๊กเสือ” “สกล วรรณพงษ์” นายใหญ่แห่งค่ายหัวหมาก บอกว่า กกท. ต้องทำเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ แล้ว ผมเคยไปดูงานที่ JISS มาแล้ว และผมต้องการผลักดันให้ กกท. ในยุคนี้ดำเนินการสร้างศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติ โดยใช้ชื่อว่า “เนชั่นแนล เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์” หรือ “NTC” ซึ่งวางแบบไว้คือ ตั้งกลางหัวหมาก เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมของนักกีฬาหลายๆ ชนิดกีฬา มีห้องพัก มีห้องวิทยาศาสตร์การกีฬาครบวงจร โดยผมคิดว่าต้องใช้งบประมาณในการทำประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท ซึ่งผมได้ทำแผนขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐในหมวดงบประจำปีของ กกท. ในปีที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่า ไม่ได้รับการพิจารณา แต่ผมไม่ท้อ ผมจะพยายามผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้ อาจจะต้องใช้วิธีขอผูกพันปีงบประมาณในการก่อสร้าง ซึ่งงบประมาณปีหน้าของ กกท. ผมจะใส่ไว้ในแผนเหมือนเดิมเพราะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อวงการกีฬา

“สกล วรรณพงษ์” บอกต่อว่า ตามต่างจังหวัดทั่วทุกจังหวัด ทุกภูมิภาคก็เช่นกัน ผมต้องการให้มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกกีฬาแบบครบวงจรให้ได้ บางแห่งมีสถานที่อยู่แล้วเราแค่เข้าไปช่วยยกระดับความเข้มข้น รวมถึงเรื่องอุปกรณ์กีฬา และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ

หากอนาคตเราทำได้สำเร็จอย่างที่วางแผนไว้จริง เราจะมีนักกีฬาจากท้องถิ่นให้สมาคมกีฬามาหยิบสอยไปต่อยอดแบบเหลือเฟือ และมีคุณภาพอีกต่างหาก

ผมจะพยายามทำให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อนที่ผมจะเกษียณอายุราชการ ถ้าผมจะแบ่งสัดส่วนของเงินจากกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติมาใช้ในการก่อสร้างดังกล่าวคงต้องหารือปรึกษากับผู้หลักผู้ใหญ่ก่อนว่าจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่

“”บิ๊กเสือ”” บอกต่อไปว่า ผมเหลือเวลาในการทำหน้าที่ผู้ว่าการ กกท. อีกประมาณ 1 ปีครึ่ง โดยผมจะเกษียณอายุราชการในเดือนมิถุนายนปี พ.ศ.2561 ที่ผ่านมาผมทำหน้าที่มา 2 ปี ก็รู้สึกพอใจในการทำงาน และมีความสุขในหลายๆ เรื่องของวงการกีฬา

งานในหลายๆ ภารกิจเดินหน้าไปได้ด้วยดี อย่างน้อยๆ คนใน กกท. ก็เดินหน้าทำงานกันอย่างแข็งขัน มีกำลังใจดี

ผมต้องการทำให้พนักงานใน กกท. แข็งแกร่งเพื่ออนาคต คติในการทำงานผมยึดมาเสมอ ทำงานลูกเดียว ไม่บ่น เข้าใจ เข้าถึง ไม่ยืดเยื้อ กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ที่ผ่านมาผมพยายามแก้ปัญหาสมาคมกีฬาหลายๆ สมาคมที่มีปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง ผมก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ ผมทำอย่างบริสุทธิ์ใจ

ส่วนเรื่องของโครงการที่ผมทำแล้ว และต้องการสานต่อให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมคือ ฟุตบอลลีกเยาวชน และมวยไทยลีก อย่างเรื่องของฟุตบอลถ้าอนาคตลีกเยาวชนแข็งแกร่งเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา วงการฟุตบอลไทยจะไปได้ไกลกว่านี้อีก

ส่วนเรื่องของมวยไทยลีก ต้องการให้คนที่ต่อยมวยในต่างจังหวัดสามารถมีรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัวตามสโลแกน “ต่อยมวยก็รวยได้”

 

“นายใหญ่ค่ายหัวหมาก” เล่าต่อไปว่า ยังมีอีกหลายภารกิจที่ยังต้องการจะทำให้สำเร็จในช่วงระยะเวลาที่เหลือในการทำหน้าที่ 1 ปีครึ่งคือ ต้องการดึงรายการแข่งขันจักรยานยนต์ทางเรียบระดับโลกอย่าง “โมโตจีพี” มาจัดแข่งขันที่เมืองไทยให้ได้ อาจจะเป็นที่ จ.บุรีรัมย์ เพราะมีสถานที่พร้อมอยู่แล้ว

ทุกวันนี้เรตติ้งของโมโตจีพีนั้นดีมาก คนดูกันทั่วโลก เรตติ้งดีกว่ารถยนต์สูตร 1 หรือ “เอฟวัน” เสียอีก

โดยแผนงานเรื่องเอฟวันในเมืองไทยคงต้องพับไปก่อน หลังทั้งมาเลเซีย และสิงคโปร์ ยังถอนตัวจัดเอฟวัน ซึ่งผมคิดว่าไทยต้องหันมาสนใจ “โมโตจีพี” ดีกว่า และมีโอกาสเป็นไปได้สูงมาก

ล่าสุดผมไปคุยกับเจ้าของลิขสิทธิ์ “โมโตจีพี” มาแล้วด้วย เขายืนยันว่าอยากจะมาจัดที่เมืองไทย ซึ่งผมคิดว่า ในปี ค.ศ.2018 ช่วงต้นปีนั้นชัวร์ว่าจะมีการจัด “โมโตจีพี” ที่เมืองไทย แต่ผมอยากจะได้มาจัดก่อนหน้านั้นคือ กลางปี ค.ศ.2017 เลย

อีกเรื่องที่เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำคือ ผลักดันให้ลีกฟุตบอลเยาวชนของไทยแข็งแกร่ง โดยจะจัดแข่งขัน 4 รุ่นอายุ 13 ปี, 15 ปี, 17 ปี และ 19 ปี ซึ่งนักเตะต่างจังหวัดจะได้มีเวทีโชว์ฝีเท้าเพื่อเป็นบันไดไปสู่การเล่นฟุตบอลอาชีพในอนาคต

เรื่องสุดท้ายที่” “บิ๊กเสือ”” วาดความหวังว่าต้องทำให้ยั่งยืนคือ การนำพาองค์กรกีฬาอย่าง กกท. หัวหมาก เข้มแข็ง พนักงานเข้มแข็ง พร้อมจะเข้ามาสานต่อภารกิจที่ได้วางแนวทางไว้ในระยะยาว

นี่เป็นการเปิดใจ “บิ๊กเสือ” สกล วรรณพงษ์ นายใหญ่แห่งค่ายหัวหมาก เมื่อเริ่มที่จะเข้าโค้งสุดท้ายในการทำงานเพื่อวงการกีฬาเมืองไทย