วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / สำนักงานใหม่ สะดวกทั้งเดินทางและอาหารการกิน

วางบิล / เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์                             

สำนักงานใหม่

สะดวกทั้งเดินทางและอาหารการกิน

 

การย้ายสถานที่ทำงานไม่เหมือนกับการตั้งสำนักงานใหม่ ณ สถานที่ใหม่ ดังกรณีการย้ายสำนักงานจากบริษัท เดอะ เนชั่น ซอยสายลม ถนนสุขุมวิท เมื่อครั้งเดอะ เนชั่น หยุดหรือเลิกทำหนังสือพิมพ์ประชาชาติ

คณะผู้จัดทำประชาชาติ นำโดยขรรค์ชัย บุนปาน จึงมาออกหนังสือพิมพ์ต่อเนื่องจากประชาชาติ เป็น “รวมประชาชาติ” อยู่ที่อาคารถนนศรีอยุธยา ตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์บำรุง

ครั้งนั้น เป็นบริษัทใหม่ เป็นสถานที่ทำการแห่งใหม่ จึงมีโต๊ะ-เก้าอี้และเครื่องใช้ใหม่เกือบทั้งหมด ไม่ต้องจัดสถานที่ให้ยุ่งยาก เพียงแต่กำหนดว่าโต๊ะข่าวอะไรตั้งอยู่ตรงไหน และกั้นห้องผู้บริหารห้องเดียวก็พอ

ใช้ห้องตรงข้ามเป็นห้องสมุดหรือศูนย์ข้อมูล กองจัดการอื่น เช่น ฝ่ายบัญชี ฝ่ายโฆษณาอยู่อีกชั้นหนึ่ง ส่วนช่างเรียงอยู่ด้านล่างหลังอาคาร รวมฝ่ายพิสูจน์อักษร ซึ่งอยู่ห้องใหญ่เดียวกัน เพื่อสะดวกในการทำงาน

เช่นเดียวกับการตั้งสำนักงานใหม่บนดาดฟ้าโรงพิมพ์พิฆเณศ ต้องหาซื้อโต๊ะ-เก้าอี้กับอุปกรณ์บางส่วนของกองบรรณาธิการ นอกนั้นเช่นโต๊ะ-เก้าอี้ ที่พนักงานเดิมขายในราคาถูกกับผู้ที่ต้องการ เก็บมาเฉพาะอุปกรณ์การทำงาน เช่น พิมพ์ดีด และหนังสือ แฟ้มข่าวจากห้องสมุด เป็นต้น

เมื่อได้สถานที่ใหม่คือโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ ซึ่งเจ้าของคือนายลิขิต ธนสารอักษร มีนายฮ่องแค หรือฮ่งเค แซ่ลิ้ม เป็นผู้จัดการ ย้ายไปตั้งที่ซอยข้างวัดเทพธิดาราม เป็นส่วนหนึ่งของตึกแถวสามชั้น 5 ห้อง ของโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ 3 ห้อง

 

โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์แห่งนี้ ที่เริ่มรู้จัก เป็นสถานที่พิมพ์นิตยสาร “ช่อฟ้า” หนังสือสยามพิมพการ – ประวัติศาสตร์การพิมพ์ในประเทศไทย ซึ่งสำนักพิมพ์มติชนจัดพิมพ์บันทึกไว้ว่า

นิตยสารรายเดือน “ช่อฟ้า” ของมูลนิธิอภิธรรมมหาธาตุ ซึ่งมีกิตติวุฒโฑภิกขุดูแลอยู่… จุดเริ่มต้นของการเข้าไปทำนิตยสารช่อฟ้า เริ่มจาก “หลวงเมือง” หรือสำราญ ทรัพย์นิรันดร์ น้าของเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือ “ช่อฟ้า” อยู่ ได้ให้เรืองชัยเข้าไปเป็นผู้ช่วยทำหนังสือ เรืองชัยจึงชักชวนสุจิตต์และขรรค์ชัยซึ่งเป็นเพื่อนนักเรียนร่วมกันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมมาช่วย

ขณะนั้นสุจิตต์เข้าเป็นนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่ขรรค์ชัยและเรืองชัยยังเป็นนักเรียนที่สวนสุนันทา…

นิตยสารช่อฟ้าฉบับพิมพ์เล่มแรกที่โรงพิมพ์เลี่ยงเซียงจงเจริญ ถนนเจริญกรุง ต่อมาจึงย้ายไปที่โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ ซึ่งสะดวกและมีสถานที่ให้พวกเราได้ทำงาน

นอกจากนั้น โรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ซึ่งมีช่างพิมพ์ฝีมือดีหลายคนยังได้พิมพ์งานของมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และของมหาวิทยาลัยศิลปากร กับของหลายสำนักพิมพ์

เมื่อขรรค์ชัย บุนปาน จัดการติดต่อ (ไม่ทราบว่าขอเช่าหรือขอเซ้ง) เจ้าของเดิมได้เรียบร้อยจึงเริ่มปรับปรุงสถานที่ให้เข้าไปปฏิบัติงานได้ เช่น ต่อโต๊ะ เป็นโต๊ะไม้ขนาดใหญ่ จัดแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน ข้างหนึ่งเป็นโต๊ะข่าวหนึ่ง อีกข้างหนึ่งเป็นอีกโต๊ะข่าวหนึ่ง ส่วนโต๊ะหน้า 1 เป็นโต๊ะทำงาน 3-4 ตัวตั้งติดกัน มีโทรศัพท์เพียงสองเครื่อง ส่วนโต๊ะข่าวอื่นมีเครื่องเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน 2 เครื่อง

เมื่อกำหนดย้ายสำนักงานจากดาดฟ้าโรงพิมพ์พิฆเณศ ใช้วันอาทิตย์เพียงครึ่งวันด้วยรถกระบะขนาดเล็กคันเดียวสองสามเที่ยว อุปกรณ์และโต๊ะทำงานบางส่วนก็ไปจัดตั้งที่ชั้นสามของโรงพิมพ์อักษรสัมพันธ์ได้

ชั้นสอง ใช้พื้นที่ 2 ห้องเป็นฝ่ายโฆษณา อีกห้องหนึ่งเป็นฝ่ายบัญชี

ชั้นล่าง เตรียมไว้เป็นที่ติดตั้งเครื่องพิมพ์ 2 ห้อง เหลืออีกห้องหนึ่งกั้นเป็นฝ่ายจัดจำหน่าย

ด้านหลังของตึกแถวสามห้อง มีพื้นที่กั้นเป็นห้องสำหรับช่างเรียงและฝ่ายพิสูจน์อักษร

ด้านหลังของชั้นสอง ชั้นสาม และชั้นล่างกั้นห้องเป็นห้องน้ำ ชาย-หญิงอย่างละห้อง พอก่อน เพราะที่คับแคบ หลายครั้งฝ่ายหญิงต้องมาขอใช้ห้องน้ำของฝ่ายชาย หรือบางครั้งฝ่ายชายไปใช้ห้องน้ำของฝ่ายหญิง เรื่องนี้ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน

ส่วนหนึ่งของห้องชั้นล่างติดกับห้องเรียงพิมพ์ ไพโรจน์ ปรีชา ที่รับหน้าที่ดูแลฝ่ายผลิตขอกั้นห้องเป็นที่ทำเพลตพิมพ์ ซึ่งต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายยก ทำเพลตเสร็จต้องให้คนขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่งที่โรงพิมพ์ตรงตลาดบ้านพานถม และใช้พื้นที่โรงพิมพ์แห่งนั้นเป็นที่จัดห่อจัดส่งหนังสือพิมพ์ไปทั่วกรุงเทพฯ และทั่วประเทศให้ทันเวลาหลังเที่ยงคืนถึงหกโมงเช้า

 

การมีสถานที่ค่อนข้างจะกว้างขวางขึ้นกว่าที่บนดาดฟ้าโรงพิมพ์พิฆเณศ คือสถานที่ตั้งหน้าวัดราชบพิธฯ ทำให้นักข่าวหลายคนสะดวกกับการเดินทางทำข่าว เหมือนกับอยู่ที่แพร่งสรรพศาสตร์ โรงพิมพ์พิฆเณศ ที่จะไปกระทรวงมหาดไทย กระทรวงละแวกนั้น เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงยุติธรรม ศาล หรือกระทรวงการคลัง แม้แต่กระทรวงอื่นบนถนนราชดำเนิน เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กรมตำรวจซึ่งนั่งรถเพียงต่อเดียวก็ถึง

ยิ่งอยู่มาได้สักพักหนึ่ง ยามเที่ยง มีหาบข้าวแกงจากนครปฐมมาตั้งขายถึงหน้าที่ทำงาน แม้ในละแวกเดียวกันมีร้านอาหารมากมาย ไม่ว่าจะเป็นต้มเครื่องในวัวตั้งแต่สิบโมงเช้าถึงบ่ายสองโมง ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นเนื้อวัวชวนชิม ร้านข้าวต้มสารพัดกับราคาไม่แพงตรงข้ามวิทยาลัยหอการค้า หรือร้านอาหารในซอยสุขา และร้านละแวกแพร่งสรรพศาสตร์ แพร่งนรา แพร่งภูธร ที่อยู่ใกล้โรงพิมพ์พิฆเณศ

ดังนั้น เรื่องอาหารการกินทั้งเช้า กลางวัน เย็น ถึงค่ำ และดึก ยังมีร้านข้าวต้มใกล้สี่กั๊กพระยาศรีให้เดินไปกินกัน ไม่ต้องห่วง

 

ระหว่างนั้น ทั้งขรรค์ชัย พงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร และไพโรจน์ ปรีชา หารือกันเรื่องตั้งเครื่องพิมพ์ในสองห้องชั้นล่างของตึกแถว ทั้งสองคนแรกเห็นว่าไปเจรจาขอซื้อเครื่องพิมพ์จากโรงพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ซึ่งเลิกพิมพ์ไปแล้ว ดูเหมือนว่าเครื่องพิมพ์ขนาด 2 ยูนิต เป็นเครื่องพิมพ์กระดาษม้วนของนายวัฒนา อัศวเหม หรืออย่างไรนี่แหละ

การมีความคิดจัดตั้งเครื่องพิมพ์หนังสือพิมพ์เอง เป็นแนวทางความคิดของทั้งสองคน คือ ขรรค์ชัย บุนปาน และสุจิตต์ วงษ์เทศ มาตั้งแต่ครั้งคิดทำหนังสือพิมพ์ที่ว่ารากฐานสำคัญของการทำหนังสือพิมพ์รายวันคือเรื่องการผลิต ก่อนหน้านั้นจึงสร้างโรงพิมพ์พิฆเณศ

แต่การจัดพิมพ์หนังสือพิมพ์รายวันให้ได้ดีและรวดเร็วเหมาะสมกับบรรยากาศของหนังสือพิมพ์จะต้องพิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์กระดาษม้วน ที่เรียกว่า “เวป ออฟเซ็ต” ซึ่งสนนราคานับร้อยล้านบาท กระนั้นการจัดหาเครื่องพิมพ์เพื่อเป็นของตัวเองให้ได้จึงต้องเริ่มจากเครื่องพิมพ์มือสองมือสามราคาหลักล้านต้นๆ ไปพลางก่อน