พิศณุ นิลกลัด : ทีมเจ้าบ้านมักได้เปรียบ…จริงหรือ?

พิศณุ นิลกลัด

ฟุตบอลยูโร ครั้งนี้ โพลจากหลายสถาบันที่มีการวิเคราะห์รวบรวมข้อมูลตามหลักเศรษฐศาสตร์ ยกให้ทีมชาติฝรั่งเศส เป็นเต็ง 1 ที่จะได้แชมป์

สาเหตุส่วนหนึ่งก็เพราะความได้เปรียบในฐานะเจ้าบ้าน

สมัยที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันยูโร 1984 ทีมฝรั่งเศสก็คว้าแชมป์ไปครอง

ฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศสเป็นเจ้าภาพ ก็ได้แชมป์อีก

แฟนกีฬาหลายคนสงสัยว่า การเป็นทีมเจ้าบ้าน ได้เปรียบทีมเยือนจริงหรือเปล่า?

เรื่องนี้มีการเก็บรวบรวมสถิติโดยหลายสถาบัน พบว่าทีมเจ้าบ้านได้เปรียบทีมเยือนจริงๆ

ตัวอย่างเช่น ในการแข่งขัน NBA โอกาสชนะของทีมเจ้าบ้านมี 61%

การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL โอกาสชนะของทีมเจ้าบ้านมี 58%

การแข่งขันเบสบอล MLB โอกาสชนะของทีมเจ้าบ้านอยู่ที่ 53%

และในการแข่งขันฮอกกี้ NHL ทีมเจ้าบ้านมีโอกาสชนะ 56%

ในการแข่งขันฟุตบอลโลก เจ้าภาพจัดการแข่งขันคว้าแชมป์ไปครองถึง 6 สมัย คือ อุรุกวัย ปี 1930 อิตาลี ปี 1934 อังกฤษ ปี 1966 เยอรมนี ปี 1974 อาร์เจนตินา ปี 1978 และฝรั่งเศส ปี 1998

จากสถิติการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2012-2013 ทีมเจ้าบ้านชนะ 44% แต่เวลาเป็นทีมเยือน ชนะแค่ 26% ลดลงเกือบเท่าตัว

ปัจจัยที่ช่วยทำให้ทีมเล่นชนะเมื่อเป็นทีมเจ้าบ้านมีดังนี้

1. ความคุ้นเคยสนามแข่ง

เจ้าบ้านคุ้นเคยสนามแข่งขันเพราะเป็นสนามที่เล่นและซ้อมเป็นประจำ เมื่อลงแข่งขันจริงจึงเกิดความมั่นใจ

ธรรมชาติของมนุษย์ มักจะเกิดความประหม่า กังวล เมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมใหม่ ดังนั้น เวลานักกีฬาลงแข่งในฐานะทีมเยือน เมื่อเจอกับสนามแข่งที่ไม่คุ้น จึงเป็นธรรมดาที่จะรู้สึกประหม่าและอาจเล่นได้ไม่ดี

2. เสียงเชียร์จากแฟนๆ ทีมเจ้าบ้าน

สำหรับนักกีฬาที่เป็นเจ้าบ้าน เสียงเชียร์จากแฟนๆ สามารถช่วยในเรื่องจิตวิทยา สร้างขวัญกำลังใจให้ฮึกเหิม

สำหรับทีมเยือน เสียงโห่ร้องของแฟนๆ ทีมเจ้าบ้าน เป็นเสียงแสดงความตั้งใจก่อกวนให้เสียสมาธิ

เช่น การแข่งขันอเมริกันฟุตบอล NFL เวลาทีมเยือนเป็นฝ่ายบุก กองเชียร์ทีมเจ้าบ้าน จะส่งเสียงโห่ร้องก่อกวนกึกก้องสนามตอนควอเตอร์แบ็กออกคำสั่งบอกเพื่อนร่วมทีมก่อนทำเกมบุก ซึ่งควอเตอร์แบ็กจะตะโกนเป็นโค้ดลับที่เข้าใจกันเฉพาะพรรคพวกในทีมเดียวกัน

การที่แฟนๆ ทีมเจ้าบ้านโห่ร้องกึกก้องสนาม ทำให้นักอเมริกันฟุตบอลทีมเยือนที่กำลังเป็นฝ่ายบุก ไม่ได้ยินโค้ดลับ ทำให้เล่นไม่ตรงแผน

ในทางตรงกันข้าม หากทีมเจ้าบ้านเป็นฝ่ายบุก แฟนๆ ในสนามจะเงียบกริบเพื่อให้นักอเมริกันฟุตบอลทีมเจ้าบ้านได้ยินโค้ดลับของควอเตอร์แบ็กอย่างชัดเจน

3. เสียงกองเชียร์ทีมเจ้าบ้านมีอิทธิพลต่อการเป่าฟาวล์เข้าข้างทีมเจ้าบ้าน

มหาวิทยาลัยวูฟเวอร์แฮมตัน (University of Wolverhampton) และมหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล จอห์น มัวร์ส (Liverpool John Moores University) ทำการสำรวจเรื่องนี้ได้ผลออกมาว่าเสียงเชียร์ที่กระหึ่มกึกก้องหรือโห่ฮาป่าของกองเชียร์ในสนามมีผลโดยตรงกับการตัดสินใจเป่าฟาวล์ของกรรมการมือใหม่ที่ประสบการณ์ยังน้อย

แต่สำหรับกรรมการที่มีประสบการณ์มาก ต่อให้กองเชียร์ส่งเสียงตะโกนกดดันลั่นสนาม พวกเขาจะไม่สนใจเสียงโห่ของแฟนๆ ทำให้เกิดไขว้เขวในการตัดสินเป่าฟาวล์ทีมเยือน

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังได้ทำการศึกษาโดยรวบรวมข้อมูลของฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก อังกฤษ ระหว่างปี 1992-1996 จำนวน 5,000 นัด พบว่าหากกองเชียร์ทีมเจ้าบ้านทุกๆ 10,000 คนที่เข้าสนามเชียร์ทีมรักในสนามตัวเอง จะเพิ่มโอกาสให้ทีมทำประตูได้ถึง 10%

4. เรื่องการเดินทาง และที่พัก

นักกีฬาเจ้าบ้านไม่ต้องเดินทางให้เหน็ดเหนื่อย ได้พักที่บ้านตัวเอง อยู่กับครอบครัว การทำให้กินอิ่ม นอนหลับ ไม่เครียด มีผลดีต่อสุขภาพกายและใจเมื่อลงแข่งขัน

ในขณะที่นักกีฬาทีมเยือนต้องเหน็ดเหนื่อยกับการเดินทาง พักโรงแรม ทั้งเหงา ทั้งเหนื่อย ทำให้เสียเปรียบตั้งแต่ยังไม่ทันลงสนาม!