เกษียร เตชะพีระ : ‘ชอมสกี้’ วิเคราะห์ว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ (3)

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1 2

ถอดความจากคำให้สัมภาษณ์ของ นอม ชอมสกี้ ปัญญาชนสาธารณะอเมริกันชื่อดังในเว็บไซต์ truthout เมื่อ 14 พฤศจิกายน ศกนี้ ซึ่งวิเคราะห์วิจารณ์ชัยชนะของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีและแนวโน้มการเมืองอเมริกัน ต่อจากสัปดาห์ก่อน

(http://www.truth-out.org/opinion/item/38360-trump-in-the-white-house-an-interview-with-noam-chomsky) :

“…ผลการหยั่งเสียงเลือกตั้งจากผู้ใช้สิทธิ์แล้วทั้งหลายเผยว่าการสนับสนุนทรัมป์อย่างแรงกล้านั้นด้านหลักแล้วได้แรงบันดาลใจจากความเชื่อที่ว่าทรัมป์เป็นตัวแทนการเปลี่ยนแปลง

ขณะที่ ฮิลลารี คลินตัน ถูกมองว่าเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่จะทำให้พวกเขาตกทุกข์ได้ยากต่อไปชั่วกัปชั่วกัลป์

เอาเข้าจริง “การเปลี่ยนแปลง” ที่ทรัมป์น่าจะนำมาคงเป็นผลเสียหรือแย่กว่านั้นซะอีก แต่ก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าผลสืบเนื่องของการเลือกทรัมป์ไม่ได้เป็นที่กระจ่างชัดสำหรับผู้คนที่อยู่โดดเดี่ยวในสังคมซึ่งต่างคนต่างอยู่แบบตัวใครตัวมันเหมือนอณูโดยขาดการรวมตัวเป็นสมาคมชนิดต่างๆ (อย่างเช่น สหภาพแรงงาน) ซึ่งสามารถช่วยให้การศึกษาและจัดตั้งได้

นั่นคือข้อแตกต่างสำคัญยิ่งระหว่างความรู้สึกสิ้นหวังซังกะตายทุกวันนี้กับท่าทีที่ค่อนข้างเปี่ยมความหวังโดยทั่วไปของประชาชนคนงานจำนวนมากผู้ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจที่ใหญ่หลวงกว่านี้อักโขระหว่างช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในคริสต์ทศวรรษที่ 1930″

ยังมีปัจจัยอื่นอีกที่ทำให้ทรัมป์ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง การศึกษาเปรียบเทียบหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าลัทธิคนผิวขาวต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดินยึดกุมวัฒนธรรมอเมริกันอย่างเหนียวแน่นกว่าใน แอฟริกาใต้เสียอีก และมันก็ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใดว่าประชากรผิวขาวกำลังลดน้อยถอยลง

ในอีกหนึ่งหรือสองทศวรรษข้างหน้า คาดการณ์ว่าคนผิวขาวจะกลายเป็นคนส่วนน้อยในกำลังแรงงานอเมริกัน และไม่ช้าหลังจากนั้น ก็จะกลายเป็นคนส่วนน้อยในหมู่ประชากรอเมริกันด้วย

ยังมองกันด้วยว่าวัฒนธรรมอนุรักษนิยมตามประเพณีดั้งเดิมตกอยู่ใต้การโจมตีจากความสำเร็จนานัปการของการเมืองเรื่องเอกลักษณ์ซึ่งถูกถือว่าเป็นปริมณฑลของพวกชนชั้นนำที่มีแต่ความดูหมิ่นถิ่นแคลนต่อ “ชาวอเมริกัน [ผิวขาว] ผู้ทำงานหนัก รักชาติ เข้าโบสถ์เข้ารีตและยึดมั่นค่านิยมเรื่องครอบครัวที่แท้จริง”

ซึ่งเห็นบ้านเมืองที่คุ้นเคยของตนกำลังมลายหายวับไปต่อหน้าต่อตา

AFP PHOTO / EDUARDO MUNOZ ALVAREZ
AFP PHOTO / EDUARDO MUNOZ ALVAREZ

ความยากลำบากอย่างหนึ่งในการยกระดับความตื่นตัวของสาธารณชนเกี่ยวกับภัยคุกคามอันร้ายแรงยิ่งของภาวะโลกร้อนก็คือประชากรสหรัฐร้อยละ 40 มองไม่เห็นว่าทำไมเรื่องนี้จะเป็นปัญหาในเมื่อถึงยังไงพระเยซูคริสต์ก็จะเสด็จกลับมาสู่พื้นพิภพในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้านี้แล้ว

ประชากรสหรัฐในสัดส่วนใกล้เคียงกันเชื่อด้วยว่าโลกถูกสร้างขึ้นชั่วไม่กี่พันปีมาแล้วนี่เอง หากวิทยาศาสตร์ดันขัดแย้งกับพระคริสต์ธรรมคัมภีร์แล้ว มันก็เป็นคราวซวยอย่างช่วยไม่ได้ของวิทยาศาสตร์เองนั่นแหละ ยากจะหาสังคมอื่นใดอีกแล้วที่เห็นไปในทำนองเดียวกันนี้

พรรคเดโมแครตนั้นเลิกห่วงใยประชาชนคนงานอย่างแท้จริงใดๆ ไปตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1970 โน่นแล้ว และฉะนั้นฝ่ายหลังจึงถูกดึงเข้าไปหาขบวนแถวแห่งศัตรูทางชนชั้นตัวร้ายของตนซึ่งอย่างน้อยก็ยังแสร้งพูดจาด้วยภาษาเดียวกับตัว

อาทิ ลีลาแบบชาวบ้านของ โรนัลด์ เรแกน อดีตประธานาธิบดีแห่งพรรครีพับลิกัน ผู้ชอบพูดจาตลกขำๆ ไปพลาง เคี้ยวขนมเยลลี่ บีนส์ไปพลาง

หรือภาพลักษณ์ที่ถูกบรรจงปลูกปั้นมาของกระทาชายนายจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ว่าเป็นคนธรรมดาสามัญที่คุณพบเห็นได้ตามบาร์ผู้ชอบตัดไม้ดายหญ้าในทุ่งปศุสัตว์ใต้แดดร้อนเปรี้ยงและการออกเสียงศัพท์แสงที่อาจเสแสร้งให้แปร่งเพี้ยนของเขา (ไม่น่าเป็นไปได้ว่าเขาพูดจาแบบนั้นสมัยเรียนมหาวิทยาลัยเยล)

และคราวนี้ก็คือทรัมป์ผู้เป็นปากเสียงให้แก่ชาวบ้านร้านตลาดผู้ร้องเรียนเรื่องทุกข์ยากเดือดร้อนของตัวโดยชอบทั้งหลาย – อันได้แก่คนที่ไม่แต่สูญเสียอาชีพการงาน แต่สูญสิ้นสำนึกในคุณค่าของตัวเองไปด้วย

ทรัมป์ผู้ด่าประณามรัฐบาลซึ่งพวกเขามองว่าเป็นตัวการบ่อนทำลายชีวิตของตน (อย่างใช่ว่าจะไร้เหตุผลเสียทีเดียว)

AFP PHOTO / Jewel SAMAD
AFP PHOTO / Jewel SAMAD

ผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่ประการหนึ่งของระบบลัทธิความเชื่อดังกล่าวนี้ได้แก่การเบี่ยงเบนความโกรธ ของสาธารณชนให้หันเหออกไปจากภาคบรรษัทเอกชน แล้วพุ่งเข้าใส่รัฐบาลซึ่งรับเอาโครงการต่างๆ ที่ภาคบรรษัทเอกชนออกแบบให้ไปดำเนินการแทน

อย่างเช่น บรรดาข้อตกลงว่าด้วยสิทธิของบรรษัท/นักลงทุนที่มีลักษณะคุ้มครองการค้าอย่างสูงอันถูกบรรยายอย่างผิดๆ เป็นเสียงเดียวกันในสื่อมวลชนและบทวิจารณ์ข่าวทั้งหลายว่า “ข้อตกลงการค้าเสรี” จะว่าไปแล้ว ถึงแม้จะขาดตกบกพร่องปานใด แต่รัฐบาลนั้นก็ยังอยู่ภายใต้อิทธิพลและการควบคุมของประชาชนบ้างบางระดับ ไม่เหมือนกับภาคบรรษัทเอกชน

มันจึงเป็นข้อได้เปรียบยิ่งสำหรับโลกธุรกิจในอันที่จะกระพือเสริมความเกลียดชังต่อพวกข้าราชการหัวหมอของรัฐบาลและขจัดปัดเป่าความคิดบ่อนทำลายที่ว่ารัฐบาลอาจกลายเป็นเครื่องมือแห่งเจตจำนงของประชาชน หรือนัยหนึ่งกลายเป็นรัฐบาลของประชาชน, โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ออกไปจากห้วงความคิดจิตใจของประชาชนเสีย

AFP PHOTO / KHALIL MAZRAAWI

ถาม : อย่างนี้แล้วจะพูดได้ไหมว่าทรัมป์เป็นตัวแทนขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ในการเมืองอเมริกัน, รึว่าด้านหลักแล้วผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการปัดปฏิเสธ ฮิลลารี คลินตัน โดยบรรดาผู้ออกเสียงลงคะแนนที่เกลียดคลินตันสองผัวเมียและเหลืออดเหลือทนกับ “การเมืองตามปกติอย่างที่มันเป็นมา”?

นอม ชอมสกี้ : มันไม่ได้เป็นขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ตรงไหนหรอกครับ สองพรรคการเมือง (เดโมแครตกับรีพับลิกัน) ต่างเคลื่อนย้ายไปทางขวาในช่วงเสรีนิยมใหม่ด้วยกันทั้งคู่

พวกเดโมแครตใหม่ทุกวันนี้ก็เข้าทำนองเดียวกับไอ้พวกที่เคยเรียกกันว่า “รีพับลิกันเดินสายกลาง” แต่ก่อนนั่นแหละ “การปฏิวัติทางการเมือง” ที่ เบอร์นี แซนเดอร์ส เรียกร้องได้ถูกต้องแล้วนั้นเอาเข้าจริงก็คงไม่ทำให้อดีตประธานาธิบดี ดไวทต์ ไอเซนฮาวร์ แห่งพรรครีพับลิกันถึงแก่แตกตื่นตกใจใหญ่หลวงแต่อย่างใด

พวกพรรครีพับลิกันต่างหากที่ได้เคลื่อนตัวไปในทิศทางซึ่งอุทิศทุ่มเทให้แก่คนรวยและภาคบรรษัทเอกชนอย่างไกลสุดกู่เสียจนกระทั่งพวกเขามิอาจคาดหวังจะหาคะแนนเสียงจากหลักนโยบายที่เป็นจริงของตัวได้ ก็เลยหันไปปลุกเร้าขับเคลื่อนภาคส่วนต่างๆ ของประชากรที่อยู่มาแต่ไหนแต่ไรทว่าไม่เคยกลายเป็นพลังแนวร่วมทางการเมืองที่จัดตั้งมาก่อนแทน

อันได้แก่ พวกคริสต์จักรอิแวนเจลิคอล, พวกอ้างอภิสิทธิ์ว่าเป็นเจ้าถิ่นพื้นเมืองมาแต่เดิม (เทียบกับพวกพลเมืองหน้าใหม่หรือผู้อพยพ), พวกนิยมเชื้อชาติ และบรรดาเหยื่อทั้งหลายแหล่ของโลกาภิวัตน์รูปแบบต่างๆ ซึ่งออกแบบมาให้ประชาชนคนงานชาติต่างๆ ทั่วโลกต้องแข่งขันกันเองขณะที่ปกป้องพวกอภิสิทธิ์ชนและบ่อนทำลายมาตรการทางกฎหมายและอื่นๆ ที่ให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนชนคนงานรวมทั้งที่เปิดช่องทางให้พวกเขาส่งอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจในกิจการต่างๆ ของภาคสาธารณะและภาคเอกชนที่เชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดได้ โดยเฉพาะที่เด่นชัดคือการส่งอิทธิพลผ่านองค์การสหภาพแรงงานอันทรงประสิทธิผล

ผลลัพธ์ของการนี้เห็นได้ประจักษ์ชัดในบรรดาการเลือกตั้งผู้สมัครประธานาธิบดีรอบแรกของพรรครีพับลิกันในระยะหลังมานี้ ผู้สมัครทุกคนที่โผล่ขึ้นมาจากฐานมวลชน อาทิ มิเชล บัคมาน, เฮอร์แมน เคน, หรือ ริก แซนทอรัม ล้วนแต่โน้มเอียงสุดโต่งเสียจนกระทั่งกลุ่มผู้กุมอำนาจในพรรครีพับลิกันต้องใช้ทรัพยากรอันอุดมของตนมาโค่นพวกเขาคว่ำลงไป

ข้อแตกต่างในปี ค.ศ.2016 ก็คือมาคราวนี้กลุ่มผู้กุมอำนาจในพรรครีพับลิกันประสบความล้มเหลวในการโค่น โดนัลด์ ทรัมป์ ให้คว่ำไปจนพากันช้ำอกช้ำใจดังที่เราได้เห็นกันอยู่

AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS
AFP PHOTO / PAUL J. RICHARDS

ไม่ว่าจะสมควรเป็นเช่นนั้นหรือไม่ก็ตาม ฮิลลารี คลินตัน ได้กลายเป็นตัวแทนเหล่านโยบายอันเป็นที่เกลียดกลัว ขณะที่ทรัมป์ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของ “การเปลี่ยนแปลง”

ส่วนมันจะเป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดไหนกันแน่นั้น เราจำต้องมองดูบรรดาข้อเสนอที่เป็นจริงของเขาอย่างรอบคอบรัดกุม อันเป็นสิ่งที่ส่วนใหญ่แล้วขาดหายไปในกระแสข่าวสารข้อมูลที่ไปถึงสาธารณชน

เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีเองนั้นพยายามหลีกเลี่ยงประเด็นปัญหาเชิงนโยบายต่างๆ และโดยทั่วไปแล้วข้อวิเคราะห์วิจารณ์ในสื่อมวลชนก็พลอยคล้อยตามไปเยี่ยงนั้นด้วย โดยยึดติดกับแนวคิดที่ว่า “ภววิสัย” ที่แท้จริงหมายถึงการรายงานอย่างแม่นยำว่ามีอะไรบ้าง “เป็นเรื่องสำคัญในศูนย์กลางอำนาจที่วอชิงตัน ดี.ซี.” แต่ไม่เที่ยวทะลึ่งเพ่นพ่านไปไกลเกินกว่านั้น

(ต่อสัปดาห์หน้า)