ต่างประเทศอินโดจีน : การเมืองเรื่องความจน

ฟิลิป อัลสตัน ผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านความยากจน เดินทางไปเยือนลาวเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาอยู่ที่นั่นทั้งสิ้น 11 วัน ตระเวนไปตามพื้นที่ชนบทหลายแห่ง รวมทั้งที่แขวงอัตตะปือซึ่งเกิดเหตุเขื่อนถล่มเมื่อปีที่ผ่านมา

ในวันสุดท้ายของการเดินทางเยือน ผู้ตรวจการพิเศษของยูเอ็นเปิดแถลงข่าวที่นครเวียงจันทน์ ตั้งข้อสังเกตเป็นเชิงเรียกร้องไปยังรัฐบาลลาวเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

ขอร้องว่ารัฐบาลลาวควรลดการลงทุนในการสร้างเขื่อนกับเส้นทางรถไฟลง แล้วหันมาทุ่มทรัพยากรให้กับการช่วยเหลือเด็กๆ กับคนยากจนในประเทศให้มากขึ้น

 

อัลสตัน นักวิชาการชาวออสเตรเลีย ที่ปักหลักอยู่ในสหรัฐอเมริกา ตั้งข้อสังเกตว่า ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ลาวใช้อยู่ในปัจจุบัน ประเภท “บิ๊กโปรเจ็กต์” ทั้งหลาย หรือการให้สัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทำเกษตรกรรม หรือเพื่อการอื่นๆ มีแต่จะเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นสูงที่มั่งคั่งร่ำรวยอยู่แล้ว และทิ้งอีกหลายคนในสังคมไว้ข้างหลัง

ถ้าจะให้เศรษฐกิจลาวรุ่งเรืองและยั่งยืนได้ในวันข้างหน้า รัฐบาลมีแต่ต้องลงทุนมากขึ้นและทำหน้าที่ให้ดีกว่าเดิมในด้านให้การศึกษาและดูแลทะนุบำรุงประชาชนทุกภาคส่วนให้ทั่วถึงกันเท่านั้นเอง

อัลสตันชี้ให้เห็นว่า โครงการด้านสาธารณูปโภคและให้สัมปทานพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ของนักลงทุนต่างชาตินั้น เป็นการยึดเอาที่ดินทำกินไปจากมือของชาวบ้านในท้องถิ่น บีบบังคับไปในตัวให้ต้องโยกย้ายหาที่ลงหลักปักฐานใหม่ ที่สำคัญก็คือ โครงการใหญ่โตเหล่านั้นก่อให้เกิดการจ้างงานน้อย ไม่ได้ก่อให้เกิด “ภาษี” ที่เป็นรายได้ของประเทศมากนัก แต่ในเวลาเดียวกันก็สร้างหนี้ (สาธารณะ) ขึ้นสูงมาก

“สัมปทานดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่ไปราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ แต่หลายโครงการหรืออาจเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป สร้างผลตอบแทนน้อยมากต่องบประมาณของประเทศ” อัลสตันระบุ

 

ผู้ตรวจการพิเศษของยูเอ็นยังพาดพิงไปถึงบรรดาแม่หญิงลาว โดยชี้ว่าผู้หญิงลาวถูกตัดออกจากกระบวนการตัดสินใจเสียเป็นส่วนใหญ่ พอๆ กับบรรดาชนกลุ่มน้อยที่เป็นชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งรวมๆ กันแล้วมีสัดส่วนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ “ก็ถูกลิดรอนสิทธิอย่างรุนแรง” ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะวัดกันด้วยมาตรวัดทางรายได้ หรือโอกาสเข้าถึงการศึกษา และการสาธารณสุขก็ตามที

แม้จะยอมรับว่าลาวลดความยากจนได้ไม่น้อย แต่อัลสตันชี้ให้เห็นว่า กว่า 1 ใน 5 ของเด็กชาวลาวยังมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์, 9 เปอร์เซ็นต์มีปัญหาทุพโภชนาการอย่างรุนแรง และ 1 ใน 3 ของเด็กลาวทั้งประเทศมีภาวะการเติบโตชะงักงัน

ทั้งนี้ทั้งนั้น เด็กชาวลาวไม่ถึงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับวัคซีนถูกต้อง

 

เพ็ดวันไซย คูสะกุน เจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศของลาว เชื่อว่าข้อมูลที่อัลสตันได้รับนั้น “เอนเอียง” และตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า บรรดาเอ็นจีโอที่ป้อนข้อมูลทั้งหลายให้อาจมี “วาระซ่อนเร้น”

ที่สำคัญที่สุดก็คือ ความเห็นในทำนองนี้มาจาก “คนกลุ่มเล็กน้อย” ที่ไม่สามารถ “สะท้อนความเป็นจริงของทั้งประเทศ” ได้

อัลสตันดูเหมือนไม่ต้องการโต้แย้งในประเด็นที่ถูกคัดง้าง แต่ยืนยันว่า “ความท้าทาย” ทั้งหลายเหล่านั้นสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ แต่เบื้องต้นที่สุดต้องเริ่ม “ยอมรับ” ในตัวปัญหาก่อนอื่น

เขายืนยันว่า ทุกประเทศในโลกนี้มีปัญหาและต้องต่อสู้กับความยากจนเหมือนกันทั้งหมด

“ความยากจน” เป็น “การเมือง” อย่างหนึ่ง ซึ่ง “ต้องเลือก” เลือกว่าจะใช้ “เงิน” ไปเพื่ออะไร

เพื่อขจัดความยากจนให้เหลือน้อยที่สุด หรือเพื่อสร้างและทำให้ความยากจนกลายเป็นปัญหา “ถาวร” ในที่สุด