ในประเทศ : แบไต๋สูตร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ กกต.ควักแจก 25 พรรค แจ้งจับฐานหมิ่นประมาท สกัดเกม-ล่าชื่อ “ถอดถอน”

เงื่อนงำความไม่โปร่งใสก่อนและหลังเลือกตั้ง 24 มีนาคม

ยกระดับถึงจุดที่ กกต.แจ้งความเอาผิดกับผู้แชร์แคมเปญรณรงค์ถอดถอนบนเว็บไซต์ Change.org ซึ่งมีผู้ร่วมลงชื่อเกือบ 9 แสนราย

ในข้อหาความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท เบื้องต้นพบมีผู้กระทำผิด 7 ราย รวมถึง น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือโบว์ แกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กับนายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระและพิธีกรวอยซ์ทีวี

แต่แล้วการแจ้งความฟ้องร้องดังกล่าวกลับยิ่งทำให้กระแสต่อต้าน กกต.ลุกลาม เมื่อเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) รวมตัวยื่นหนังสือสอบถาม กกต.ใน 3 ประเด็น ได้แก่

การเปิดเผยผลการนับคะแนนรายหน่วยเลือกตั้ง ความถูกต้องและเป็นธรรมของสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์ และการถอนฟ้องประชาชนที่วิจารณ์การทำงานของ กกต.

นอกจากนี้ยังนำรายชื่ออาจารย์-นักวิชาการที่ร่วมลงชื่อและแชร์แคมเปญรณรงค์ถอดถอน กกต. ใน Change.org ยื่นให้กับ กกต. ประกาศยินดีให้ฟ้องร้องดำเนินคดีเหมือนเช่นประชาชนทั่วไป

ขณะเดียวกันกลุ่มตัวแทนสหภาพนักเรียน นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้แถลงเปิดตัวแคมเปญ #กกต.ต้องติดคุก

 

ดำเนินการฟ้องเอาผิด 7 กกต. ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายโดยทุจริต

หลังจากก่อนหน้านี้ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว แกนนำกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ และนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อถอดถอน กกต.ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ข้อถกเถียงเกี่ยวกับสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ยังเป็นปมร้อนต่อเนื่อง

 

ผ่าน 15 วันหลัง กกต.ประกาศผลคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต 100 เปอร์เซ็นต์ไม่เป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม

ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าพรรคการเมืองใดบ้าง จะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนเท่าใด กกต.ในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงก็ยังไม่มีคำตอบชัดเจนให้สังคม

ทั้งที่เป็นองค์กรเดียวสมควรต้องมีความรู้ความเข้าใจในสูตรการคำนวณตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง โดยเฉพาะสูตรดังกล่าวได้กำหนดหลักเกณฑ์วิธีคิดไว้แล้วทั้งในรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128

ก่อให้เกิดคำถามว่า การที่ กกต.พยายามอ้างเหตุผลต่างๆ นานาเพื่อดึงเวลา ไม่ยอมเปิดเผยวิธีคิดคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อทั้งที่การเลือกตั้งผ่านไปนานเกือบ 3 สัปดาห์แล้วนั้น เป็นเพราะเหตุใดกันแน่

การที่ กกต.มีมติสั่งนับคะแนนใหม่ 2 หน่วยเลือกตั้ง จ.ขอนแก่น เนื่องจากผลคะแนนไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ และบัตรเลือกตั้งที่ใช้ไป หรือที่เรียกว่า “บัตรเขย่ง”

รวมถึงการสั่งเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วยเลือกตั้ง ใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย

จ.ลำปาง เขตเลือกตั้งที่ 4 จำนวน 2 หน่วย, จ.ยโสธร เขตเลือกตั้งที่ 2 จำนวน 1 หน่วย, จ.เพชรบูรณ์ เขตเลือกตั้งที่ 1 จำนวน 1 หน่วย, จ.พิษณุโลก เขตเลือกตั้งที่ 2 จำนวน 1 หน่วย และกรุงเทพฯ เขตเลือกตั้งที่ 13 จำนวน 1 หน่วย

ถูกนำมาเป็นข้ออ้างหนึ่ง ว่าทำให้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบใด เพราะต้องรอผลนับคะแนนและการเลือกตั้งใหม่เสียก่อน

 

ท่ามกลางกระแสกดดันพุ่งเข้าใส่ กกต.จากทั่วทุกสารทิศ

ช่วงบ่ายวันที่ 5 เมษายน นายปกรณ์ มหรรณพ และนายฐิติเชฏฐ์ นุชนาฏ กกต. ร่วมพูดคุยเปิดใจกับสื่อ

โดยนายปกรณ์กล่าวตอนหนึ่งว่า ภารกิจสำคัญของ กกต. คือทำให้การเลือกตั้งสุจริตเที่ยงธรรม จะสืบสวนสอบสวนเรื่องร้องเรียนทุกเรื่องไม่ว่ามาจากประชาชนหรือฝ่ายใด

ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนเกือบ 300 เรื่อง ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับคะแนนสูงสุดใน 66 เขตถูกร้องเรียน

นอกจากนี้ กกต.สั่งให้นับคะแนนใหม่ 2 หน่วยใน จ.ขอนแก่น และสั่งเลือกตั้งใหม่ 6 หน่วยใน 5 จังหวัด ซึ่งทั้งหมดจะมีผลต่อคะแนนที่จะนำมาคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สำหรับการคิดคำนวณมีวิธีเดียวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128 และ 129 โดยสำนักงาน กกต.เชิญอดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาให้ความเห็น ซึ่งแนวทางก็ “สอดคล้อง” กัน

ทั้งนี้ ได้มีการคำนวณรองรับทุกกรณีที่อาจเกิดขึ้น แต่การที่ยังไม่ประกาศ เนื่องจากคะแนนทั่วประเทศยังเปลี่ยนแปลงได้จากการสั่งนับคะแนนและเลือกตั้งใหม่

โดยเฉพาะเรื่องร้องเรียนผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 66 เขต ถ้าสอบสวนแล้วเป็นจริงจะมีผลต่อการให้ใบส้ม (ระงับสิทธิ์สมัครชั่วคราว 1 ปี)

จะทำให้คะแนนที่จะนำมาคำนวณต่างออกไปทันที

 

กระนั้นก็ตาม ค่ำวันเดียวกัน สำนักงาน กกต.ออกเอกสารชี้แจงการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ว่า

สำนักงาน กกต.นำวิธีการคำนวณที่ได้เสนอต่ออดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวิธีที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 128-129

ประกอบกับเจตนารมณ์ของระบบการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกคนมาเป็นแนวทางในการคำนวณ

สำนักงาน กกต.ได้ปรึกษาหารือและนำเสนอ กกต.แต่ละท่านทราบเบื้องต้นแล้ว โดยตลอดมา กกต.แต่ละท่านมีข้อคิดเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ผลจากการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อโดยใช้ข้อมูลจากการประกาศผลการนับคะแนนของทุกเขตเลือกตั้งมาคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อในเบื้องต้น

มีพรรคที่ได้รับการจัดสรรจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรค

ทั้งนี้ เป็นเพียงการคำนวณโดยใช้ผลคะแนนรายเขตเลือกตั้ง ที่สำนักงาน กกต.แถลงเมื่อวันที่ 28 มีนาคม หลังจากนี้หากผลจากการที่ กกต.สั่งนับคะแนนใหม่หรือเลือกตั้งใหม่เสร็จสิ้นแล้ว

หากผลคะแนนรวมของพรรคเปลี่ยนแปลงไป จะต้องนำคะแนนใหม่มาคำนวณด้วยวิธีการเดิมอีกครั้ง โดยการคำนวณจะเสร็จสมบูรณ์ครั้งแรกต่อเมื่อ กกต.ประกาศผลเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95

 

การที่ กกต.เปิดเผยผลคำนวณเบื้องต้นว่ามีพรรคได้รับการจัดสรร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรค

ยิ่งทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยรุนแรงมากขึ้นว่า กกต.ใช้วิธีคิดคำนวณแบบใด ทำไมถึงมีพรรคได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อมากมายขนาดนั้น

โดยเฉพาะการที่ในจำนวน 25 พรรค มีอย่างน้อย 9 พรรคที่ได้คะแนนรวมต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของพรรคที่จะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือ 71,065 คะแนน

สวนทางกับที่นักวิชาการ นักคณิตศาสตร์ นักกฎหมายและนักการเมืองหลายคนได้เปิดเผยวิธีคิดคำนวณที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ว่ามีเพียง 14 พรรคเท่านั้นที่ได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยไม่รวมพรรคเพื่อไทยกับประชาชาติ ที่ได้ ส.ส.แบบเขตสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคพึงมี

กรณีสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เชื่อมโยงไปถึงการชี้ขาดระหว่างพรรคฝ่ายผู้มีอำนาจ กับพรรคฝ่ายประชาธิปไตย ฝ่ายใดจะได้จัดตั้งรัฐบาล

จึงเป็นประเด็นใหญ่ที่ กกต.ต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนและพรรคการเมืองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยเร็ว หากเนิ่นนานไปยิ่งไม่เป็นผลดี

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ก่อให้เกิดข้อพิรุธเคลือบแคลงมากมาย จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกี่ยวพันถึงการใช้อำนาจหน้าที่สนับสนุนให้พรรคใดพรรคหนึ่งชนะเลือกตั้ง ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่

ดังนั้น จึงมีแต่การเปิดเผยผลนับคะแนนรายหน่วย การใช้สูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ตลอดจนการถอนฟ้องประชาชนเท่านั้น

ที่จะเยียวยาสถานการณ์ในตอนนี้ได้

ส่วนภายภาคหน้าไม่ว่าผลเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร สามารถเดินหน้าไปต่อได้ หรือมีเหตุให้ต้องมีอันเป็นไป

กกต.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างหลีกหนีไม่พ้นอยู่ดี