หนุ่มเมืองจันท์ | “ความรู้” ใหม่

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

“คุณถูก ผมผิด”

เป็นประโยคทักทายน้อง 2 คนที่เจอกันหน้าห้องอัดเสียง

“โจ-เน็ต” แห่ง Readery ร้านหนังสือออนไลน์สุดฮิตครับ

เรื่องนี้มีที่มา

ปลายปีที่แล้ว “นก” น้องที่เคยอยู่สำนักพิมพ์มติชน นัดผมกับ “โจ-เน็ต” และทีมงาน

ทั้ง 2 คนอยากมาปรึกษาเรื่องการจัดงานหนังสือรูปแบบใหม่

LIT Fest

เขาคิดรูปแบบงานมาเรียบร้อย

มีทั้งหนังสือ-ดนตรี-หนัง

เป็นงานวัฒนธรรมที่มี “หนังสือ” เป็นศูนย์กลาง

เขาเชื่อว่าแรงบันดาลใจในงานศิลปะหลายอย่างมาจากหนังสือ

ในงานจะมีสำนักพิมพ์ต่างๆ มาขายหนังสือ

ทำบูธปล่อยของตามใจตัวเองได้เลย

มีดนตรีเล่นตอนเย็นๆ คุยเรื่องหนังสือ

มีนักเขียนตัวเป็นๆ ให้นั่งคุยด้วย

มีหนังให้ดู

มีนักเขียนนั่งหน้าพิมพ์ดีดให้คนมาเล่าเรื่องให้ฟัง

และอื่นๆ อีกมากมาย

ผมนั่งฟังไปเรื่อยๆ

คำถามแรก คือ จัดงานที่ไหน

เขาบอกว่า “มิวเซียมสยาม” หรือกระทรวงพาณิชย์เก่า

“มีที่จอดรถไหม”

“ที่จอดรถ” วันนี้เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการจัดงาน

ถ้าไม่มี “ที่จอดรถ” คนจะไม่มา

นั่นคือ “ความเชื่อ” ของผม

จากนั้น “คำถาม” ต่างๆ ก็ตามมาเรื่อยๆ

คุยกันเรื่อง “สปอนเซอร์”

เขายังไม่มี

ผมแนะนำการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

เสนอให้ปรับโครงการ เพิ่มเรื่องทัวร์ศิลปวัฒนธรรมและอาหารอร่อยๆ ในแถบนั้น

คุยกันพักใหญ่ก่อนลาจากกัน

บอกตามตรงว่าผมไม่เชื่อว่างานนี้จะประสบความสำเร็จ

ดูฮิป ดูเท่

แต่หนังสือในงานน้อย

เทียบกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติไม่ได้เลย

ไม่มี “ที่จอดรถ” ด้วย

ใครจะไป…

งาน LIT Fest จัดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมาครับ

อากาศไม่หนาวอย่างที่เขาคิด

ช่วงนั้น กทม.เจอฝุ่นพิษ PM 2.5 ด้วย

ใครเดินกลางแจ้งต้องใส่หน้ากาก

“ที่จอดรถ” ก็ไม่มี

แต่…

คนไปงานเยอะมาก

ทุกกิจกรรมได้รับเสียงชม

หน้าเฟซบุ๊กของผมช่วงนั้นมีแต่คนลงรูปถ่ายในงาน

โดยเฉพาะกิจกรรมที่ให้คนมานั่งเล่าเรื่องให้นักเขียนฟัง

นักเขียนจะเขียนเรื่องหรือบทกวีสดๆ จากเรื่องที่ได้ยิน

เป็นงานชิ้นเดียวในโลก

กิจกรรมนี้คนต่อคิวยาวเหยียด

LIT Fest เป็นงานที่ประสบความสำเร็จสูงมาก

ไม่มีใครบ่นเรื่อง PM 2.5 เลย

ไม่มีใครโวยเรื่อง “ที่จอดรถ” ด้วย

555 ผมผิดครับ

น้องเขาถูก

ผมใช้ “กรอบประสบการณ์” เก่าเรื่องการจัดงานหนังสือ

ไม่ว่าจะเป็นงาน “แฮปปี้บุ๊กเดย์” ของสำนักพิมพ์มติชน

หรืองานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ

“หนังสือ” ต้องเยอะๆ

เพราะสิ่งที่ “หนอนหนังสือ” ต้องการมากที่สุด

คือ “หนังสือ”

ผมคิดแบบเดิม

ลืมไปว่าคนรุ่นใหม่ไม่ได้คิดแบบเรา

และงานนี้แม้จะเอา “หนังสือ” เป็น “จุดเริ่มต้น”

แต่พอปรุงด้วยกิจกรรมต่างๆ มีทั้งดนตรี หนัง และอื่นๆ

LIT Fest จึงเป็นงานกิจกรรมรูปแบบใหม่ที่น่ารัก

บรรยากาศน่าเสพ

งานหนังสือไม่ได้มีแบบเดียว

“ความสำเร็จ” ก็ไม่ได้มีแบบเดียวเช่นกัน

สิ่งที่เคยประสบความสำเร็จในอดีตอาจใช้ไม่ได้กับปัจจุบัน

โลกเปลี่ยน

“ทาง” ก็เปลี่ยน

บทเรียนจากงานนี้ทำให้ผมสบายใจขึ้นเวลาที่น้องๆ มาขอปรึกษาเรื่องงาน

หลังจากให้ความเห็นอย่างเมามัน

ผมจะยกตัวอย่างงานนี้ให้น้องๆ ฟัง

แล้วสรุปสั้นๆ

“อย่าเชื่อผม”

เพราะความเห็นของผมเป็นมุมมองในอดีต

ยุค “โนเกีย” ยังรุ่งเรือง

ประสบการณ์ก็คนละ พ.ศ.กัน

ยิ่งถ้ากลุ่มเป้าหมายเป็น “คนรุ่นใหม่” แล้ว

รสนิยมคนละเรื่องกันเลย

การบอกว่า “อย่าเชื่อผม” นอกจากเตือนสติน้องๆ แล้ว

ยังเป็นการปัดความรับผิดชอบรูปแบบหนึ่งด้วย

ถ้าเชื่อแล้วทำตาม

ผิดพลาดก็ว่ากันไม่ได้

เพราะเตือนแล้ว

“อย่าเชื่อผม”

นอกจากนั้นผมยังได้เรียนรู้ว่า “ประสบการณ์” ในอดีต

ด้านหนึ่ง คือ “ความรู้”

ด้านหนึ่ง คือ “กรอบ”

สิ่งใหม่ๆ ที่นอกเหนือจาก “กรอบ” ของเรา

เราจะงงๆ

ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปได้

ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งต้องระวัง

อย่าสรุป “ปัจจุบัน” ด้วยประสบการณ์ใน “อดีต”

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็น “บทเรียน” จากเรื่องนี้

ผมได้ “ความรู้ใหม่” ครับ

นั่นคือ ได้รู้ว่า “ความรู้เก่า” อะไรที่ใช้ไม่ได้

เหมือนต้นไม้ที่แต่งกิ่ง ตัดใบเก่าออกบ้าง

พักหนึ่ง ใบใหม่จะผลิบาน

“ความรู้” ก็เช่นกัน