รายงานพิเศษ : คุยกับทูต ฆิลเบร์โต โมวร่า หม้อที่หลอมรวมความหลากหลาย… มหัศจรรย์บราซิล (3)

บราซิลมีความแตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค เช่น ภูมิอากาศ อาหาร ประชาชนหลายชาติหลายภาษารวมทั้งชาวพื้นเมืองที่มาอยู่รวมกัน

แต่สิ่งที่ทุกคนมีเหมือนๆ กัน คือความรู้สึกเป็นบราซิล

และภาษาที่ใช้เท่านั้นคือภาษาโปรตุเกส ถึงแม้จะมีสำเนียงที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม

เมื่อปี ค.ศ.2013 บราซิลมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก

และคาดกันว่าจะใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในปี ค.ศ.2020 และเป็นอันดับ 4 ในปี ค.ศ.2050

บริษัท Embraer ของบราซิล ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ได้เป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากแอร์บัส (Airbus) ของฝรั่งเศส โบอิ้ง (Boeing) ของสหรัฐอเมริกา และบอมบาร์ดิเอร์ (Bombardier) ของแคนาดา

โดยบราซิลเป็นผู้ผลิตเครื่องบินโดยสารขนาดกลาง (Embraer Regional Jet – ERJ) 100 ที่นั่ง อันดับ 1 ของโลก

บราซิลเป็นผู้ผลิตอ้อย น้ำตาลและน้ำส้ม อันดับ 1 ของโลก (ขณะที่ไทยส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลกและเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน)

บราซิลเป็นผู้ผลิตผลไม้และรองเท้า อันดับ 3 ของโลก

เป็นตลาดเครื่องสำอาง อันดับ 1 ของโลก

เป็นตลาดผู้บริโภคใหญ่ อันดับ 8 ของโลก

เป็นที่น่าสังเกตว่า บราซิลสามารถส่งออกได้ทั้งสินค้าเกษตรกรรมและสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างเครื่องบิน

 

บราซิลเป็นประตูการค้าไปสู่ละตินอเมริกา เป็นสมาชิกของ Mercosur (เป็นคําย่อที่มาจากคําว่า Mercado Comun del Sur เป็นภาษาสเปน หรือ Southern Cone Common Market) หมายถึง กลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอเมริกาใต้

มีประเทศสมาชิกรวม 4 ประเทศ คือ บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย และขณะนี้มีสมาชิกสมทบ คือ ชิลี เปรู โคลอมเบีย กลุ่ม BRICS และกลุ่ม G20

มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับบราซิลคิดเป็น 4,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออก 2,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ไทยได้เปรียบดุลการค้า 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศจะเพิ่มในอนาคตเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรชนชั้นกลางของบราซิล

 

นายฆิลเบร์โต โมวร่า เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทยกล่าวถึงวัตถุประสงค์ทางการทูตตอนหนึ่งว่า “มีความปรารถนาให้ประเทศของเราทั้งสองได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและคนไทยได้รู้จักบราซิลในหลายๆ ด้าน ไม่เฉพาะแต่เรื่องฟุตบอล คาร์นิวัล หรือแซมบ้า เท่านั้น”

“สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างกันนั้น ครอบคลุมถึงการส่งเสริมการค้า การลงทุน ความร่วมมือทางวิชาการ พลังงาน เชื้อเพลิงทดแทน โดยเฉพาะพลังงานชีวภาพ และการลงทุนด้านพลังงานของไทยในบราซิล เกษตรกรรม วัฒนธรรม และกีฬา โดยเฉพาะมวยไทย ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในบราซิล”

“เรานำเข้าสินค้าจากไทย เช่น ชิ้นส่วนและอุปกรณ์รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งยางธรรมชาติเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยางรถยนต์และผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ”

“เราต้องการที่จะเพิ่มปริมาณการค้าของเราโดยการซื้อสินค้าจากประเทศไทย ถ้าคุณเคยได้ยินชื่อบริษัท โกลเด้น ฟู้ดส์ สยาม จำกัด (Golden Foods Siam Limited) เพราะบริษัทจากบราซิลได้เข้าซื้อกิจการบริษัทนี้”

 

ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า บราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าสัตว์ปีกรายใหญ่ที่สุดของโลก (97% เป็นเนื้อไก่ และ 3% เป็นไก่งวง) โดยปี 2015 บราซิลส่งออกเนื้อไก่ประมาณ 3.74 ล้านตัน ขณะที่สหรัฐอเมริกาและอียู เป็นผู้ส่งออกเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ

เมื่อปลายปี 2015 บริษัท Brazil Food”s Global (BRF) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านอุตสาหกรรมการผลิตอาหารของบราซิลและเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์จากไก่รายใหญ่ที่สุดของโลก ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท โกลเด้น ฟู้ดส์ สยาม จำกัด (ซึ่งดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากไก่ครบวงจรโดยมีกลุ่มธุรกิจการเกษตรอยู่ที่ชลบุรี โรงงานชำแหละเนื้อไก่ ในปทุมธานี และนครนายก โรงงานแปรรูปอาหารจากเนื้อไก่ อยู่ที่นครนายก นับเป็นหนึ่งในบริษัทแปรรูปไก่ชั้นนำของไทย ที่มีเครือข่ายดำเนินการใน 15 ตลาดทั่วโลก) มูลค่ากว่า 1.2 หมื่นล้านบาท (360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

ซึ่งถือเป็นการลงทุนมูลค่ามากที่สุดของบริษัทสัญชาติบราซิลในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย

“นอกจากนี้ เรายังพยายามที่จะส่งเสริมธุรกิจด้านเครื่องบินของประเทศบราซิล (Brazilian Regional Jets) ซึ่งหน่วยงานทางทหารที่นี่รู้จักกันดีอยู่แล้ว รวมทั้งในระดับภูมิภาค และประเทศต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย” ท่านทูตโมวร่า เสริม

 

สําหรับการลงทุนของบราซิลในไทย ปัจจุบัน มีบุคคลสัญชาติบราซิลถือหุ้นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทยแล้วถึง 33 ราย เป็นมูลค่ารวมประมาณ 150 ล้านบาท

และมีบริษัทร่วมทุนระหว่างบราซิลกับสหรัฐ ชื่อ Asian Production & Services Ltd. ซึ่งผลิต wire assembly หนึ่งโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่นครราชสีมา ระหว่างปี ค.ศ.1970-2010 โดยมีมูลค่าลงทุน 3 ล้านบาท และบริษัท อินเตอร์แมน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (Interman Corporation Co., Ltd) ภายใต้ Jacto Group ได้เข้ามาลงทุนเพื่อผลิตเครื่องพ่นสารเคมีแบบสะพายหลัง มีโรงงานตั้งอยู่ที่ระยอง

ส่วนการลงทุนของไทยในบราซิล ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมลงทุนกับบริษัท BG Group ของอังกฤษ และได้รับสัมปทานในการสำรวจและขุดเจาะน้ำมันในแหล่งน้ำมันนอกชายฝั่งรัฐริโอเดจาเนโร เมื่อปลายปี ค.ศ.2013

บริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน หรือ Cal-Comp Electronics (Thailand) PLC. เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างไทยกับไต้หวันที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยรายแรกที่เข้าไปลงทุน และเปิดโรงงานที่เมืองมาเนาส์ (Manaus) รัฐอามาโซนัส (Amazonas) ตั้งแต่ปี ค.ศ.2011 บริษัทผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ แผงวงจรคอมพิวเตอร์ และกล่องรับสัญญาณดาวเทียม โดยจ้างงานชาวบราซิล 1,500 คน ชาวไทย 50 คน และได้เปิดโรงงานเพิ่ม 1 แห่งในเดือนกันยายน ค.ศ.2014 บริษัทมีรายได้ตลอดปี ค.ศ.2012 สูงถึง 12,000 ล้านบาท

บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์แนชั่นแนล จำกัด มหาชน (Minor International PLC. – MINT) ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จากที่มีรีสอร์ตเพียงหนึ่งแห่งที่พัทยาในปี ค.ศ.1978 จนปัจจุบัน MINT กลายเป็นผู้ประกอบธุรกิจพักผ่อนและสันทนาการที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ประกอบด้วยโรงแรมและรีสอร์ตกว่า 150 แห่ง ร้านอาหารกว่า 1,800 สาขา และมีจุดจำหน่ายสินค้ากว่า 300 แห่งในประเทศไทย และอีก 32 ประเทศ ครอบคลุมจากทวีปแอฟริกา ถึงออสเตรเลีย รวมทั้งอเมริกาใต้และยุโรป

มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเทพฯ และยังได้เข้าซื้อกิจการโรงแรม 2 แห่งในบราซิล ได้แก่ ทิโวลี เซาเปาลู โมฟาร์เรจ์ ที่นครเซาเปาโล (Tivoli Mofarrej – S?o Paulo) และทิโวลี อีโครีสอร์ต ไปรอา ดู ฟอร์เต้ เมืองซัลวาดอร์ (Tivoli Ecoresort Praia do Forte – Salvador, Bahia) รวมทั้งการให้บริการแบรนด์สปา Anantara เมื่อปลายเดือนมกราคม ค.ศ.2015

 

“น่าเสียดายที่บราซิลมักไม่ใช่จุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ที่สำคัญในการท่องเที่ยวของคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่มุ่งไปญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป และประเทศเพื่อนบ้าน อาจเป็นเพราะระยะทางที่ห่างไกลและใช้เงินมากกว่า” ท่านทูตโมวร่า กล่าวถึงด้านการท่องเที่ยว

จากสถิติสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ในปี ค.ศ.2012 มีชาวอเมริกาใต้เดินทางเข้าไทยจำนวน 79,875 คน

ในจำนวนนี้ชาวบราซิลเดินทางเข้าประเทศไทยสูงสุด คือ 32,570 คน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 จากปี ค.ศ.2011 ซึ่งมีจำนวน 26,810 คน)

ดัชนีราคาห้องพักโรงแรม The Hotels.com? Hotel Price IndexTM (HPI?) ปี ค.ศ.2013 รายงานว่า ราคาที่พักโดยเฉลี่ยในประเทศไทยอยู่ที่ราว 3,307 บาทต่อคืน และนักท่องเที่ยวที่จ่ายค่าที่พักโดยเฉลี่ยสูงสุดเมื่อเดินทางมาเยือนประเทศไทยคือชาวบราซิล โดยห้องพักที่ชาวบราซิลเลือกจองนั้น มีราคาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 4,435 บาทต่อคืน

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบราซิเลีย คาดว่า จำนวนชาวบราซิลที่เดินทางมาประเทศไทยมากขึ้นน่าจะมาจากการที่สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยมีคุณภาพและคุ้มค่าในการใช้จ่าย (best value destination) และมีความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านวัฒนธรรมและธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบราซิลสนใจ

โดยปัจจุบันชาวบราซิลมีกำลังซื้อสูงขึ้นมาก และต้องการออกไปจับจ่ายใช้สอยในต่างประเทศมากขึ้น

 

เนื่องจากไทยเป็นประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN) ที่เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของบราซิล และเป็นประตูการค้าของบราซิลสู่อาเซียน

ดังนั้น ในด้านความสัมพันธ์กับอาเซียน ผู้แทนจากบราซิล ได้ลงนามในสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 21 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.2012 ที่กัมพูชา

สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นเสมือนหมุดหมายเชิงหลักการที่สำคัญสำหรับทุกประเทศที่ต้องลงนามยอมรับ ก่อนเข้ามาปฏิสัมพันธ์กับอาเซียน

โดยสนธิสัญญานี้ ยืนอยู่บนพื้นฐานของการเคารพอธิปไตยระหว่างกัน การไม่แทรกแซงกิจการภายใน ปลอดการแทรกแซงจากภายนอก

แก้ไขข้อขัดแย้งโดยสันติ และไม่ใช้กำลังแก้ไขปัญหา

บราซิลนับเป็นประเทศแรกจากทวีปอเมริกาใต้ที่ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ ทั้งนี้ก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงในการเข้ามาเป็นหุ้นส่วนและปฏิสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมกับภูมิภาคอาเซียนอย่างสันติและคงไว้ซึ่งเสถียรภาพในอนาคต

โดยท่านทูตโมวร่า กล่าวว่า

“เนื่องจากในปีนี้ สปป.ลาว ทำหน้าที่ประธานหมุนเวียนอาเซียน (ASEAN) และในฐานะที่ผมเป็นเอกอัครราชทูตที่มีเขตอาณาเขตครอบคลุมประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว จึงได้มีการประชุมร่วมกับนักการทูตของเราในประเด็นที่เกี่ยวพันกับอาเซียนด้วย”