หลังเลนส์ในดงลึก /ปริญญากร วรวรรณ/ ‘เพื่อน’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
กวาง - อยู่ในที่โล่ง กวางจะระมัดระวังตัวอย่างสูง พวกมันจะผลัดกันเงยหน้าดูรอบๆ แม้ว่าดวงตาของพวกมันจะได้รับการออกแบบมาให้อยู่ในตำแหน่งที่ค่อนมาทางหู และสามารถเหลือบตาดูรอบๆ โดยไม่ต้องเงยหน้า

หลังเลนส์ในดงลึก/ปริญญากร วรวรรณ

‘เพื่อน’

มีความจริงอย่างหนึ่งที่เรารู้และยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ผู้ที่ทำกับข้าวเก่งๆ มักเป็นผู้ชาย

โดยเฉพาะในงานที่ผมทำอยู่นั้น เกือบตลอดเวลา ผมต้องกินอาหารโดยฝีมือของพ่อครัวมากกว่าแม่ครัว

กว่า 4 ปีในช่วงที่ผมได้รับโอกาสให้อยู่ร่วมในทีมศึกษานิเวศวิทยาของเสือโคร่ง ในสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ

เวลาอยู่ในป่า ไม่ได้อยู่ในสถานีที่มีป้าเบ็งเป็นแม่ครัวใหญ่แล้ว

เรามีถาวร ผู้ช่วยนักวิจัย ร่างผอมบาง ทำหน้าที่พ่อครัว

“เจ้ารอดไม่ได้ทำกับข้าวเก่งอะไรหรอกครับ” อ่อนสา รุ่นพี่นินทา

“เคล็ดลับของมันคือทำช้ามากจนคนหิว ตอนนั้นอะไรๆ ก็อร่อยแล้ว”

ถาวร หรือที่เพื่อนๆ ในสถานีเรียกว่ารอด ผมพูดและเขียนถึงเขาบ่อย เพราะเราเดินป่าเพื่อเข้าไปตามสัญญาณวิทยุที่ส่งมาจากเสือโคร่งด้วยกันตลอด

ผมทึ่งกับความรอบรู้ รู้จักใบไม้ พืชต่างๆ ที่กินได้ของเขามาก ทุกมื้อ เขาจะเดินไปเด็ดใบไม้แถวๆ นั้นมาจิ้มน้ำพริก หลายชนิดผมไม่รู้ว่ากินได้ หลายชนิดรสชาติดีมาก

ในฤดูเห็ดโคน รอดจะเตรียมแค่ปลาร้าสับ หรือปลาร้าบองใส่เป้ไป พบเห็ดข้างทาง เขาเก็บมาล้างน้ำ ก่อไฟตั้งหม้อสนาม เอาปลาร้าบองใส่เติมน้ำ ใส่เห็ดลงไป เดือดได้ที่ก็เอาออก กินกับข้าวได้อย่างอร่อย นี่เป็นเมนูโปรดของเราในฤดูนี้

บางครั้งถ้าพบเห็ดที่มีก้านใหญ่ๆ เขาจะเอามาย่าง

“แบบนี้เอาสเต๊กมาแลกก็ไม่ยอม” รอดพูด

“แต่พี่เอานะ” อ่อนสาพูดยิ้มๆ

เห็ดโคนรสชาติดี แต่กินทุกมื้อ ทุกวัน ความอร่อยคล้ายจะหายไปไม่น้อย

 

ไม่แค่รอดหรอกที่ทำกับข้าวเก่ง ผู้ชายเกือบทุกคนที่ทำงานในป่า มักมีฝีมือในการทำกับข้าว

หลายครั้งผมร่วมไปกับทีมวางกล้องดักถ่ายเพื่อสำรวจประชากรเสือโคร่งทั่วทั้งป่าตะวันตก ตั้งแต่ป่าห้วยขาแข้ง และป่าทุ่งใหญ่นเรศวรทั้งฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก

สมาชิกในทีมทุกคนทำกับข้าวได้ แต่เป็นที่รู้กันว่า ใครคือมือหนึ่ง

เช่น ศรี ถนัดทุกอย่างจึงได้รับการยอมรับให้เป็นหัวหน้าครัว ส่วนโหน่ง ผัดผักอร่อย สำหรับบุญเลิศ ตำน้ำพริกและแกงรสจัดได้ แต่ทำแกงจืดไม่เป็น

“อะไรๆ ทำได้หมดครับ แต่แกงจืดนี่ขอผ่าน” บุญเลิศบอก

ช่วงที่ผมทำงานในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันตก อดิเทพ คู่หูเป็นคนทำกับข้าว ซึ่งนอกจากน้ำพริกปลากระป๋องแล้ว

อย่างอื่น รสชาติห่างไกลคำว่าอร่อยมาก

 

ในป่าทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันออก

เราได้รับความสนับสนุนจากหัวหน้าเขตเป็นอย่างดี หัวหน้าให้เราพักในบ้านที่สร้างสำหรับเจ้าหน้าที่ แต่ให้เราอยู่ก่อน เรามีที่เก็บสัมภาระเวลาออกจากป่ามาที่เขต

ที่นี่เวลาอาหาร เราจะไปกินที่โรงครัวหลังบ้านพักหัวหน้า

ที่โรงครัว จึงคล้ายเป็นที่ชุมนุม บริเวณนี้เรียกว่า ครัวหัวหน้า

ผู้ควบคุมอาณาเขตนี้เป็นผู้ชายหน้าตาดี แบบชายชาวเหนือ ผิวขาว ร่างท้วม มาจากจังหวัดแพร่ ชื่อว่า สุวิทย์

 

ผู้ที่เคยมาเยือนทุ่งใหญ่ฝั่งตะวันออก และอาจเคยแวะเวียนเข้าไปที่ครัวหัวหน้า จะเห็นสุวิทย์เดินไปเดินมา หรือปรุงอาหารอยู่หน้าเตา

สุวิทย์อยู่ที่นี่มานาน สอบเป็นพนักงานราชการได้

เขาเชี่ยวชาญงานครัว ทั้งวางแผนคิดเมนู ออกไปเมืองอุ้มผาง ซื้อเสบียง

แต่ก็เหมือนกับคนอื่น คือ ทำงานได้หลายหน้าที่ เราจึงเห็นเขาใส่ชุดลายพรางออกไปลาดตระเวน และนั่งหน้าคอมพ์รวบรวมข้อมูลจากชุดลาดตระเวนเพื่อเตรียมประชุม

สุวิทย์มีบุคลิกสุภาพเรียบร้อย หัวเราะง่าย พูดคุยสนุก และจะสุภาพเรียบร้อย คุยสนุกมากขึ้น เมื่อเครื่องดื่มจากบ้านปะละทะหมดไปสักหนึ่งขวด

 

นอกจากโต๊ะยาวด้านหน้าที่ใช้เป็นที่กินข้าวของหัวหน้าและแขกที่มาเยือนแล้ว ตรงกลาง คือที่ประกอบอาหาร ถัดไปเป็นลานกว้าง หน้าห้องน้ำ ขวามือคือที่ล้างจาน หน้าห้องน้ำ มีโต๊ะสร้างด้วยไม้อย่างหยาบๆ อยู่หนึ่งตัว มีเก้าอี้ 2-3 ตัว

ที่นี่แหละ คือที่ชุมนุมแท้จริง

ครัวนี้จะมีข้าวร้อนๆ และมีกับข้าวตลอดเวลา ใครก็ตามที่ผ่านไป-มา แวะเข้ามากินได้

ทุกครั้ง เวลาอาหารกับข้าวถูกยกออกมาด้านหน้า แต่คนมักชุมนุมอยู่โต๊ะด้านหลัง

“เฮ้ย! พวกนั้นน่ะ ออกมาข้างหน้า” หัวหน้าตะโกน

“แอบกับข้าวดีๆ ไว้ข้างหลังหรือไง” หัวหน้าถามเสียงดัง

ผมเมื่อมีโอกาสก็จะเลี่ยงๆ ไปด้านหลังเช่นกัน เพราะมักมีกับข้าวพิเศษๆ อย่างน้ำพริก หรือแกงแบบกะเหรี่ยง

สุวิทย์กุลีกุจอเลื่อนเก้าอี้ พร้อมรินปะละทะใส่จอกเล็กๆ ส่งให้

“แก้หนาวครับ” ผมรับมาจิบ

“อีกหน่อยครับ จะได้กินข้าวอร่อย” เขายื่นจอกที่สอง

การได้ร่วมวงสนทนา คือความรื่นเริง

“ถ้าวิทย์มันเริ่มเอานิ้วชี้สองนิ้วตีกันเมื่อไหร่ นั่นแสดงว่าได้ที่แล้วครับ” อ๋อ เพื่อนรุ่นเดียวกับเขาบอก

ในวงสนทนา ผมเห็นคนรอบๆ ตัวหัวเราะ เล่าเรื่องตลก หลายคนอยู่ในสภาพไร้สติ

พวกเขาไม่ได้ “เมา” เพื่ออยากลืมอะไรหรอก

แต่นี่คือช่วงเวลาพัก

ห่างจากที่นี่ไม่กี่กิโลเมตร ไม่นานมานี้ พวกเขาปะทะกับผู้ต้องหาซึ่งแอบเข้ามาล่าสัตว์

มีเพื่อนในทีมบาดเจ็บและเสียชีวิต

และนั่นคือเรื่องที่ไม่มีใครลืม

 

ผมเลือกใช้การ “ฝังตัว” อยู่ในป่าผืนใดผืนหนึ่งนานหลายปีมานานแล้ว

ไม่ได้อยู่ในป่าเพียงถ่ายรูปสัตว์ป่า แต่ผมได้รับโอกาสให้เป็นเพื่อนด้วย

กับสัตว์ป่านั้น สิ่งหนึ่งที่ผมยอมรับคือ ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ สถานะของเราก็เป็นแค่คนแปลกหน้าสำหรับพวกมัน

แต่กับเพื่อนๆ เหล่านี้ ผู้กำลังผลัดกันเล่าเรื่องต่างๆ

สุวิทย์สุภาพยิ่งขึ้น ยกมือไหว้แล้วไหว้อีก และเริ่มเอานิ้วชี้ตีกัน

 

สุวิทย์ลาออกไปเพราะมีภารกิจทางบ้านที่ต้องดูแล

เดินเข้าครัวหัวหน้าไม่พบเขา ก็ดูคล้ายจะขาดบางสิ่งไป

ครัวเงียบกว่าเดิม

สุวิทย์ก็เหมือนกับ “เพื่อนๆ” ในป่าแห่งอื่นๆ

ที่ผมมักจะนึกถึงเมื่อได้รับโอกาส ได้เป็นเพื่อนกับพวกเขา ทำให้รู้ว่า

ระหว่าง “เพื่อน” กับคนรู้จัก

ต่างกันอย่างไร