ลักษณะ ธรรมกาย กระบวนการ “การจัดตั้ง” พลานุภาพ พิเศษ

แฟ้มภาพ AFP PHOTO / LILLIAN SUWANRUMPHA

มีคำถามตามมามากเกี่ยวกับกรณีที่ “ดีเอสไอ” และ “ตำรวจ” และ “อัยการ” จะดำเนินการจับตัว พระเทพญาณมหามุนี ในคดีเกี่ยวกับการรับของโจรและฟอกเงินจากเงินบริจาคของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน คลองจั่น

เพราะว่าในมือของ “ดีเอสไอ” มี “หมายจับ”

เพราะว่านอกจาก “หมายจับ” แล้ว “ดีเอสไอ” ยังเคยขอ “หมายค้น” บุกเข้าไปภายในวัดพระธรรมกายตั้งแต่เมื่อเดือนมิถุนายน

แต่ก็ “ล้มเหลว” ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่สามารถ “จับตัว” ได้

จากเดือนมิถุนายนมาถึงคราใหม่ ทาง “ดีเอสไอ” และ “ตำรวจ” ได้ยื่นคำขาดและกำหนด “เส้นตาย” ให้กับพระเทพญาณมหามุนีหลายครั้ง

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน กระทั่งวันที่ 10 ธันวาคม

แต่จนแล้วจนรอด พระเทพญาณมหามุนี ก็ไม่ยอมออกจากวัดพระธรรมกาย อ้างว่าอาพาธหนักไม่สะดวกต่อการออกมามอบตัว

ทำให้ “ดีเอสไอ” จำเป็นต้องขอ “หมายค้น” เพื่อบรรลุเป้าหมายตาม “หมายจับ”

ปรากฏการณ์สำคัญก็คือ 1 การแข็งขืนต่อ “หมายจับ” และไม่ยอม “มอบตัว” ขณะเดียวกัน 1 คือการที่มี “คณะศิษยานุศิษย์” ออกมาปกป้องและเห็นด้วยกับการแข็งขืน ไม่ยอมรับต่อ “หมายจับ” และการ “มอบตัว” ของพระเทพญาณมหามุนี

ประเด็นอันเกี่ยวกับ “ศิษยานุศิษย์” นี่แหละ “สำคัญ”

000_del6397443

ความรัก ศรัทธา
และ ความเชื่อมั่น

ปรากฏการณ์ที่เห็นอย่างต่อเนื่องและยาวนานนับแต่วัดพระธรรมกายก่อตั้งและเคลื่อนไหวเผยแพร่ธรรมะเมื่อ 4 ทศวรรษก่อน

1 คือ การเติบใหญ่ พัฒนาและขยายตัว

ไม่เพียงแต่จำนวนของ “กัลยาณมิตร” ที่อยู่ในกลุ่ม “ศิษยานุศิษย์” จะขยายปริมาณเป็นจำนวนมากมาย จากจำนวนหลัก 10 เป็นหลัก 100 เป็นหลัก 1,000

หากจากหลัก 1,000 กลายเป็นหลัก 10,000 และเข้าสู่หลัก 100,000

หากที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ถาวรวัตถุอันเป็นสมบัติและทรัพย์สินของวัดก็เติบใหญ่ พัฒนาและขยายตัวเป็นอย่างสูง

ปัจจุบัน สำนักวัดพระธรรมกายอยู่บนพื้นที่ 2,000 กว่าไร่

ไม่เพียงแต่เท่านั้น ยังแยกกิ่ง แตกสาขา ออกไปอีกเป็นจำนวนมากมายหลายร้อย ทั้งในประเทศและในต่างประเทศ

มองจาก “จำนวน” อาจเป็นเรื่องในทาง “ปริมาณ”

แต่ที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ปริมาณที่เข้าสู่หลัก 100,000 และเข้าสู่หลัก 1,000,000 เมื่อมีการทำบุญและจัดกิจกรรมย่อมสะท้อน 1 ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งยวด

คือ คุณภาพของ “กัลยาณมิตร” แห่ง “วัดพระธรรมกาย”

AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ลักษณะ “จัดตั้ง”
วัดพระธรรมกาย

การเติบใหญ่ พัฒนาและขยายตัวอย่างไม่ขาดสายของวัดพระธรรมกายมีพื้นฐานมาจาก 1 ผู้นำ และ 1 ผ่านกระบวนการจัดตั้งอย่างเป็นระบบ

ผู้นำทางจิตวิญญาณ ได้แก่ แม่ชีนกยูง

ผู้นำที่สืบทอด พระอาจารย์สด แม่ชีนกยูง มี 2 คนที่สำคัญ 1 คือ พระเทพญาณมหามุนี หรือที่รู้จักในฉายาธัมมชโย และ 1 คือพระราชภาวนาจารย์ หรือที่รู้จักในฉายาทัตตชีโว

2 บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์นี่แหละคือ “ผู้นำ”

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานแห่งการเติบใหญ่ของวัดพระธรรมกายมาจาก 2 รากฐานในทางความคิดที่มากด้วยพลานุภาพ

1 คือลักษณะจัดตั้งแห่ง “คณะสงฆ์”

คณะสงฆ์อันมีจุดเริ่มตั้งแต่สมัยพุทธกาลมีการจัดตั้งและเผยแพร่ผลงานของตนอย่างเป็นระบบมาแล้วอย่างเด่นชัด

การเติบใหญ่ของศาสนาพุทธวางน้ำหนักอยู่ที่ “การจัดตั้ง”

ขณะเดียวกัน 1 คือ การประสานลักษณะจัดตั้งอันดำรงอยู่เหมือนเป็นมรดกแห่งพุทธศาสนาเข้ากับลักษณะจัดตั้งในยุคแห่งสมัยใหม่

เท่ากับเป็นการศึกษาบทเรียนจาก “วาติกัน”

เป้าหมายแรกของวัดพระธรรมกายคือเป้าหมายของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัยผ่านชมรมพุทธของแต่ละสถาบันการศึกษา อาศัยการอุปสมบทและบรรพชาตามแต่ละห้วงเวลาเป็นเครื่องมือในการอบรมและบ่มเพาะสร้างบุคลากร

คัดเอาคนเหล่านั้นเข้ามาเป็น “กำลัง” และพัฒนายกระดับไปสู่การเป็นพระภิกษุสงฆ์ในสังกัด

ขณะเดียวกัน บรรดาศิษยานุศิษย์ซึ่งเป็นฆราวาสเมื่ออยู่ในกระบวนการศึกษาระดับสูง เมื่อออกไปประกอบอาชีพการงานก็ประสบความสำเร็จ ทำให้ฐานของ “กัลยาณมิตร” ในเครือข่ายของวัดพระธรรมกายมีแต่เติบใหญ่และขยายตัว

คาดกันว่ากำลังโดยพื้นฐานนี้อยู่ในหลัก “เรือนล้าน” และ “หลายล้าน”

 AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT
AFP PHOTO / CHRISTOPHE ARCHAMBAULT

ลักษณะ จัดตั้ง
สร้างพลานุภาพ

การจัดตั้งกันอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยหลักการและความเชื่อในทางศาสนามาเป็นเครื่องร้อยรัดทำให้องค์ประกอบภายในของวัดพระธรรมกายมีความแข็งแกร่ง

เป็นความแข็งแกร่งภายในหลักแห่ง “วินัยเหล็ก” ในทาง “ความคิด”

จึงไม่แปลกที่แม้ว่าหัวขบวน คือ พระเทพญาณมหามุนี หรือ พระราชภาวนาจารย์ จะถูกกล่าวหาอย่างไร ความเชื่อมั่นก็ยังดำรงคงมั่น

รูปธรรมก็คือ การห้อมล้อมจาก “มวลชน” อย่างไม่เคยแปรเปลี่ยน

รูปธรรมก็คือ แม้จะมีการส่งกำลังเข้าไปของดีเอสไอและตำรวจ ทหาร จำนวนมากมาย แต่ก็ต้องพบกับ “กำแพงมนุษย์” จากคณะศิษยานุศิษย์ทั้งชายและหญิง

การใช้กำลังเข้า “จัดการ” กับ “ธรรมกาย” จึงต้องล้มเหลว ครั้งแล้วครั้งเล่า

กระบวนการของ “การจัดตั้ง” นั้นเองที่ทำให้ “วัดพระธรรมกาย” มีความแข็งแกร่งด้วยกำแพงแห่งความเชื่อมั่น ศรัทธา