ต่างประเทศ : จาก “เฮย์เซย์” สู่ “เรย์วะ” เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ญี่ปุ่น

ความสำคัญของการเปลี่ยนรัชสมัยตามธรรมเนียมของประเทศญี่ปุ่น สะท้อนผ่านความสนใจของชาวญี่ปุ่นที่ออกมาชมการถ่ายทอดสดผ่านจอยักษ์ทุกมุมเมืองของประเทศ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา

ภาพนายโยชิฮิเดะ สุงะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ถือแผ่นกระดาษสีขาวพร้อมด้วยตัวอักษรคันจิสีดำ 2 ตัวเขียนเป็นคำว่า “เรวะ” ถูกถ่ายทอดไปทั่วโลก

นับเป็นการประกาศชื่อรัชสมัยใหม่อย่างเป็นทางการ

 

รัชสมัย “เรย์วะ” จะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เมื่อมกุฎราชกุมารนารุฮิโตะขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ และจะนับเป็นการสิ้นสุดยุค “เฮย์เซย์” ระยะเวลา 31 ปีของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะ ผู้ที่จะสละราชสมบัติในวันที่ 30 เมษายนนี้ลงเช่นกัน

ชื่อรัชสมัยของจักรพรรดิ หรือที่เรียกกันในภาษาญี่ปุ่นว่า “เก็งโง” นั้นยังคงใช้ในการนับปีในเอกสารราชการ หนังสือพิมพ์ ปฏิทิน และเหรียญกษาปณ์ของประเทศญี่ปุ่นในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม ความนิยมในการใช้ปีรัชสมัยเก็งโงนั้นค่อยๆ ลดลงจากในช่วงปี 1975 ที่มีผู้ใช้ปีเก็งโงอยู่จำนวนถึง 82 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่มี 13 เปอร์เซ็นต์ใช้ทั้งเก็งโงและปฏิทินเกรกอเรียนแบบตะวันตก ขณะที่มีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ที่ใช้ปฏิทินเกรกอเรียนเพียงอย่างเดียว

ล่าสุดผลสำรวจของหนังสือพิมพ์ไมนิชิชิมบุนของญี่ปุ่น พบว่ามีผู้ใช้ปีรัชสมัยแบบเก็งโงเพียงอย่างเดียวลดลงเหลือ 34 เปอร์เซ็นต์

อีก 34 เปอร์เซ็นต์ใช้ทั้งสองแบบ

และมีผู้ใช้ปฏิทินแบบตะวันตกเพิ่มขึ้นมาเป็น 25 เปอร์เซ็นต์

แต่กระนั้น รัฐบาลนำโดยนายชินโสะ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ยังคงสืบทอดธรรมเนียมปฏิบัติซึ่งมีมาตั้งแต่ก้าวเข้าสู่รัชสมัยยุคใหม่ที่นับตั้งแต่ “ยุคเมย์จิ” (ค.ศ.1868- 1912) “ไทโช” (ค.ศ.1912-1962) “โชววะ” (ค.ศ.1926-1989) และ “เฮย์เซย์” (ค.ศ.1989-2019) เรื่อยมา

(จากซ้าย) จักรพรรดิมัตสึฮิโตะ (รัชสมัยเมย์จิ ค.ศ.1867-1912), จักรพรรดิโยชิฮิโตะ (รัชสมัยไทโช ค.ศ.1912-1926), จักรพรรดิฮิโรฮิโตะ (รัชสมัยโชววะ ค.ศ.1926-1989)

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ธรรมเนียมปีแบบเก็งโงนั้นญี่ปุ่นนำมาใช้ตามแบบจักรพรรดิจีนตั้งแต่เมื่อ 1,300 ปีก่อน โดยปัจจุบันญี่ปุ่นผ่านยุครัชสมัยต่างๆ มาแล้วถึง 247 รัชสมัย

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นยึดธรรมเนียมปฏิบัติในการกำหนด 1 รัชสมัยต่อ 1 จักรพรรดิ ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของญี่ปุ่นเริ่มต้นตั้งแต่รัชสมัยเมจิเป็นต้นมา โดยก่อนหน้านั้นจะมีการเปลี่ยนชื่อรัชสมัยในช่วงกลางของรัชกาลจักรพรรดิบ้าง เช่น กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติหรือหายนภัยขึ้น

สำหรับขั้นตอนการเลือกชื่อรัชสมัย ชื่อดังกล่าวจะต้องมีความหมายที่สอดคล้องกับค่านิยมของประเทศ เป็นตัวอักษรคันจิหรือตัวอักษรจีน 2 ตัวสามารถอ่านและเขียนได้ง่าย และคำจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อรัชสมัยก่อนหน้านี้นับตั้งแต่รัชสมัยเมจิ

คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดเลือกคำต่างๆ ที่ “คณะผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านภาษาจำนวน 9 คน” เสนอขึ้นมาในที่ประชุม

โดยกระบวนการทั้งหมดจะถูกเก็บเป็นความลับ โดยผู้เกี่ยวข้องในที่ประชุมจะต้องถูกยึดเครื่องมือสื่อสารทั้งหมดด้วย

 

รัชสมัยเรวะเรียกว่าเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นพลวัตทางสังคมอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเมื่อเป็นการเปลี่ยนรัชสมัย หลังจากสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะประกาศสละราชบัลลังก์เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 200 ปี

นั่นทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องแก้รัฐธรรมนูญเปิดทางให้สมเด็จพระจักรพรรดิสามารถสละราชสมบัติได้เป็นกรณีพิเศษ จากเดิมที่กำหนดเอาไว้ว่าจะต้องครองราชสมบัติจนกระทั่งสิ้นพระชนม์เท่านั้น

การเปลี่ยนรัชสมัยใหม่ครั้งนี้ ยังนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ชื่อรัชสมัย “เรย์วะ” ถูกเลือกมาจากบทกวีโบราณอายุกว่า 1,300 ปีของญี่ปุ่น ที่มีชื่อว่า “มังโยชู” สะท้อนแนวความคิดชาตินิยมที่ยังคงเข้มข้น

การเปลี่ยนรัชสมัยจาก “เฮย์เซย์” สู่ “เรย์วะ” แน่นอนว่ามีความสำคัญกับชาวญี่ปุ่นทั้งในเชิง “กายภาพ” และเชิง “ความรู้สึก”

 

ในทางกายภาพ หลายๆ หน่วยงานราชการจำเป็นต้องแก้ไขปีในเอกสารราชการที่ต้องใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป จากเดิมเป็นปีรัชสมัย “เฮย์เซย์” เป็นปีรัชสมัย “เรย์วะ” นอกจากนี้ เหรียญกษาปณ์รุ่นใหม่ๆ รวมถึงวันที่ในเอกสารราชการ ใบเสร็จ ตั๋วรถไฟ และอื่นๆ จะต้องเปลี่ยนมาใช้รัชสมัยเรวะทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับหน่วยงานราชการและบริษัทขนาดเล็กในท้องถิ่นเท่านั้นเมื่อบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจกับนานาชาติเลือกใช้การนับปีแบบปฏิทินตะวันตกแล้ว

บริษัทคอมพิวเตอร์ยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นอย่างฟูจิตสึ และเอ็นอีซี คอร์ป ต่างก็เตรียมการอัพเดตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้รองรับปีรัชสมัยใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และได้มีการทดลองใช้เพื่อหลีกเลี่ยงความกังวลเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2000 หรือที่เรียกกันว่า “วายทูเค”

ทั้งหมดนั้นจำเป็นต้องใช้เวลา ดังนั้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงประกาศชื่อรัชสมัยใหม่ล่วงหน้า 1 เดือนเพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีเวลาปรับตัว

 

ในแง่ความรู้สึก ชาวญี่ปุ่นมองว่ารัชสมัยตามยุคครองราชย์ของจักรพรรดินั้นมีความหมายในแง่ “ความรู้สึก” และ “ภาพจำทางประวัติศาสตร์” เช่นเดียวกับการกล่าวถึงช่วง “ทศวรรษ” ของทางตะวันตก หรือการเรียกยุคสมัยในหมู่นักประวัติศาสตร์อังกฤษอย่าง “วิกตอเรียน” หรือ “เอ็ดวาร์เดียน” เป็นต้น

ในวันที่ 30 เมษายนนี้จะเป็นการสิ้นสุดยุค “เฮย์เซย์” ยุคซึ่งแม้มีความหมายว่า “สันติสุขทุกหย่อมหญ้า” สะท้อนสันติสุขหลังสงครามและการก้าวไปสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ยุค “เฮย์เซย์” ก็ถูกบดบังด้วยภาวะเศรษฐกิจในประเทศซบเซา ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจถูกบดบังโดยจีนและเกาหลีใต้ที่ผงาดขึ้นมาในเวทีโลก รวมไปถึงการต้องเผชิญกับหายนภัยทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเหตุแผ่นดินไหวเมื่อปี 2011 ส่งคลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่ม มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก และยังกลายเป็นวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ซึ่งยังคงเป็นปัญหาจนถึงทุกวันนี้

ดังนั้น ในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ จะเป็นวันที่ชาวญี่ปุ่นรอคอย ในการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่แห่งยุคสมัยเรย์วะ ภายใต้สมเด็จพระจักรพรรดิองค์ใหม่ของประเทศ