วิรัตน์ แสงทองคำ : ทศวรรษแห่งความผันแปร

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

ผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ย่อมสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงบางมิติสำคัญทางสังคม

ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกช่วงของสังคมไทย กำลังดำเนินไป เชื่อมโยงหลายมิติ มีบางภาพต่อเนื่องที่น่าสนใจนำเสนอ โดยเฉพาะห้วงเวลาต่อเนื่อง จากเหตุการณ์สำคัญ ถือเป็นทศวรรษวิกฤตการณ์ทางสังคมและการเมือง หากย้อนมองเฉพาะการเลือกตั้งทั่วไป ถือเป็นการเว้นว่างยาวนานทีเดียว เกือบๆ 8 ปี

ข้อเขียนชิ้นนี้มิได้ตั้งใจอรรถาธิบายในเชิงการเมืองซึ่งผู้คนเชื่อว่าอยู่ในช่วงเวลาที่ไม่ปกตินัก หากพยายามนำบางภาพบางชิ้นส่วน สะท้อนความเป็นไปทางสังคม ซึ่งเชื่อว่าเดินหน้าต่อไปเป็นปกติ อย่างไม่หยุดยั้ง

 

มุ่งสู่หัวเมืองและชนบท

ในช่วงเวลาที่มีการชุมนุมทางการเมืองครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในช่วงปี 2553 ซึ่งให้ภาพความเคลื่อนไหวของผู้คนกลุ่มใหญ่ที่มาจากหัวเมืองและชนบท

ภาพเล็กๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งซ่อนอยู่ในช่วงนั้น (ปี 2553) มาจากความสำเร็จของภาพยนตร์ไทยเรื่อง “ลุงบุญมีระลึกชาติ” กับรางวัล “ปาล์มทองคำ” (Palm d”Or award) ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ได้นำเสนอภาพสะท้อนวัฒนธรรม ความเชื่อ ความหวัง และรากเหง้าของชุมชนไทย ที่มีที่ยืนที่แน่นอนในระดับโลกได้

ภาพยนตร์ดังกล่าวสะท้อนภาพชนบทไทยย้อนกลับไป ในช่วงสงครามเวียดนามและการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในระดับภูมิภาคเมื่อประมาณ 4-5 ทศวรรษ ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และจุดเริ่มต้นที่น่าสนใจของพัฒนาการว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างชนบทกับเมือง

อีกกรณีหนึ่ง จุดสนใจเปิดฉากขึ้นโดยบทบาทและความเคลื่อนไหวมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของไทย-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยซึ่งก่อตั้งมากว่าศตวรรษแล้ว ถึงจะมีหลักสูตรเกี่ยวข้องกับเกษตรกรรมโดยตรง ขณะเป็นมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ แห่งเดียวที่ไม่มีวิทยาเขตในต่างจังหวัด

ปีเดียวกันนั้น (2553) จุฬาฯ ก่อตั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร และเปิดสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรี บริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร เป็นปีการศึกษาแรก โดยเน้นว่า “ตกผลึกว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะเป็น “ต้นแบบของการผลิตเกษตรกรรุ่นใหม่” ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้ ทักษะ และจิตวิญญาณ จนสามารถผันตัวเองเป็นผู้ประกอบการสินค้าเกษตรเข้าสู่สังคมไทย”

เวลานั้นมีความสัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวเกี่ยวเนื่อง ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ “จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ปรากฏการณ์นี้สัมพันธ์กับความเคลื่อนไหวและพัฒนาขั้นใหม่ของเกษตรกรรายใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มทีซีซี ของเจริญ สิริวัฒนภักดี กับกลุ่มซีพี ซึ่งกำลังพัฒนายุทธศาสตร์ไปอีกขั้นหนึ่ง ตามวิสัยทัศน์ของธนินท์ เจียรวนนท์…

นอกจากนี้ เครือซิเมนต์ไทยหรือเอสซีจี ให้ความสำคัญการลงทุนในการผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์การเกษตร เพื่อตอบสนองเกษตรกรรมสมัยใหม่”

(บางตอนจากเรื่อง “จุฬาชนบท” มติชนสุดสัปดาห์ 17-23 กันยายน 2553)

 

กรุงเทพฯ เดินหน้าไม่หยุดยั้ง

อีกภาพหนึ่งในกรุงเทพฯ ปรากฏการณ์อันครึกโครมเกิดขึ้นในช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์สังคมไทยเช่นเดียวกัน อาจตีความว่าเป็นปรากฏการณ์แห่งความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังคงเต็มเปี่ยม

การชุมนุมทางการเมืองบริเวณศูนย์การค้าหลักใจกลางกรุงเทพฯ เป็นการชุมนุมที่ยืดเยื้อดำเนินไปประมาณ 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2553) แต่เมื่อเหตุการณ์ความวุ่นวายบนท้องถนนจบลงไม่นาน โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ได้ทำพิธีเปิดขึ้นอย่างเป็นทางการ (กันยายน 2553) เป็นงานใหญ่ มีผู้คนในสังคมชั้นสูงมาร่วมงานคับคั่ง โรงแรมซึ่งมีตำนานเชื่อมโยงกรุงเทพฯ สมัยใหม่ มีความเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงการศูนย์การค้าแห่งใหม่ต่อเนื่องกับโครงการที่มีมาก่อนหลายทศวรรษ อันถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญ ให้อาณาบริเวณนี้กลายเป็นศูนย์กลางกรุงเทพฯ แห่งใหม่อย่างแท้จริง

ปรากฏการณ์นั้นเป็นการจุดกระแส ให้ภาพนั้นใหญ่ขึ้น กรุงเทพฯ สำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ไทย กำลังดำเนินแผนการ ประหนึ่งพลิกโฉมหน้ากรุงเทพฯ ครั้งใหญ่ แม้จะดูสถานการณ์ในภาพกว้างไม่เป็นใจ เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ช่วงเวลาคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งใหญ่อีกครั้งในกรุงเทพฯ (การชุมนุมใหญ่ของ กปปส.ปี 2556) ตามมาด้วยการรัฐประหารและรัฐบาลทหาร (2557-ปัจจุบัน)

ในปี 2556 หลังแผนการหลอมรวม “สยามเซ็นตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ และสยามพารากอน” แล้ว เปิดฉากโครงการใหญ่ที่สุด (เวลานั้น) ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท เทียบเคียงกับเมืองใหญ่ริมน้ำในระดับโลก ซึ่งเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปลายปีที่แล้ว

จากนั้นตามมาหลายโครงการใหญ่ ไม่ว่าที่มุมถนนสีลม (เปิดตัวมีนาคม 2560) และโครงการที่ใหญ่ที่สุด บนที่ดินกว่า 100 ไร่ หัวมุมถนนพระราม 4-ถนนวิทยุ ด้วยแผนการลงทุนกว่าแสนล้านบาท (เปิดตัวเมษายน 2560)

“เพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่ทั่วโลกมีต่อประเทศไทย ในฐานะเมืองที่เป็นศูนย์กลางของอาเซียนและเป็นเมืองที่เป็นประตูสู่โลกและเป็นเมืองแห่งไลฟ์สไตล์ที่สำคัญของเอเชีย รวมทั้งคาดหวังที่จะนำความรุ่งเรืองที่ยิ่งใหญ่มาสู่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นผู้เช่า เจ้าของ หรือพันธมิตรทางธุรกิจ”

ตัวอย่างแนวคิดของธุรกิจใหญ่ที่ว่านั้น สะท้อนความเชื่อมั่นกรุงเทพฯ อย่างเต็มเปี่ยม เป็นเรื่องที่เชื่อกันเช่นนั้นอยู่แล้วในเวลานั้นในแวดวงสังคมธุรกิจ ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ยุครัฐบาล คสช.

 

ห่วงโซ่อุปทานเกษตรกรรมใหม่

ความสัมพันธ์เมืองหลวง เมืองใหญ่ กับหัวเมืองและชนบท พัฒนาไปมากขึ้นๆ เป็นลำดับ

จากเครือข่ายธุรกิจใหญ่ไทย ขยายตัวอย่างไม่หยุดยั้ง สู่พื้นที่ชนบทมากขึ้น ผ่านเครือข่ายการค้า โดยเฉพาะค้าปลีก คืบคลานครอบคลุมพื้นที่อันกว้างขวางของสังคมไทย จากนั้นก้าวไปอีกขั้น ลงสู่ภาคเศรษฐกิจพื้นฐานอย่างสำคัญ นั่นคือภาคการเกษตร

โครงสร้างเกษตรกรรมไทยกำลังขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ไปสู่โฉมหน้าใหม่ ไปยังกลไกและวงจรสำคัญ นั่นคือห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ซึ่งกว้างกว่าสังคมไทย

ในปี 2561 เกิดกรณีสำคัญ Jack Ma แห่ง Alibaba Group ธุรกิจยักษ์ใหญ่แห่งประเทศจีน ผู้นำการค้าออนไลน์ของโลก เจาะจงกล่าวถึงการค้าผลไม้ไทย (ทุเรียน) และสินค้าเกษตรพื้นฐานสำคัญของไทย (ข้าวหอมมะลิ) สะท้อนแรงปะทะครั้งใหญ่ต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) เกษตรกรรมไทย

ว่าไปแล้ว ความเคลื่อนไหวว่าด้วยธุรกิจต่างชาติ (โดยเฉพาะกรณีจีน) เข้ามาในวงจรและกลไกเกษตรกรรมไทย มีมาสักพัก เป็นปรากฏการณ์อย่างเงียบๆ ถือได้ว่าเป็นครั้งสำคัญ โครงสร้างเกษตรกรรมพื้นฐานไทย มีต่างชาติ มีเครือข่ายธุรกิจใหญ่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นๆ ในวงอันกว้างขวางใหญ่โตครึกโครมอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

 

สื่อสังคม

ปรากฏการณ์บางมิติข้างต้น อยู่ท่ามกลางโครงสร้างและระบบสื่อสารพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง สร้างความเชื่อมโยงกันทั้งสังคม ไม่ว่าในเชิงภูมิศาสตร์ จากเมืองหลวง เมืองใหญ่ หัวเมือง ไปยังชุมชน ไม่ว่าห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ ธุรกิจใหญ่ รายกลางและเล็ก ผู้ประกอบการหน้าใหม่ รวมถึงปัจเจกชนผู้บริโภค เป็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น ลึกซึ้งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จากโครงข่ายสื่อสารไร้สายซึ่งมีอิทธิพลอย่างรวดเร็วในขอบเขตทั่วประเทศ มาเชื่อมโยงอยู่ภายใต้โครงสร้างและสาระ (Content) สื่อใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างถึงราก มาจากสิ่งที่เรียกว่า สื่อสังคม หรือ Social media เรียกกันอย่างเป็นการเป็นงาน เป็นนิยามที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งว่า Consumer-Generated Media (CGM) ด้วยกระบวนการและแรงขับเคลื่อนที่แตกต่างจากเดิม

หนึ่ง-เชื่อมโยงกับพลังเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทลายกำแพงความเป็นประเทศ เป็นปรากฏการณ์ข้ามพรมแดนครั้งใหญ่ สะท้อนโอกาส และความเป็นไปได้ใหม่ๆ

สอง-อาศัยพลังปัจเจก กลุ่มคน องค์กร หรือธุรกิจ สร้างเนื้อหา สร้างกิจกรรม กิจการขึ้นมาเอง เพื่อสื่อสารสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนกันเอง หรือกับกลุ่มย่อย จนถึงกับกลุ่มผู้บริโภค และสังคมวงกว้าง

ทว่าภายใต้โครงสร้างใหม่นั้น อยู่ในการกำกับในกำมือกลุ่มธุรกิจอิทธิพลใหม่ระดับโลก

กลไก Social media สื่อระดับโลกใหม่ซึ่งเรียกว่า Platform ได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย เป็นจังหวะที่น่าสนใจ และขยายอิทธิพลอย่างมากมาย ท่ามกลางช่วงเวลาสังคมไทย ในบางมิติดูเหมือนหยุดนิ่ง ท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคม ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออันปั่นป่วน

เปิดฉากโดย Google ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการในโลกอินเตอร์เน็ต เปิดสำนักงานในประเทศไทย (ปี 2554) LINE เครือข่ายสื่อสังคมระดับโลกอีกรายจากโลกตะวันออก มีสมาชิกในสังคมไทยทะลุ 10 ล้านคน (ปี 2555) YouTube ผู้ครองตลาดธุรกิจเครือข่ายบริการแชร์คลิปวิดีโอ (video-sharing platform) แห่งสหรัฐอเมริกา (เครือข่ายของ Google) เปิดบริการในประเทศไทย และ Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิลพลมากที่สุดในโลกอีกราย เปิดตัวในประเทศไทย (ปี 2558)

ปรากฏการณ์ว่าด้วย บางสิ่ง บางอย่าง บางมิติ อันไม่หยุดนิ่งนั้น อาจไม่สามารถจับต้องได้ อาจไม่เชื่อมโยงกับภาพใหญ่ ก็แค่ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น