อภิญญา ตะวันออก / หมูบิน ! จ้าวเวหา : พนมเปญ 1975-ปริศนาเที่ยวบินสุดท้าย (จบ)

อภิญญา ตะวันออก

มากกว่าการระเบิดซ้ำซากที่เกิดขึ้นหลายแห่งในพนมเปญและรอบโปเชนตง การเคลื่อนทัพเข้าเมืองของฝ่ายคอมมิวนิสต์ ที่พวกนักบินไม่อาจทราบเลยว่าเกิดอะไรกับพรรคพวกของตน ในการตรวจตราโดยกองทัพดำอย่างเบ็ดเสร็จ

เมื่อส่งกีย์เข้าที่พัก ชางสัญญาว่าจะมารับเขาในวันรุ่ง ในห้องพักที่สงัดร้างด้วยผู้คน จนแม้แต่แสงเทียนเล็กๆ ที่เล็ดลอดจากห้องพักชั้น 3 ก็สร้างความอุ่นใจต่อกีย์ยิ่ง อย่างน้อย ในเมืองหลวงพนมเปญเวลานั้นยังมีพลเมืองหลงเหลืออยู่บางส่วน และพวกเขาพยายามหาทางรักษาชีวิตพวกตนเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยภารกิจหนีออกนอกเขมรโดยทางอากาศยาน

ตามบันทึกนั้น มีความจริงอันสับสนต่อหนทางหลบหนีออกนอกประเทศของกีย์และคณะ แม้ไม่อาจระบุว่ามีใครบ้างที่เสี่ยงตายกับการบินที่อยู่ในข่ายบันทึกว่าครั้งสุดท้ายจากครั้งนั้น

 

เมษายน 1975 (2518) ฌ็อง ม็องตา เจ้าหน้าที่หน่วยงานแห่งหนึ่งที่ขอให้กีย์และพวกหาทางบินออกจากโปเชนตงซึ่งตกเป็นเป้าโจมตีด้วยระเบิดและเอ็ม 79 ในห้วงสุญญากาศจากการพ่ายแพ้ของรัฐบาลเขมรสาธารณรัฐต่อกลุ่มเขมรแดง

สัญญาณอันตรายกว่านั้น คือความพยายามหยุดยั้งการขึ้นบินของทุกฝ่าย แต่มิเชลผู้ตัดสินใจนำคณะนักบินและกลุ่มของตนฝ่าด่านไปโปเชนตง ในสภาพที่กลายเป็นสนามบินร้างไปแล้วนั้น

ด้วยเหตุนี้ การจับมือเพื่อร่วมทำภารกิจครั้งนั้น พร้อมการร่ำลา ไม่ต่างจากนักเดินทางที่กำลังขอพรจากพระเจ้า จากนั้นคณะดังกล่าวจึงถูกส่งไปยังอาคารร้างที่เสียหายจากการโจมตี

แต่ก่อนจะเข้าสู่วงโคจรความเสี่ยงตาย ราวกับเป็นการร่ำลาครั้งสุดท้ายที่พวกเขาสวมกอดซึ่งกัน ด้วยความนิ่งงัน เกินกว่าจะกล่าวเป็นคำใด

จากนั้น การรอคอยที่สุดแสนทรมานต่อความหวังที่ริบหรี่ นั่นคือการรอคอยข่าวสารและเครื่องอุปกรณ์การบิน ตั้งแต่ 3 ชั่วโมงแรกของภารกิจ

แต่ทันทีที่กีย์ได้เห็นโบอิ้ง 707 จอดนิ่งบริเวณท้ายรันเวย์นั้น เขาคิดว่า นี่คือเครื่องบินลำเดียวที่พร้อมเหินฟ้าภายในเวลาไม่กี่นาทีข้างหน้า ขณะเดียวกันการยืนยันจากหน่วยเหนือของฝ่ายตนก็ยังไม่คืบหน้า

ทว่าในคำสั่งที่ยังเงียบงัน ทำให้คณะทุกคนไม่อาจเคลื่อนที่ไปยังโบอิ้งลำนั้น ในทันทีก็มีนาวิกโยธินพร้อมอาวุธกลุ่มหนึ่งยืนคุมทางเข้าออก อย่างไรนั้น ก่อนหน้านี้มีข่าวจากผู้คุมหอการบินชาวเขมร เกี่ยวกับหน่วยขนส่งทางอากาศไซ่ง่อน-พนมเปญ ว่า กำลังอยู่ระหว่างจัดหาอาวุธชุดใหม่และลำเลียงสนับสนุนให้คณะผู้ปกป้องพนมเปญเพื่อต่อสู้กับเขมรแดง

กีย์งุนงงต่อข้อมูลสับสนชุดนี้ นับถอยหลังตั้งแต่เริ่มที่ล่วงผ่านไปแล้วกว่า 24 ชั่วโมง ทว่า จนบัดนี้ เขาไม่มีโอกาสพบปะกับบุคคลหรือนายทหารที่ควรแก่การยอมรับ

และนั่นทำให้กีย์สงสัยว่า ปฏิบัติการของฝ่ายเสรีที่ยังต้องการต่อสู้นี้มีจริงหรือไม่ หรือพวกเขายอมจำนนต่อคอมมิวนิสต์อย่างเป็นทางการแล้ว

พลันก็มีเสียงระดมยิงด้วยกระสุนปืนทวีขึ้นเป็น 2 เท่าจากบริเวณท้ายรันเวย์นั่น

กีย์รู้สึกถึงภาวะต่อสู้ที่จริงใจ ในฐานะนักบินเสี่ยงตายในปฏิบัติการแห่งความพ่ายแพ้ แล้วตอนนี้ เวลาก็ผ่านไป 5 ชั่วโมงแล้ว สำหรับข่าวสำคัญที่พวกเขารอคอย และหวังใจว่าจะเป็นข่าวดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตามเป้าหมาย

ทว่าสถานการณ์ดูจะกลับตรงข้าม พวกเขาแทบไม่ได้รับการสนับสนุนเลยด้วยซ้ำ นอกจากเสียงไซเรนที่คุกคามต่ออาการทางประสาท กอปรกับความเครียด ภาวะขาดน้ำ อาหาร และทุกอย่างที่สามารถทำลายนักผจญความตาย

ขณะเดียวกัน ราว 400 เมตรจากอาคาร บัดนี้ วิสเคาต์ (Viscount) จ้าวเวหาขนาด 4 เครื่องยนต์ของบริษัทเอกชนซึ่งกีย์คุ้นเคย กำลังส่งสัญญาณของการเคลื่อนย้าย

 

ตอนนั้นเองที่เขาตัดสินใจออกมาจากจุดหลบภัย เพียงเพื่อเรียกร้องความสนใจจากคนวิสเคาต์อย่างบ้าคลั่ง เพื่อโบกไม้โบกมือแสดงสัญญาณขอติดเครื่องบินไปด้วย

ทว่าสิ่งที่ประสบก็คือ ก่อนที่เขาจะไปถึงเจ้าวิสเคาต์ลำนั้น เมื่อเครื่องซึ่งห่างเพียงระยะ 30 เมตร

ทันใดนั้น กีย์ก็เห็นช่างเทคนิค 2 นายสัญชาติลาวที่ตนรู้จัก แต่ช่างโหดร้ายที่พวกเขาจงใจทำลายความหวังกีย์ ทันทีที่ส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ แต่เครื่องบินกลับเร่งแท็กซี่ราวกับรถยนต์ที่เร่งตะบึงไปข้างหน้า ซ้ำหนึ่งในนั้นยังหันมาโบกมือลาให้กีย์เสียด้วย

เขาตะโกนด่าทอสองลาวนั่น ในคำผรุสวาทภาษาเท่าที่จะนึกได้ นี่มันบ้าไปแล้ว! เขาคิดเช่นนั้น ความบ้าที่นำไปสู่หายนะหรืออะไรสักอย่าง โดยเฉพาะวิธีแท็กซี่เครื่องยนต์ไปบนรันเวย์นั่น มันบ่งถึงความไร้เดียงสาในการบิน!

กีย์เดินคอตกกลับไปสมทบกับมิเชลและเล่าเหตุการณ์ทั้งหมด แต่ยังไม่ทันจะจบประโยคดี พลันเสียงเครื่องบินทรงพลังเจ้าวิสเคาต์ก็กึกก้องเข้ามาในอาคาร

กีย์พุ่งความสนใจไปยังจุดนั้น เวลาเหมือนจะหยุดลงแล้ว สำหรับเครื่องบินที่จอดลงบนรันเวย์พร้อมด้วยเปลวไฟลุกท่วมลำ

ทว่าการที่เครื่องยนต์ลดระดับลงมาอย่างทันทีนั่น ได้มีส่วนทำให้ส่วนหัวของเครื่องบินกระจัดกระจาย จนชิ้นส่วนโลหะด้านหน้าเครื่องบินกระเด็นไปโดนด้านหน้าของหอบังคับการบิน และกระดอนกลับมาใกล้กับอาคารเซฟเฮาส์ของของกีย์และพวก พร้อมความรู้สึกหมุนติ้วที่กระเด็นกระดอนอยู่ในสมองของกีย์

ต่อความโชคร้ายที่เปลี่ยนเป็นโชคดีภายในไม่กี่วินาทีนั้น

 

ทั้งหมดพากันขดตัวอยู่ชั่วครู่เพื่อรอคอยให้ทุกอย่างค่อยผ่านไป ดูเหมือนกำลังใจยิ่งใหญ่ยังรอคอยให้พวกเขาจัดการกับตัวเองต่อไป สำหรับการรอคอยสัญญาณแห่งความหวังที่ผ่านไปแล้วกว่า 7 ชั่วโมง

แต่ในที่สุด เทพธิดาแห่งโชคก็เริ่มใจอ่อนต่อจอมเสี่ยงตาย เมื่อมิเชลปรากฏตัวอีกครั้งพร้อมกับข่าวดี นั่นคือ ข้อตกลงกับนักบินจากกองทัพอากาศกัมพูชาคนหนึ่ง ซึ่งอาสานำเครื่องออกบิน

แล้วตอนนี้ สิ่งรอคอยมาถึง ซึ่งทำให้กีย์ตระหนักแท้แก่ใจว่า เขาอาจจะกลายเป็นศพเน่าคาห้องโดยสารคลังอาวุธไปเสียก่อน แต่ไม่ว่าจะเป็นการตายแบบใดก็คงไม่สลักสำคัญอะไรอีกแล้ว สำหรับการรอคอยในอีก 15 นาทีข้างหน้า

กีย์รู้สึกเหมือนตกอยู่ในเครื่องบินชำรุดในห้วงอันไร้กาลเวลา ท่ามกลางไซเรนที่ดังหลอนจิตขึ้นทุกครั้งจากเสียงระเบิด และการระเบิดอีก 2 ครั้งจากวิถีกระสุนเอ็ม 79 ทางกราบขวาเครื่องบินราว 200 เมตร จนแลเห็นสะเก็ดระเบิดอย่างชัดเจน แต่จังหวะนั้นเอง เครื่องบินก็เหินตัวจากรันเวย์ขึ้นสู่อากาศเพียงชั่วเศษวินาที

มันเป็นอาการปีติซ่านที่นักบินคนหนึ่งจะรู้สึกได้ถึง ระยะการเพิ่มความสูงของการบินที่ปลอดภัยจากการโจมตีและกีย์รู้สึกได้เช่นนั้น ในความเชี่ยวชาญของนักบิน ทันทีที่เครื่องยนต์อยู่ในระยะที่จะควบคุมได้

และนั่นเองที่ภารกิจหนีภัยทางอากาศของพวกเขาประสบความสำเร็จ ด้วยภาพสุดท้ายของสนามบินโปเชนตง ในบ่ายวันที่หมอกควันแห่งกองเพลิงบางจุดยังปรากฏให้เห็นเป็นอนุสรณ์ ขณะที่มิเชลนั้นถึงกับหมดแรงหลับผล็อยไปในทันที

ปิดฉากความหลังแห่งการบินหนีตายเที่ยวสุดท้ายในเมษายน 1975 ที่ไม่อาจจะลืมได้ ทว่าทุกอย่างยังคลุมเครือที่จะกล่าวว่า เหตุใดเครื่องบินลำนี้จึงลงจอดที่สนามบินพระตะบอง?

 

“หมูบิน! จ้าวเวหา” (Cochon Vole) บันทึกชีวิตนักบินพลเรือนในกัมพูชา (และลาว) โดยกีย์ วัลเลย์ (Guy Vallet) ผู้ตีแผ่สภาพลำเค็ญยุคสงครามกลางเมือง (1970-1975) อย่างถ่องแท้ นับเป็นงานหลักฐานสมัยเขมรสาธารณะขณะต่อสู้กับฝ่ายเขมรแดงชิ้นแรกๆ ที่เต็มไปด้วยข้อเท็จจริงทางตรง จนแทบจะกล่าวว่ามีเพียงราว 20% ของเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับองค์กรบางส่วนเท่านั้นที่ขาดหายไม่ชัดเจน

จะโดยเหตุที่ผู้เขียนจำเป็นปกป้องตนเองและบุคคลผู้เป็นที่รักจากการใช้นามแฝง แม้แต่บุตรีของตัวเอง ซึ่งดูเหมือนว่าบุตรสาวของกีย์สองคนจะมีนามว่าแอนนี่และเซอรีล

อย่างไรก็ตาม จากคำบอกเล่าของหมูบิน! ไทยนามว่าโทนี่ (โทนี่ โฮมินห์เทร็ลบินห์) ที่ฉันเคยพบในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับเที่ยวบินสุดท้ายของตน จากสนามบินอู่ตะเภาตามที่องค์กรเวิร์ลด์วิชั่นซึ่งจัดสิ่งบรรเทาทุกข์ส่งไปกับเที่ยวบินนี้ และสิ่งที่โทนี่นำกลับมาประเทศไทยเวลานั้นคือกลุ่มชาวเขมรและต่างชาติ ในจำนวนนั้นมีภริยากับลูกน้อยของเขาด้วย

แต่ที่หนีไม่พ้น คือถูกถล่มด้วยปืนครก ทว่าพวกเขารอดมาได้ด้วยปฏิภาณของนักบินที่ไม่ยอมปฏิบัติตามคำสั่งหอบังคับการบิน ซึ่งเชื่อกันว่าเวลานั้นเขมรแดงได้ควบคุมพื้นที่แล้ว

ดังนี้ คณะของกีย์จำเป็นต้องลงจอดอู่ตะเภา แต่เหตุใดพวกเขาจึงแวะพักเครื่องที่พระตะบอง? โดยจากสภาพเชื้อเพลิงที่ไม่เพียงพอ? การถ่ายทิ้งสรรพอาวุธ? หรือนัยที รอคำตอบรับจากสนามบินของฝ่ายไทย?

และนี่คือเที่ยวบินสุดท้ายจากเรา ลาก่อนนักบินพาณิชย์กัมพูชา 1975

“ลาก่อน-หมูบิน! จ้าวเวหา”