อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์ : กว่าจะมาถึงการเลือกตั้ง 2562

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

กว่าจะมีการเลือกตั้ง 2562

ไม่ใช่การเลื่อนไปเรื่อยๆ เพราะกฎและระเบียบ

แต่เป็นการช่วงชิงเวลาเพื่อจัดระเบียบการเลือกตั้งเพื่อฝ่ายมีอำนาจได้เปรียบมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

 

การออกแบบอำนาจ

ไม่ต้องเป็นนักวิชาการสมองเลิศหรือสื่อต่างชาติที่ข้อมูลวงใน ชาวบ้านเขาก็รู้ว่า คสช. ครม สนช. รัฐธรรมนูญ และส่วนย่อยอื่นๆ ของอำนาจเป็นคุณประโยชน์ระดับโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจให้กับผู้มีอำนาจเรื่อยไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งซึ่งตอนนั้นมืดมนอนธการไม่มีผู้ใดรู้ว่าเมื่อใด

ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองอันเป็นกลไกหลักของระบบการเมืองโดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย

ทศวรรษที่ผ่านมาพรรคการเมืองในไทยถูกยุบเป็นว่าเล่น

เป็นการเล่นงานศัตรูทางการเมืองก็ใช่

เป็นการแข่งขันทางการเมืองก็เข้าใจได้

แต่ผลของการกระทำนั้น ผู้ที่เติบโตมากับประชาธิปไตยรู้ดีว่า นี่เป็นรากฐานแห่งการทำลายบทบาททางการเมืองของพรรคการเมือง ทุกพรรคการเมืองอ่อนแอ

ก่อนจะมีการเลือกตั้ง 2562 เวลาเลือกตั้งก็น้อย มีการสร้างพรรคของฝ่ายอำนาจแล้วก็ยืมขุนพลของพรรคการเมืองที่ตนเองรังเกียจมาก็ทำ

ยืมขุนพลพรรคเก่ามาทำงานด้วยในรัฐบาลก็ทำ กดดันพวกเขาเรื่องคดีและตำหนิทางการเมืองแต่ก็ตีกอล์ฟกันแปลกจัง

ในที่สุดก็มีการยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุผล เป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตย อันอาจหมายถึงพรรคอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งด้วยก็ได้ เช่น พรรคอนาคตใหม่ โดยมีคนอ้างว่า เพราะเขาประกาศสืบทอดเจตนารมณ์คณะราษฎร 2475 ทั้งๆ ที่คณะราษฎรก่อการให้เกิดประชาธิปไตยที่ทุกคนอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พรรคการเมืองและนักการเมืองเป็นกลไกสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แม้พรรคการเมืองไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative Democracy) อาจเป็นกลุ่มผลประโยชน์ (interest group) ก็ได้ แต่เท่ากับว่าพรรคการเมืองทำหน้าที่กระจายผลประโยชน์ รับฟังปัญหา เปิดพื้นที่และรณรงค์การเมืองสม่ำเสมอตลอดชีวิต

ไม่ใช่เฉพาะแค่ช่วงการเลือกตั้ง

 

เสนาธิปไตย

ในทางตรงกันข้าม

เสนาธิปไตยแสดงตัวตนชัดเจน ตรงไปตรงมาและแข็งกร้าวยิ่งเมื่อใกล้เลือกตั้ง จากวลีอย่าล้ำเส้น เปิดเพลงหนักแผ่นดินให้ประชาชนฟัง ออกกำลังกายกำลังพลแต่ให้สื่อมวลชนไปทำข่าว กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ประชาชนเห็น

และย้ำว่า ต้องเป็นรัฐบาลที่จงรักภักดีเท่านั้น

เสนาธิปไตยเช่นนี้ตีความได้ดังนี้ ผูกขาดการรักชาติและสถาบัน ปกป้องตัวเองจากนโยบายปรับลดงบประมาณ เตรียมพร้อมต่อกรกับพรรคการเมือง

ซึ่งจริงๆ เป็นการชี้นำว่า ต้องเป็นรัฐบาลที่มาจากฝ่ายอำนาจนั่นเอง

การกล่าวอ้างให้กำลังพลดูแลความสงบเรียบร้อยช่วงการเลือกตั้งไร้ซึ่งเหตุผลต้องดำเนินการอยู่แล้ว เป็นผู้บริหารระดับสูงและเป็นเพียงข้าราชการท่านหนึ่งท่านจะไปตกใจอะไรกับ เพียงแค่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นกระบวนการทั่วไปของประชาธิปไตย ไม่ใช่วิกฤตการณ์ทางการเมือง

หากทว่า ที่ออกตัวมากขนาดนี้ มีข้อน่าสังเกตดังนี้

 

เสนาธิปไตยของไทยตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 แตกต่างจากเสนาธิปไตยในอดีต ในอดีตเสนาธิปไตยเป็นครอบครัวของ “ชนชั้นนำ” (Elite)

แต่เสนาธิปไตยช่วงหลังๆ เป็นสมาชิกชนชั้นนำใหม่ที่อยู่ในอำนาจเพียงสั้นๆ หมุนเวียนกันไป ประกอบกับเสนาธิปไตยมีการสมานฉันท์กับพรรคการเมืองระดับหนึ่งเพราะเล่นการเมืองออกหน้าไม่ได้อีกทั้งปฏิเสธความสำคัญของนักการเมืองไม่ได้

ที่สำคัญหลังปี ค.ศ.2000 รัฐธรรมนูญและความเป็นจริงทางการเมืองเปิดโอกาสให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมาจากนายพลที่เกษียณอายุราชการ

ยิ่งบางช่วงนายกรัฐมนตรีพลเรือนเป็นใหญ่ ความเหนือกว่าทางการเมืองจะมีบทบาทในกระทรวงกลาโหมไปในตัว

การปรับปรุงบทบาทรัฐมนตรีกลาโหมในพระราชบัญญัติสภากลาโหมสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ และบทบาทย้อนกลับของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพแสดงให้เห็นพลังของนักการเมืองพลเรือนที่เสนาธิปไตยหวาดกลัว

หลัง ค.ศ.2000 เสนาธิปไตยพัฒนาจากเพื่อนร่วมรุ่นต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นเอกภาพ มีการแข่งขันกันเอง

ดูเหมือนว่าแกนนำของเสนาธิปไตยจะอ่อนแอลงเรื่อยๆ ทั้งบุคลิกภาพ เอกภาพในกองทัพและการอ้างอิงความชอบธรรม

อ้างอิงการปกป้องชาติจากภัยคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์ก็ไม่มีแล้ว

อ้างการก่อการร้ายโดยอ้างเรื่องสามจังหวัดชายแดนไทย แต่ปัญหาภาคใต้นานวันเข้ากลับเป็นเรื่องความขัดแย้งผลประโยชน์ส่วนตัวของผู้มีอิทธิพล แล้วไม่รู้กองทัพไทยทำอะไรอยู่ภายใต้งบประมาณอันมหาศาล

อ้างความมั่นคงใหม่ เช่น พิบัติภัย ทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงทางไซเบอร์

แต่ความมั่นคงใหม่อนุญาตให้เสนาธิปไตยเป็นได้เพียงกลไกอันหนึ่ง ทำได้อย่างมากแค่หาความรู้ มีการประชุมและหลักสูตรต่างๆ มากมายรวมทั้งเตรียมการป้องกันเท่านั้น เสนาธิปไตยแก้ปัญหาความมั่นคงใหม่ที่ไม่มีใครในโลกนี้ควบคุมได้หรือ?

แล้วส่วนหัวของเสนาธิปไตยจะอ้างอุดมการณ์อะไรเพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองในบทบาทของส่วนหัวเสนาธิปไตยเอง เห็นมีแต่ “พิธีกรรม” เปิดเพลง ทดสอบสมรรถนะกำลังพล ซึ่งควรเป็นเรื่องภายใน ไม่มีความจำเป็นต้องส่งสารกับสาธารณะโดยเฉพาะช่วงใกล้การเลือกตั้ง ฝรั่งยิ่งอ่อนไหวแถมไม่เข้าใจ

 

เสนาธิปไตยประเมินว่า พวกเขากำลังสถาปนาความเป็นสถาบันได้แล้ว แต่ประเมินผิด เสนาธิปไตยประเมินว่า เขาใช้อุดมการณ์ทางการเมืองที่เหมาะสมกับยุคสมัยอย่างที่อ้างกัน คำถามคือ โลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วอย่างฉับพลันหรือ Disruptive Society มีอุดมการณ์อะไรในโลกที่ตอบสนองได้บ้าง ความแข็งแกร่งของเสนาธิปไตยเยี่ยงนี้จึงกลายตัวเป็นแข็งทือและต่อต้านการเปลี่ยนแปลง

เสนาธิปไตยประเมินตัวเองว่ากำลังมั่นคงในปัจจุบันและอนาคต พัฒนาการดังว่ากลับขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพส่วนตัวเป็นด้านหลักและมีความขัดแย้งภายในกันเองอย่างเห็นได้ชัด เสนาธิปไตยปัจจุบันจึง overreact กับการเลือกตั้งทั่วไป ซึ่งเป็นเพียงการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่หายไปนานเกือบ 8 ปี

อากัปกิริยานี้บอกแก่เราว่า เสนาธิปไตย ของไทยปัจจุบันเปราะบางและอ่อนแอ ยิ่งจะทำรัฐประหาร รัฐประหารนี้จะส่งผลเสียกับตัวเองและกลุ่มก้อนโดยตรงมากกว่าอย่างอื่น

การเลือกตั้งทั่วไปน่ากลัวตรงไหน รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งน่ากลัวตรงไหน

เสนาธิปไตยคือ ทางออกของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 หรือ