วิรัตน์ แสงทองคำ : ช่อง 3 ปรับใหญ่ ฝ่าคลื่นดิจิตัลถาโถม

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

การปรับทีมบริหารช่อง 3 ครั้งใหญ่ถึงสองครั้งสองครา ในช่วงเพียง 2 ปีนั้นน่าสนใจจริงๆ

ถือเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์เลยทีเดียวก็ว่าได้ (หากสนใจเรื่องราวความเป็นมาอย่างคร่าวๆ ของช่อง 3 โปรดอ่านตอนที่แล้ว)

“กรณีช่อง 3 ธุรกิจภายใต้การบริหารของตระกูลมาลีนนท์ ซึ่งถือว่ามีทีมงาน มีบุคลากรที่มีความรู้และประสบการณ์พอสมควร กำลังปรับตัวอย่างกระฉับกระเฉง อย่างน่าสนใจ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ช่วงเผชิญปัญหา นั่นคือการนำ “คนนอก” ผู้มีประสบการณ์แตกต่างเข้ามาบริหาร อาจเรียกได้ว่าเข้ามามีอำนาจบริหารอย่างเต็มที่ จากเคยอยู่ภายในตระกูลเท่านั้นมาตลอดครึ่งศตวรรษ”

บทสรุปอย่างกว้างๆ จากตอนที่แล้ว ควรอรรถาธิบายขยายความให้กระจ่างขึ้นอีก

หากมองย้อนกลับไป ปัญหาแทบจะมีทันที เมื่อทีวีดิจิตอลเกิดขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์ผันแปรไปอย่างรวดเร็วอย่างไม่คาดคิด ถือว่าได้สะท้อนภาพใหญ่เชิงสังคมด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

ปรากฏการณ์ทีวีดิจิตอล เกิดขึ้นครั้งแรกในสังคมไทย (ปี 2557) มีมากถึง 48 ช่อง ในมิติ “ผู้เล่น” สะท้อนภาพความพยายามครั้งใหญ่ กับความหวังอย่างสูงในโอกาสทางธุรกิจ เป็นภาพที่เชื่อมโยงกับธุรกิจสื่อซึ่งเผชิญความผันแปรมาตลอดช่วงทศวรรษ

โดยเฉพาะบรรดาธุรกิจสื่อเดิม ใช้ความพยายามอย่างมากๆ เพื่อเข้ามาสู่ช่วงเวลาใหม่ที่คาดว่าจะดียิ่งขึ้น เครือข่ายธุรกิจทีวีดั้งเดิมได้เคลื่อนย้ายเข้าสู่ยุคดิจิตอลอย่างคึกคัก ขณะที่ธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์หลายรายเข้าสู่เกมทีวิดิจิตอลอย่างตื่นเต้น ด้วยหวังว่าจะแก้ปัญหาอนาคตที่มีปัญหามากขึ้น ด้วยการทุ่มหมดหน้าตัก

มุมมองโอกาสด้วยความคาดหวังอย่างสูงมักมาจากปัญหาที่มีอยู่ กลายเป็นว่าทีวีดิจิตอลไทยในกำมือสื่อเดิมซึ่งมีฐานมาจากสื่อสิ่งพิมพ์ ดูจะเผชิญความผันแปรมากกว่าใครๆ

กลายเป็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยกับกรณีทีวีเสรี เมื่อราวๆ 3 ทศวรรษที่แล้ว

ผ่านไปแค่ปีเดียวต้องเผชิญปัญหาไปอย่างคาดไม่ถึง มีการเพิกถอนใบอนุญาตทีวีดิจิตอลรายหนึ่งเป็นรายแรก (กุมภาพันธ์ 2559)

และต่อมามีการเปลี่ยนมือกันอย่างมีนัยยะสำคัญ (พฤศจิกายน 2559) โดยเฉพาะไปอยู่ในมือเครือข่ายธุรกิจใหญ่ของไทย

 

ทีวีกับสื่อสารไร้สาย

กลุ่มใหม่ที่น่าสนใจเดินหน้าสู่ทีวีดิจิตอลด้วย-ธุรกิจสื่อสารผู้นำในธุรกิจโมบาย ซึ่งถือเป็นเครือข่ายธุรกิจใหญ่อันทรงอิทธิพลในสังคมธุรกิจไทย ได้เข้ามาร่วมเกม แสวงหาโอกาสธุรกิจในโมเดลใหม่ การหลอมรวมพลังธุรกิจ เป็นกระแสเพิ่มดีกรีทีวีดิจิตอลให้เข้มข้นขึ้น อันที่จริงกลุ่มนี้โฟกัสในธุรกิจโมบาย ด้วยมองเป็นโอกาสที่เปิดมากขึ้น เมื่อพัฒนาทางธุรกิจที่เด่นชัด ก้าวข้ามจากระบบ 3G สู่ 4G จากเสียงสู่ข้อมูล

เชื่อว่ากลุ่มผู้นำธุรกิจสื่อสารโมบาย ดูน่าเกรงขามอย่างมากๆ ในสายตาบรรดาสตาร์ตอัพทีวิดิจิตอลทั้งหลาย

ภาพนั้นกระชับกระชั้นทีเดียว ผมเองเคยนำเสนอไว้ (มติชนสุดสัปดาห์ว่าด้วย “สังคมกับธุรกิจสื่อสาร” เมื่อต้นปี 2560) อ้างอิง เปรียบเทียบ กรณีหน่วยงานผู้กำกับดูแลด้านสื่อสารของสหราชอาณาจักร (Office of Communications หรือ Ofcom) นำเสนอ (ปี 2558) รายงานวิจัยว่าด้วยความสำคัญของสมาร์ตโฟน (Smartphone) หัวข้อ UK now a smartphone society

จากรายงาน Ofcom”s 2015 Communications Market Report นำเสนอรายงานการปรับเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง พบว่าหนึ่งในสาม (33%) ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ต ได้ใช้สมาร์ตโฟนมากกว่าการใช้คอมพิวเตอร์พกพา หรือ laptop (30%) แล้ว การเพิ่มขึ้นของสมาร์ตโฟน มีภาพชัดเจนตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งในขณะนั้นมีสัดส่วนเพียง 22% ขณะที่คอมพิวเตอร์พกพายังอยู่ 40%

ขณะที่สังคมไทยโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. มีการรวบรวมข้อมูลในคลังข้อมูลอุตสาหกรรมไอซีที กับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศไทย (Thailand Internet User Profile)

ข้อมูลประกอบข้อเขียนที่ปรากฏ (2556-2559) เห็นภาพเคลื่อนไหวอย่างเฉพาะเจาะจงไปในทำนองเดียวกันว่าด้วยอิทธิพลการสื่อสารไร้สายกับสังคมไทย โฟกัสไปยังโทรศัพท์มือถือและสมาร์ตโฟน

ภาพนั้นเชื่อว่าสะท้อนภาพความเป็นไปจากกรณีช่อง 3 ด้วย

พิจารณาตัวเลขประกอบการในช่วง 17 ปี (โปรดกลับไปพิจารณาข้อมูลจำเพาะทางการเงิน บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอไว้ในตอนที่แล้ว) พบว่าตลอดช่วง 12 ปี (2545-2556) เป็นช่วงธุรกิจเติบโตอย่างน่าทึ่ง (พิจารณาจากรายได้) เพิ่งขึ้นถึง 3 เท่า (จากระดับ 5,000 ล้านบาทจนทะลุ 15,000 ล้านบาท)

ขณะผลกำไรก็เติบโตเช่นเดียวกัน แต่แล้วสถานการณ์พลิกผัน เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เริ่มต้นตั้งแต่ปีที่เริ่มต้นทีวีดิจิตอล ทั้งๆ ที่มีทีวีเพิ่มขึ้นอีก 2 ช่อง กลับมีรายได้ลดลง กำไรก็ลดลงอย่างฮวบฮาบเช่นกัน (โปรดพิจารณาจำเพาะทางการเงินช่วงปี 2556-2561)

แม้ว่าภาพกระบวนการหลอมรวมทีวีกับสื่อสารไร้สายในสังคมไทยจะยังไม่มีภาพชัดเจน ทว่ากรณีช่อง 3 ได้หน้าปรับตัวอย่างจริงจัง ด้วยการนำทีมงานจากธุรกิจสื่อสารไร้สายเข้ามาบริหารอย่างเต็มตัว ดูเป็นแผนการอันห้าวหาญ ภายใต้มุมมองทางธุรกิจในเชิงรุก ก้าวไปข้างหน้า ทว่าเป็นไปอย่างกว้างๆ

ทีมงานบริหารใหม่มาถึงในต้นปี 2560 เป็นช่วงเดียวกับบริษัท บีอีซี เวิลด์ (เจ้าของทีวีช่อง 3) มีรายได้ลดลงมาติดต่อกัน 4 ปี ในรอบ 17 ปี (เท่าที่มีข้อมูล) และมีผลกำไรน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

ทีมงานใหม่นำโดยสมประสงค์ บุญยะชัย วัยกว่า 60 ปี ผู้คลุกคลีกับธุรกิจสื่อสารไร้สายมานานมากๆ แต่น่าเสียดายเขาได้มายืนในจุดที่มองเห็นภาพกว้างๆ ในช่วงธุรกิจสื่อสารไร้สายกำลังผันเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เขามีประสบการณ์อย่างเข้มข้นในช่วงก่อนหน้า เป็นผู้นำบุกเบิกการสร้างเครือข่ายให้ครอบคลุม (ในฐานะประธานกรรมการบริหาร แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ช่วงปี 2542-2551) จากนั้นเขาไปอยู่ดูแลธุรกิจถอยห่างจากธุรกิจสื่อสารไร้สายมากขึ้นอีก (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินทัช โฮลดิ้งส์ 2551-2558)

 

ยุคทีวีดิจิตอลจริงๆ

“อันที่จริงในเวลานั้น ในระดับโลก มองปรากฏการณ์นั้นอย่างระแวดระวัง ด้วยความเชื่อ แม้ว่าทีวียังคงอยู่ แต่ต้องปรับตัว กำลังก้าวไปสู่แนวโน้มใหม่ มีความหมายกว้าง ทีวีแบบเดิม (traditional television network) ก้าวสู่ดิจิตอล (digital)” จากตอนที่แล้วอ้างไว้คร่าวๆ ขอขยายความเพิ่มเติม ว่าด้วยมุมมองเกี่ยวกับช่วงเปลี่ยนผ่านทีวีในสหรัฐอเมริกา ช่วงเดียวกับทีวีดิจิตอลไทยกำลังเกิดขึ้น

กล่าวถึงทิศทางธุรกิจทีวีใหม่ที่น่าสนใจ

หนึ่ง-ธุรกิจทีวีจะต้องใช้ข้อมูลมากขึ้น (data-driven models) เพื่อนำมาวิเคราะห์และกำหนดโปรแกรมทีวีที่มีผู้ชมมีนัยยะอย่างแท้จริง

สอง-ผู้ชมเป็นผู้ควบคุม (The viewers are in control) ต้องการจะชมโปรแกรมอะไร แบบไหน ผ่านอุปกรณ์และแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ต้องการ ในเวลาและสถานที่ที่ต้องการที่แตกต่างกัน (เรียบเรียงจากเรื่อง The Future of T.V. : Digital, Traditional And Something In Between, Forbes ,Mar 12, 2014)

ทิศทางที่กล่าวถึง อาจถูกมองข้ามไปในสังคมไทย ปรากฏการณ์ใหม่มากับโลกอินเตอร์เน็ตที่เปิดกว้าง ทั้งซ่อนตัวมาอย่างกลมกลืนกับ Social Media ทรงอิทธิพลระดับโลก ภายใต้นิยามเรียกกันกว้างๆ ว่า Online Video Platform กำลังเข้ามามีอิทธิพลในเมืองไทยมากขึ้นๆ Social media สื่อระดับโลกใหม่ได้เข้ามามีอิทธิพลในสังคมไทย ในจังหวะที่น่าสนใจ ในช่วงเวลาสื่อไทยกำลังเผชิญปัญหาอย่างหนักหน่วง อย่างต่อเนื่อง

เปิดฉากโดย Google ยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการในโลกอินเตอร์เน็ต เปิดสำนักงานในประเทศไทย (ปี 2554)

ในเวลาใกล้เคียงกัน Fox Entertainment Group ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมบันเทิงของสหรัฐ เปิดเครือข่ายด้วยการนำภาพยนตร์ซีรี่ส์อเมริกันเข้ามาถึงครัวเรือนไทย

LINE เครือข่ายสื่อสังคมระดับโลกอีกรายแห่งเอเชีย มีสมาชิกในสังคมไทยทะลุ 10 ล้านคน (ปี 2555)

YouTube ผู้ครองตลาดธุรกิจเครือข่ายบริการแชร์คลิปวิดีโอ (video-sharing website) แห่งสหรัฐอเมริกา (ธุรกิจหนึ่งในเครือข่ายของ Google) เปิดบริการในประเทศไทย Facebook เครือข่ายสื่อสังคม (social networking service) ซึ่งทรงอิทธิลพลมากที่สุดในโลกอีกราย เปิดตัวในประเทศไทย (ปี 2558)

และ Netflix เครือข่ายธุรกิจบริการผ่านอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า Internet video streaming เปิดบริการในไทย (ปี 2559)

จากข้อมูล Thailand Internet User Profile ปรากฏว่า YouTube เข้ามามีบทบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน สำหรับผู้ใช้มือถือตั้งแต่ปี 2559 ด้วยเข้ามาเป็นอันดับสอง รองจาก Social media สำคัญอย่าง Facebook จากนั้นไม่นานบรรดา Social media ระดับโลกได้พัฒนาให้มีบริการแบบ video streaming อยู่ด้วย

การปรับตัวของช่อง 3 อีกครั้งเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2 ปี ในช่วงผลประกอบการปีล่าสุด (2561) ขาดทุนครั้งแรกในรอบ 17 ปี ด้วยการปรับโครงสร้างบริหารอีกครั้ง อริยะ พนมยงค์ ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการ (ประกาศเมื่อ 4 มีนาคม 2562 และมีผล 2 พฤษภาคมที่กำลังจะมาถึง)

อริยะ พนมยงค์ วัย 46 ปี ผู้ผ่านประสบการณ์เข้มข้นจากธุรกิจสื่อสารไร้สายในยุคต้นๆ สู่ยุค Social media เมื่อ Google เข้ามาปักหลักในสังคมไทย เขาเป็นหัวหน้าทีมผู้บริหาร Google คนแรกในไทย (ตั้งแต่ปี 2554) มีประสบการณ์โดยตรงกับ YouTube (ธุรกิจหนึ่งของ Google) เข้ามาเมืองไทยอย่างจริงจัง และเมื่อเขาก้าวข้ามฟากจากโลกตะวันตกมายัง Social media โลกตะวันออก ซึ่งมีฐานมั่นคงในเมืองไทย มาเป็นผู้บริหาร LINE Thailand (ปี 2559) ถือว่าเป็นจังหวะ LIINE TV เพิ่งจะเดินหน้า (ปี 2557)

ไม่ว่าการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อีกครั้งจะมีผลอย่างไร เชื่อว่าบทเรียนช่อง 3 คงมีคุณค่าสำหรับสังคมธุรกิจไทยไม่น้อย