ATTA การรวมตัวกัน ของจิตรกรระดับแนวหน้า ของฟ้าเมืองไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เมื่อต้นเดือนมีนาคมนี้ เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมาอีกนิทรรศการหนึ่ง เลยถือโอกาสเอามาฝากกัน

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า “อัตตา : ATTA”

เป็นนิทรรศการแสดงผลงานของ 4 ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นอย่าง ประทีป คชบัว, ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี, สุรเดช แก้วท่าไม้ และอนุพงษ์ จันทร ที่มาแสดงผลงานร่วมกันเป็นครั้งแรก

ซึ่งถือเป็นโอกาสที่หาชมได้ยากยิ่ง ที่ศิลปินจิตรกรระดับแนวหน้าของฟ้าเมืองเมืองไทยจะมาร่วมแสดงผลงานด้วยกันเช่นนี้

นิทรรศการ อัตตา เป็นการแสดงออกถึงตัวตนของคนทำงานศิลปะ โดยเป็นการรวบรวมเอางานของศิลปินทั้งสี่มาแสดงร่วมกันเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา คนชื่นชอบงานศิลปะทั่วไป รวมถึงแฟนๆ ของศิลปินได้มีโอกาสเห็นงานของศิลปินเหล่านี้แบบเน้นๆ โดยไม่ได้จำกัดเนื้อหา หรือแนวความคิดใดๆ

ปล่อยให้ศิลปินแต่ละคนทำงานไปตามใจ ตามถนัด ตามเห็นควร จะวาดเส้น ระบายสี หรือปั้น หล่อ… ขอให้ออกมาเป็นผลงาน เป็นตัวตนของศิลปินเป็นพอ

ในนิทรรศการนี้ยังมีการทำหนังสือรวบรวมผลงานสำคัญๆ รวมถึงบอกเล่าเรื่องราวของศิลปินทั้งสี่ เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับรู้ถึงเส้นทางชีวิต ว่ากว่าจะมาถึงวันนี้ ศิลปินที่เป็นไอดอลของใครหลายคนเหล่านี้ มีความเป็นมาอย่างไร

หนังสือเล่มนี้ยังตั้งใจจะส่งไปยังห้องสมุดมหาวิทยาลัยที่มีคณะศิลปกรรมทั่วประเทศ เพื่อให้นักศึกษาในต่างจังหวัดมีโอกาสได้เห็นผลงานของศิลปินเหล่านี้เช่นเดียวกับคนในเมืองหลวง”

: ตัดตอนจากบทความประกอบนิทรรศการโดยเจอรี่ (วนิดา รุจิเกียรติกำจร)

นิทรรศการ อัตตา คัดสรรผลงานอันโดดเด่นของศิลปินทั้งสี่คนมาจัดแสดง เริ่มด้วยผลงานจิตรกรรมอันพิสดารเปี่ยมจินตนาการของ ประทีป คชบัว ที่ตีแผ่ประเด็นทางสังคม, ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผสานเข้ากับจินตนาการความคิดฝัน อารมณ์ความรู้สึก และจิตใต้สำนึกของศิลปิน

ผลงานของประทีป คชบัว

“ผมเป็นคนที่ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่อยากแสดงงานเท่าไหร่ เพราะผมแสดงงานมาเป็นร้อยๆ ครั้งจนเบื่อแล้ว แต่แฟนของผมเคยบอกไว้ว่า ถ้าเราทำงานอยู่กับบ้านอย่างเดียว คนส่วนใหญ่ก็จะไม่เห็น เราต้องแสดงงานเพื่อออกสังคม ออกสื่อบ้าง เลยจะเห็นได้ว่าผลงานที่นำมาแสดงในนิทรรศการนี้มีเนื้อหาหลากหลาย ทั้งเรื่องศาสนา เรื่องการเดินทางของชาวจีน เรื่องราวในข่าวต่างๆ อย่างเรื่องการฆ่าเสือดำ ล่าสุดก็เรื่องหมูป่า เวลาทำงาน ผมทำตามกระแสสังคมที่ดำเนินไป เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ร่วมสมัย แต่ถ่ายทอดออกมาในแนวทางของผม ซึ่งในวงการศิลปะก็จะรู้ดีว่าเป็นแนว Surrealist หรือ ศิลปะเหนือจริง นั่นแหละนะ”

ผลงานของประทีป คชบัว

นอกจากนี้ ผลงานของประทีปยังมีประติมากรรมเชิงศาสนาในสไตล์เซอร์เรียลลิสต์อีกด้วย

ตามมาด้วยผลงานจิตรกรรมภาพเหมือนบุคคลอันโดดเด่นของศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพเปลือยที่ถ่ายทอดเรือนกายอันงดงามเย้ายวนของอิตถีเพศออกมาได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก ด้วยฝีไม้ลายมืออันจัดจ้าน และเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างยากจะหาใครเสมอเหมือน

“งานในนิทรรศการนี้ก็จะมีทั้งรูปเก่าและรูปใหม่ปนกัน บางชิ้นก็เขียนค้างไว้แล้วกลับมาเขียนต่อให้เสร็จ เวลาผมเขียนรูป นางแบบแต่ละคนจะเป็นผู้กำหนดสไตล์ของแต่ละรูป เราก็ต้องเขียนไปตามที่แบบเป็น นางแบบบางคนดูกลมกลึง มีเนื้อหนัง เวลาเขียนเราก็ทิ้งฝีแปรงมันๆ ได้ หรือบางรูปเราเล่นเรื่องความเป็นไทย ผมก็คิดถึงรูปวิวโบราณ เชยๆ ที่เราเห็นตาม ส.ค.ส. ก็เลยลองเอามาใส่เป็นฉากหลังในภาพที่นางแบบสวมชฎากับเครื่องทรง เป็นการล้อภาพเขียนฝรั่งแบบโบราณ แต่ว่าเราเอามาทำแบบไทยๆ”

นอกจากผลงานจิตรกรรม ผลงานของศักดิ์วุฒิในนิทรรศการนี้ยังมีผลงานประติมากรรมรูปลักษณ์แปลกตาที่เต็มไปด้วยร่องรอยอันดิบกระด้างรุนแรงคล้ายกับฝีแปรงในภาพวาดของเขา

ผลงานของศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี

“คือเราเขียนรูปอย่างเดียวก็เบื่อ เลยอยากลองทำงานปั้นบ้าง ด้วยความที่เราไม่ใช่ช่างปั้น แต่เราทำเองในสไตล์ของเรา อย่างโครงสร้างของรูปปั้นเราก็ใช้ไม้แขวนเสื้อยัดเข้าไปในดินแทน แล้วก็ทิ้งเอาไว้อย่างงั้น หรือจานสี พู่กันที่เห็น ผมเอาของจริงเสียบเข้าไป เวลาเอาไปหล่อเป็นโลหะก็หล่อไปทั้งอย่างนั้นเลย เป็นดีไซน์เฉพาะตัว สนุกดี”

ต่อด้วยผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงของสุรเดช แก้วท่าไม้ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตครอบครัวของศิลปิน ท่ามกลางบรรยากาศอันฉ่ำชื่นรื่นรมย์ของแมกไม้และสายน้ำในธรรมชาติ อวลอายด้วยกลิ่นอายศิลปะอาร์ตนูโว (Art Nouveau) อันวิจิตรเมลืองมลัง

ผลงานของสุรเดช แก้วท่าไม้

“แนวคิดในการทำงานของผมคือการเอางานจิตรกรรมเรอเนสซองส์ (Renaissance), พรีราฟาเอลไลต์ (Pre-Raphaelite), วิกตอเรียน (Victorian), อิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionism) มาผสมผสานกับความเป็นไทยแล้วเรียบเรียงออกมาใหม่ ก็ได้แรงบันดาลใจทั้งจากครูไทย ครูฝรั่ง ส่วนอาร์ตนูโวเนี่ย ผมชอบมาก เพราะมีกลิ่นอายอะไรบางอย่างที่ตรงกับตัวเอง”

“ผมชอบดนตรี ชอบบทเพลง ยิ่งลูกๆ ผมเรียนดนตรีด้วย เลยทำให้จากที่เมื่อก่อนเราฟังเพลงทั่วๆ ไปเพื่อการผ่อนคลาย ปัจจุบันกลายเป็นฟังเพลงเพื่อศึกษา โดยเฉพาะพอลูกผมเรียนสาขาดนตรีคลาสสิคโดยตรง เขาก็มีข้อมูลมาบอกเราได้ ทำให้เรามีความเข้าใจ และเทียบเคียงว่าในบทเพลงนี้ คีตกวีเขาคิดอะไร ในแง่เดียวกันพอเป็นภาพเขียน จิตรกรคิดอะไร ทั้งคู่สี เส้นสาย เอามาผนวกรวมกัน เหมือนอย่างบางครั้ง จิตรกรก็อยากให้คนดูได้ยินเสียงจากภาพของเขา ในขณะที่นักดนตรีบางคนก็ปรารถนาให้เสียงดนตรีของเขาทำให้ผู้ฟังเห็นภาพ สองสิ่งนี้มันสอดคล้องกัน”

“ส่วนเรื่องราวในงานก็เป็นเรื่องของความรัก ความผูกพันของเรา ตั้งแต่ตอนที่พ่อแม่บ่มเพาะเลี้ยงดูเราในธรรมชาติ ที่บ้านสวน พอเรามีครอบครัว มีลูก เราก็เอามารวมกัน”

ปิดท้ายด้วยงานจิตรกรรมแนวเสียดสีสังคม และจิกตีวงการพุทธศาสนาไทยอย่างเจ็บแสบเลือดซิบ ของอนุพงษ์ จันทร ที่หลายคนรู้จักกันดีจากผลงาน “ภิกษุสันดานกา” อันลือเลื่องนั่นเอง

ผลงานของอนุพงษ์ จันทร

“งานของผมในนิทรรศการนี้มีทั้งส่วนที่เป็นงานเก่าและงานใหม่ เพราะตอนเราคุยกับภัณฑารักษ์ว่า เผื่อมีนักศึกษาที่มาดูงาน เขาจะได้เห็นเส้นทางการทำงานของเราว่ามีพัฒนาการมายังไง”

“ในส่วนของงานชุดใหม่ในนิทรรศการนี้ ผมเลือกเนื้อหาที่ค่อนข้างเกี่ยวกับเรื่องความไม่ชัดเจนของเพศสภาพที่เข้าไปอยู่ในพุทธศาสนา ซึ่งทำให้เราสามารถจินตนาการและสร้างชุดสีในภาพได้สนุกสนานมากขึ้นมากกว่างานชุดเก่าๆ ที่ค่อนข้างเป็นโทนสีเอกรงค์ ผมไม่ได้มองว่าการที่เพศที่สามมาบวชพระจะเป็นปัญหาต่อศาสนาอะไร แต่การปฏิบัติของพวกเขาต่างหากที่มีผลกระทบกับคนส่วนใหญ่ที่นับถือศาสนา ไม่ต่างอะไรกับผู้ชายแท้ที่เข้าไปบวชแล้วปฏิบัติไม่ดีปฏิบัติไม่ชอบนั่นแหละ ส่วนเรื่ององค์ประกอบ ผมหยิบเอาโครงสร้างจากภาพเขียนในคริสต์ศาสนาของยุโรปมาใช้ แต่เอาเนื้อหาแบบไทยๆ เข้าไปสวมอีกทีหนึ่ง เพราะในพุทธศาสนาของเราเองก็มีเรื่องของอำนาจทางเพศ ที่ส่งต่อภายในกันในศาสนา”

“ผมก็เลยเอามาเปิดเผยให้เห็นกัน”

เช่นเดียวกับศักดิ์วุฒิ ผลงานของอนุพงษ์ในนิทรรศการนี้นอกจากจะมีงานจิตรกรรมแล้ว ยังมีงานประติมากรรม รูปศีรษะของตัวละครเปรตในคราบผ้าเหลือง วางอยู่บนแท่นที่หุ้มด้วยจีวรพระ ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นเป็นสง่าและน่าสะพรึง

“ผลงานชิ้นนี้เป็นงานชุดใหม่ ที่ขยับจากภาพเขียนไปเป็นประติมากรรมจัดวาง ที่ได้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่เราได้เห็นในชีวิตจริง อย่างเวลาผมพานักเรียนไปเขียนรูปที่สุโขทัย, อยุธยา เราก็จะเห็นแต่พระพุทธรูปที่ไม่สมประกอบ ไร้เศียร มีแต่ลำตัววางไว้ พอเราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เราก็จะเห็นแต่เศียรพระพุทธรูป ทำให้เรานึกถึงการที่มนุษย์ที่มีแต่ความโลภ เข้าไปตัดเศียรพระ ทำลายศิลปวัฒนธรรม ประสบการณ์เหล่านี้เป็นแรงสะเทือนที่ผลักให้ผมทำงานชุดนี้ขึ้นมา จริงๆ นิทรรศการนี้ผมอยากทำให้ทั้งห้องเต็มไปด้วยหัวเหล่านี้ เพราะพื้นที่ตรงนี้เองก็เป็นที่ขายของแอนทีก ขายพระพุทธรูปด้วย แต่งบประมาณและเวลาไม่พอ ก็ค่อยๆ ทยอยสะสมงานเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสเมื่อไหร่ก็ค่อยแสดง”

นิทรรศการ อัตตา : ATTA จัดแสดงณ RCB Galleria ชั้น 2 ศูนย์การค้า ริเวอร์ซิตี้ แบงค็อก ตั้งแต่วันที่ 2-31 มีนาคม 2562 เปิดให้ชมทุกวันโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 10.00-20.00 น.

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก RCB Galleria