โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ/เหรียญรุ่นแรก-2500 หลวงปู่จันทร์ เขมิโย วัดศรีเทพฯ นครพนม

.หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

โฟกัสพระเครื่อง/โคมคำ [email protected]

เหรียญรุ่นแรก-2500

หลวงปู่จันทร์ เขมิโย

วัดศรีเทพฯ นครพนม

“พระเทพสิทธาจารย์” หรือ “หลวงปู่จันทร์ เขมิโย” อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม (ธ) อดีตเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม อ.เมือง จ.นครพนม พระเถรานุเถระ 5 แผ่นดิน

วัตถุมงคลแต่ละรุ่น โดยเฉพาะเหรียญรุ่นแรก เป็นที่เสาะแสวงหาของบรรดาเซียนพระนักสะสมพระเครื่อง

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2500 นายสง่า จันทรสาขา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนมในขณะนั้น น้องชายต่างมารดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อดีตนายกรัฐมนตรี จัดสร้างวัตถุมงคลเหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่น 1 เพื่อร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสครบ 25 ทศวรรษที่จัดขึ้นในวัดทั่วประเทศ เพื่อไว้แจกญาติโยมที่มาทำบุญในพิธีดังกล่าว

ลักษณะป็นเหรียญรูปไข่ มีหูห่วง จัดสร้างเป็นเนื้อทองแดงกะไหล่เงิน เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงผิวไฟ และเนื้อทองแดงรมดำ จัดสร้างรวมกันจำนวน 2,500 เหรียญ เท่าจำนวนปีพุทธศักราช

ด้านหน้าเหรียญ มีเส้นสันนูนรอบเหรียญ ใต้หูห่วงสลักคำว่า “วัดศรีเทพ นครพนม” ตรงกลางเหรียญมีรูปเหมือนหลวงปู่จันทร์ครึ่งองค์ ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูนคำว่า “เจ้าคุณสารภาณมุนีฯ”

ด้านหลัง มีเส้นสันขอบ ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์ 8 ทิศ โครงสร้างยันต์ดังกล่าว มีคาถาพระเจ้า 5 พระองค์กำกับไว้ มีความหมายปลอดภัยทั้ง 8 ทิศ ภายในโครงยันต์สี่เหลี่ยมผืนผ้าไขว้กับสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด มีอักขระในช่องสี่เหลี่ยมเล็กนับได้ 25 ตัว ด้านล่างระบุพุทธศักราชที่สร้าง “๒๕๐๐”

หลวงปู่จันทร์นั่งปลุกเสกพิธีใหญ่ ภายในพระอุโบสถ

เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมสูง จึงมีนักฉวยโอกาสปั๊มพิมพ์เลียนแบบและมีของเก๊ปะปนในตลาดเช่าพระ

ถือเป็นวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูงที่นับวันจะหายาก

เหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่นแรก (หน้า)

 

มีนามเดิมว่า จันทร์ สุวรรณมาโจ ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2424 ปีมะเส็ง ณ บ้านท่าอุเทน หมู่ 3 ต.ท่าอุเทน อ.เมือง จ.นครพนม

ช่วงวัยเยาว์ สุขภาพไม่ค่อยสมบูรณ์เป็นโรคหอบหืด บิดาจึงให้ไปอยู่กระท่อมปลายนา

ขณะอายุ 10 ขวบ บิดาล้มป่วยและเสียชีวิต จึงได้บวชเณรหน้าไฟ ณ วัดโพนแก้ว ต.ท่าอุเทน อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม โดยมีพระขันธ์ ขันติโก เป็นพระอุปัชฌาย์

ขณะอยู่ที่วัดโพนแก้ว ได้ศึกษาอักษรขอมและอักษรธรรม ฝึกอ่านเขียนสวดมนต์น้อย มนต์กลาง และมนต์หลวง ตามลำดับ

อายุ 19 ปี ลาสิกขาไปประกอบอาชีพค้าขาย

ครั้นอายุ 20 ปี เมื่อ พ.ศ.2445 จึงตัดใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้ง ณ พัทธสีมาวัดโพนแก้ว โดยมีพระเหลา ปัญญาวโร เป็นพระอุปัชฌาย์, พระเคน อุตตโม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระหนู เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า เขมิโย

พำนักอยู่วัดได้ 2 เดือน กราบลาพระอุปัชฌาย์ไปจำพรรษาที่วัดอินทร์แปลง อ.เมือง จ.นครพนม เพื่อติดตามพระเคน ครูผู้สอนคัมภีร์มูลกัจจายน์

เหรียญหลวงปู่จันทร์ รุ่นแรก (หลัง)

 

พ.ศ.2445 พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล แห่งวัดเลียบ จ.อุบลราชธานี พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน ผู้เป็นอาจารย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แม่ธรรมทัพพระป่า และพระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปัญโญ) วัดปทุมมาราม ผ่านมาพักปักกลด

พระปัญญาพิศาลเถร และพระยาสุนทรเทพกิจจารักษ์ ได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เสาร์ ให้คัดพระภิกษุ 4 รูป ผู้เฉลียวฉลาด โดย 1 ในนั้นมีพระจันทร์ พระลา พระหอม และสามเณรจูม (ต่อมาดำรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์) วัดโพธิสมภรณ์ จ.อุดรธานี ถวายเป็นศิษย์พระอาจารย์เสาร์ ออกธุดงค์ บำเพ็ญเพียรสมาธิภาวนา ก่อนมุ่งสู่ จ.อุบลราชธานี

ช่วงที่พำนักที่วัดนี้ 4 เดือนเต็มเพื่อฝึกซ้อมบทสวดมนต์ พระอาจารย์เสาร์นำประกอบพิธีญัตติเป็นพระธรรมยุต ณ อุโบสถวัดศรีอุบลรัตนราม (วัดศรีทองเดิม) จ.อุบลราชธานี มีพระปัญญาพิศาลเถร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีฉายาเดิมว่า เขมิโย

พ.ศ.2449 กราบลาพระอาจารย์มาจำพรรษาที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม ซึ่งเป็นวัดร้างเดิมชื่อวัดศรีคุณเมืองนาน 3 ปี ปรับปรุงพัฒนาวัดขณะพรรษาที่ 7

พ.ศ.2453 เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ฝากตัวเป็นศิษย์กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระเทพกวี) วัดเทพศิรินทราวาส ศึกษาพระปริยัติจนสำเร็จเปรียญ 3 ประโยค นาน 6 ปี ก่อนเดินทางกลับบ้านเกิด

 

ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัด และเป็นเจ้าคณะอำเภอหนองบึก (อำเภอเมืองในปัจจุบัน) พ.ศ.2459 ได้นำแผนการศึกษาของรัชกาลที่ 5 จัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยแผนใหม่และนักธรรมบาลีขึ้นเป็นแห่งแรก มีพระเณรและคฤหัสถ์ชาย เรียนรวมกัน ก่อนย้ายไปเรียนที่ศาลากลางจังหวัดหลังเก่า และโรงเรียนปิยะมหาราชาลัย ในปัจจุบัน

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์

พ.ศ.2459 เป็นเจ้าอาวาสวัดศรีเทพประดิษฐาราม

พ.ศ.2460 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2502 เป็นเจ้าคณะจังหวัดนครพนม

ลำดับสมณศักดิ์

พ.ศ.2474 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสารภาณพนมเขต

พ.ศ.2480 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระสารภาณมุนี

พ.ศ.2496 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารภาณมุนี

พ.ศ.2502 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสิทธาจารย์

มรณภาพลงอย่างสงบ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2516 เวลา 08.00 น. สิริอายุ 92 ปี พรรษา 72