หนุ่มเมืองจันท์ | แรงกระเพื่อม

หนุ่มเมืองจันท์facebook.com/boycitychanFC

ทุกครั้งที่ซื้อของในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น แล้วเจอพนักงานขายถามว่า “รับถุงไหมคะ”

ผมจะอดยิ้มไม่ได้ทุกครั้ง

นึกถึงคำว่า “ยืดอก พกถุง” ทุกครั้ง

ถ้าซื้อของน้อยชิ้น ผมจะไม่รับถุง

แต่ถ้าของเยอะก็จะยืดอก ยอมรับความจริง

…ขอถุง

ผมเพิ่งรู้ว่าโครงการนี้เริ่มต้นจากคุณณรงค์ เจียรวนนท์ ลูกชายของคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ไปเที่ยวทะเล

เห็นขยะพลาสติกที่ชายหาด

ในกองขยะนั้นมีถุงพลาสติกของ “เซเว่น อีเลฟเว่น” เด่นเป็นสง่า

เขาจึงเสนอความคิดเรื่องการลดขยะถุงพลาสติกกับผู้บริหารซีพีออลล์

ทุกคนเห็นด้วยและเริ่มต้นรณรงค์ให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติก

ปรากฏว่าช่วงแรกโดนลูกค้าโวย

หาว่าทาง “เซเว่น อีเลฟเว่น” งก

อ้างว่าจะช่วยสิ่งแวดล้อม

แต่จริงๆ คือ ต้องการ “ลดต้นทุน”

ในมุมหนึ่ง ลูกค้าไม่ผิด เพราะการไม่รับถุงพลาสติก

เท่ากับว่า “เซเว่น อีเลฟเว่น” ประหยัดค่าใช้จ่าย

อีกมุมหนึ่งเป็นภาพสะท้อนให้รู้ว่าภาพลักษณ์ของ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ไม่ได้ดีนักในสายตาผู้บริโภค

การทำดี กลายเป็น “ปัญหา”

วันหนึ่งทีมการตลาดเกิดไอเดียใหม่

เขาเห็นว่าคนไทยชอบทำบุญ

ดังนั้น เพื่อแสดงให้เห็นว่าโครงการนี้ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมจริงๆ

ไม่ได้ต้องการลดต้นทุน

แทนที่จะนำเงินค่าถุงพลาสติกที่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ประหยัดไปเข้ากระเป๋า

ก็เปลี่ยนมา “ทำบุญ”

เพราะเขาพบ “อินไซด์” ของคนไทยว่าชอบทำบุญ

ดังนั้น ทุกครั้งที่ลูกค้าไม่รับถุง

เขาจะได้ทำบุญ โดยไม่ต้องควักกระเป๋า

เพราะ “ซีพีออลล์” จ่ายแทน

แม้เป็นเงินจำนวนน้อยแค่ 20 สตางค์ต่อถุง

แต่เมื่อรวมกันเยอะๆ ก็จะกลายเป็นเงินจำนวนมาก

และคนที่เหมาะสมจะเป็นพรีเซ็นเตอร์ก็คือ “ตูน บอดี้สแลม”

เพราะโครงการก้าวคนละก้าวก็มีแนวคิดแบบนี้

“ผมไม่ต้องการเงินจำนวนมาก จากคนจำนวนน้อยๆ

แต่ต้องการเงินจำนวนน้อยๆ จากคนจำนวนมาก”

จำคำพูดของ “ตูน” ตอนเริ่มโครงการก้าวคนละก้าวได้ไหมครับ

เป็นแนวคิดเดียวกับที่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” คิด

และนี่คือ ที่มาของโครงการ “ลดวันละถุง คุณทำได้”

เงินทั้งหมดจากโครงการนี้จะนำไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์มอบให้กับอาคารนวมินทรบพิตร 84 พรรษา โรงพยาบาลศิริราช ตามโครงการก้าวคนละก้าว

ตอนนี้เข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เราจะเห็นสแตนดี้รูป “พี่ตูน” อยู่หน้าร้าน

ชวนคนซื้อของไม่รับถุงพลาสติก

และเมื่อเราซื้อของเสร็จ ไปที่เคาน์เตอร์จ่ายเงิน

พนักงานจะถามก่อนว่า “รับถุงไหมคะ”

เป็นการส่งสัญญาณเบาๆ ว่าคุณมีทางเลือกนะว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ”

กระตุ้นให้เรานึกถึงภาพ “พี่ตูน” หน้าร้านพร้อมคำพูดสั้นๆ “ขอบคุณที่ไม่รับถุง”

ถ้าเราไม่รับ

พนักงานจะบอกว่า “ขอบคุณที่ไม่รับถุงนะคะ”

ในสลิปก็จะย้ำอีกครั้ง

“ขอบคุณที่ไม่รับถุง”

“คำขอบคุณ” แม้จะไม่มี “ราคา”

แต่มี “คุณค่า”

เหมือนกับเราเป็นคนดี

แม้จะแค่ 20 สตางค์ต่อถุงก็ตาม

นอกจากนั้น “เซเว่น อีเลฟเว่น” ยังปิดตัวเลขทุกวันตอนเที่ยงคืน

7 โมงเช้าก็จะโชว์ตัวเลขว่ายอดบริจาคตอนนี้เท่าไรแล้ว

ลูกค้าจะรู้ว่าสิ่งเล็กๆ ที่เขาทำไป

รวมกันแล้วเป็นตัวเลขที่สูงมาก

เชื่อไหมครับว่าตอนแรกที่ “เซเว่น อีเลฟเว่น” รณรงค์ไม่รับถุงพลาสติก

9 เดือน ลดจำนวนถุงพลาสติกได้ 100 ล้านถุง

หรือเดือนละประมาณ 11 ล้านถุง

แต่พอปรับแคมเปญใหม่เป็น “การทำบุญ”

แค่ 3 เดือนสามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 245 ล้านถุง

หรือเดือนละ 81 ล้านถุง

เพิ่มขึ้น 8 เท่าตัว

ได้เงินบริจาค 49 ล้านบาท

ถ้าสถิตินี้ยังคงเป็นไปแบบนี้เรื่อยๆ

ครบ 1 ปี เราจะลดการใช้ถุงพลาสติกจากการไม่รับถุงที่ร้านเซเว่น อีเลฟเว่นได้ถึง 980 ล้านถุง

เกือบ 1,000 ล้านถุง

โรงพยาบาลศิริราชจะได้เงินไปซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เกือบ 200 ล้านบาท

เป็นตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจทีเดียว

เรื่องนี้เป็นบทเรียนที่ดีว่า ถ้าองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ลงมือทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม

จะเกิดแรงกระเพื่อมที่เห็นชัด

ไม่เพียงแค่ “ตัวเลข” ของถุงพลาสติกและเงินบริจาค

แต่ยังสร้างพฤติกรรมใหม่ให้กับผู้บริโภค

จากเดิมที่เคยคิดว่าซื้อของต้องใส่ถุงพลาสติก

เขาเริ่มรู้ว่ามีอีกทางเลือกหนึ่งคือ “ไม่รับถุง”

และอาจนำไปสู่การเตรียมถุงผ้ามาใส่สินค้า

ทำบ่อยๆ ก็จะเริ่มชิน

ถ้าจำไม่ผิดตัวเลขคนที่เข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นวันหนึ่งประมาณ 12 ล้านคน

โครงสร้างประชากรไทย อายุ 15 ปีขึ้นไปประมาณ 48 ล้านคน

แสดงว่าคนเข้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นประมาณ 1 ใน 4 ของคนที่มีกำลังซื้อของประเทศ

ทำอะไรครั้งหนึ่ง แรงกระเพื่อมเยอะนะครับ

นึกเล่นๆ ต่อไปว่า ถ้า “เซเว่น อีเลฟเว่น” เอาจริงเอาจังกับการลดการใช้พลาสติก

ปรับเปลี่ยนภาชนะใส่อาหารกล่องในร้านให้เป็นวัสดุรีไซเคิล

ลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศช่วงกลางคืน ฯลฯ

ขยับทีละนิดทีละเรื่อง

ทำไปเรื่อยๆ

วันหนึ่ง “เซเว่น อีเลฟเว่น” อาจกลายเป็นองค์กรตัวอย่างด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ที่ไม่ใช่แค่ทำหนังโฆษณา

แต่ลงมือทำจริงๆ

แรงกระเพื่อมนี้นอกจากส่งผลต่อสังคมแล้ว

ภาพลักษณ์ของ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ก็จะดีขึ้นด้วย

น่าสนใจไหมครับ