กรองกระแส / เลือกตั้ง สำคัญ ก้าวแรกของการต่อสู้ กับระบอบ คสช.

กรองกระแส

เลือกตั้ง สำคัญ

ก้าวแรกของการต่อสู้

กับระบอบ คสช.

 

ไม่ว่าผลการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม จะออกมาในรูปแบบใด นั่นก็คือ ชัยชนะอย่างท่วมท้นเป็นของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ

หรือเป็นของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

แต่ก็ต้องยอมรับว่า บรรยากาศทางการเมืองนับแต่เมื่อเดือนธันวาคม 2561 กระทั่งมาถึงเดือนมีนาคม 2562 มีความคึกคักเป็นอย่างสูง

ความเป็นจริงต่างๆ ในทางการเมืองได้รับการนำเสนอ วิพากษ์วิจารณ์

ไม่ว่าจะเป็นความจริงจากทางด้านของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็นความจริงจากทางด้านของพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่

เป็นความจริงในลักษณะ 2 ด้าน เป็นความจริงอันมีความแตกต่างกัน

รัฐธรรมนูญที่เคยถูกมองว่าเป็นของสูง ไม่มีใครกล้าแตะต้อง เมื่อวางแบอยู่ ณ เบื้องหน้าประชาชน ก็มีความเห็นไปหลายหลาก และความรู้สึกร่วมก็คือ มีเสียงเรียกร้องต้องการให้มีการแก้ไข เพียงแต่จะแก้ไขโดยทันทีหรือว่ากำหนดมาตรการและขั้นตอนอย่างไร

ความเป็นจริงที่ต้องยอมรับร่วมกันว่าก็คือ แนวโน้มและทิศทางในทางการเมืองส่อความเรียกร้องต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลง

มีความเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้คือก้าวแรกไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญ

 

2 เหตุ 2 ปัจจัย

การเปลี่ยนแปลง

 

นํ้าหนักของการเปลี่ยนแปลง 1 ซึ่งสำคัญเห็นว่ากระแสในทางสังคมทั้งในทางความคิด ทั้งในทางการเมือง ทั้งในทางวัฒนธรรมจะเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

เริ่มจากความคิด “ประชาธิปไตย” อันเป็นกระแสหลักในทางสากล

ตามมาด้วยข้อเปรียบเทียบระหว่างการเมืองไทยนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับท่าทีในต่างประเทศ ไม่ว่าจะจากสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะจากสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะจากกลุ่มอาเซียนด้วยกัน

ยิ่งกว่านั้นยังเห็นนวัตกรรมใหม่ในทางเทคโนโลยีจะทำให้การเมืองภายในเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของอินเตอร์เน็ต ออนไลน์

การเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ที่มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือได้ก่อกระแสในทางความคิด ในทางการเมือง และนำไปสู่การจัดตั้งผ่านรูปแบบต่างๆ หลากหลาย ได้กลายเป็นตัวอย่างหนึ่งของการเปลี่ยนโฉมในทางการเมือง

ขณะเดียวกัน ปัจจัย 1 ซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทยก็คือ ความอึดอัดคับข้องของประชาชนต่อระบอบการปกครองอันเป็นผลมาจากรัฐประหาร อันเป็นผลมาจาก คสช.

นี่ย่อมเป็นปัจจัยภายในของประเทศ ปัจจัยของสังคมไทย

 

รัฐประหาร เผด็จการ

สถานะ ระบอบ คสช.

 

ถามว่ากระแสเรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่ขึ้นสูงเป็นอย่างยิ่งทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การดำรงอยู่ของระบอบการปกครองอันเป็นผลพวงจากการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ของ คสช.เป็นอย่างสูง มีมูลเหตุมาจากอะไร

คำตอบ 1 คือเป็นกระแสกดดันจากปัจจัยในทางสากลอันเป็นเรื่องทางการเมือง และปัจจัยในทางเทคโนโลยีทำให้การดำรงอยู่ของระบอบ คสช.ขัดแย้งกับความเป็นจริงในทางสากลที่ต้องการประชาธิปไตย

คำตอบ 1 คือความพยายามอย่างเต็มกำลังของ คสช.ในการจัดวาง “ระบอบ” ทางการเมืองการปกครองโดยผ่านประกาศและคำสั่ง ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านการยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ กระทั่งก่อรูปขึ้นเป็น “ระบอบ คสช.”

และที่สุดก็ใช้กลไกเหล่านี้ผ่านกระบวนการของการเลือกตั้งเพื่อสร้างความชอบธรรมผ่านกระบวนการสืบทอดอำนาจ

คำประกาศของพรรคประชาธิปัตย์ในการไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่พร้อมอ้าแขนรับและร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย คือความพยายามในทางยุทธวิธีที่จะช่วยให้ได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง

สถานีสุดท้ายของคำประกาศเช่นนี้ก็คือ การต่อเนื่องและสืบทอดอำนาจของ “ระบอบ คสช.” ให้ดำรงคงอยู่ต่อไป

 

เลือกตั้ง 24 มีนาคม

เปิดประตู ประชาธิปไตย

 

บทบาทและความหมายของการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม คือบทบาทและความหมายในการเหยียบบาทก้าวแรกไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยในทางความคิด ในทางการเมืองและในทางการจัดตั้ง

ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ได้ชัยชนะ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ได้ชัยชนะ

ชัยชนะเหล่านี้เสมอเป็นเพียงขั้นตอนเบื้องต้น เพราะในที่สุดแล้วทั้ง 2 ฝ่ายก็ยังภายใต้โครงครอบแห่งระบอบ คสช.ที่บงการผ่านรัฐธรรมนูญ ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะมีเสถียรภาพ ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะดำรงอยู่อย่างยาวนาน

   การเลือกตั้งครั้งต่อไปต่างหากจะเป็นจังหวะก้าวอันทรงความหมายยิ่งและจะนำการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริงมายังสังคมประเทศ