คนมองหนัง : ข้อสังเกตเพิ่มเติมถึง “ดาวคะนอง” : เห็ด รา และ “ประวัติศาสตร์” แบบใหม่ๆ

คนมองหนัง

หมายเหตุ : เป็นข้อสังเกตเพิ่มเติมที่ต่อยอดจากบทความ “ดาวคะนอง” “6 ตุลา” ของ “ทุกคน” (มติชนสุดสัปดาห์ 14-20 ตุลาคม 2559) หลังได้ชมหนังเรื่องนี้เป็นรอบที่สองเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน “ดาวคะนอง” เข้าฉายเชิงพาณิชย์แบบจำกัดโรงไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม

ว่าด้วยเห็ด, รา และวรรคทองของหนัง

ตอนดู “ดาวคะนอง” รอบแรก ผมไม่เข้าใจเลยว่า “เห็ด-รา” มีความหมายและหน้าที่อย่างไรในหนังเรื่องนี้

ระหว่างดูภาพยนตร์รอบสอง จึงเริ่มเห็นนัยยะของ “สิ่งมีชีวิต” เหล่านั้นมากขึ้น

หลังหนังฉายจบ มีคนถาม “อโนชา สุวิชากรพงศ์” ผู้กำกับฯ ถึงความหมายของ “เห็ด-รา” ที่ปรากกฏอยู่ในภาพยนตร์เป็นระยะๆ พอดี

อโนชาอธิบายว่า “เห็ด-รา” สื่อให้เห็นถึงสิ่งมีชีวิตที่เจริญเติบโตขึ้นมาจาก “ความย่อยสลาย-ผุพัง” รวมทั้งยังเป็นภาพจำลองของ “วงจรชีวิต” ได้ดีอีกด้วย

แต่การตีความ “เห็ด-รา” ของผมหลังดู “ดาวคะนอง” รอบสอง ไม่ได้ต้องตรงกับคำอธิบายของอโนชาเสียทีเดียว

สถานะของ “เห็ด” และ “รา” ดูจะแจ่มชัดขึ้นในความคิดผม หลังได้รับฟังบทสนทนาระหว่างตัวละครที่รับบทโดย “วิศรา วิจิตรวาทการ” (ผู้กำกับภาพยนตร์หญิง) และ “รัศมี เผ่าเหลืองทอง” (นักเขียนหญิง) ในช่วงครึ่งแรกของหนังซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ผู้กำกับฯ หญิงบอกว่า ที่เธอเลือกนำชีวิตของนักเขียนรุ่นพี่มาเล่าผ่านภาพยนตร์นั้น ก็เพราะชีวิตของนักเขียนผ่านอะไรมาเยอะ มีคุณค่า ฯลฯ ผิดกับชีวิตของเธอที่ดำเนินไปเรื่อยๆ ไม่มีอะไรน่าสนใจ (ซับไตเติลภาษาอังกฤษใช้คำว่า “mundane” ซึ่งพ้องกับชื่อภาษาอังกฤษ “Mundane History” ของ “เจ้านกกระจอก” หนังยาวเรื่องแรกของอโนชา)

ผมเห็นว่า “เห็ด” และ “รา” ที่สามารถถือกำเนิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ท่ามกลางการปล่อยปละละเลยโดยไม่ต้องใส่ใจใดๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของ “ความเรื่อยๆ เปื่อยๆ” ไม่มีอะไร อันธรรมดาสามัญดังกล่าว

“ความไม่มีอะไร” ทั้งหลายนี่แหละที่ถูกนำมาเล่าให้ “มีอะไร” ผ่านเรื่องเล่าหลากหลายชั้นในหนังเรื่องนี้

อโนชา สุวิชากรพงศ์
อโนชา สุวิชากรพงศ์

ประเด็นข้างต้นยังสอดคล้องกับ “วรรคทอง” ของตัวละครนักเขียน “คนเดือนตุลา” ที่บอกว่าตนเอง “ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” แต่เป็นแค่ “ผู้รอดชีวิต”

วรรคทองตรงนี้น่าสนใจ เพราะในขณะที่การเป็น “ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” นั้น จุดเน้นจะอยู่ตรงคำว่า “ประวัติศาสตร์” หรือ “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” อันนำไปสู่การมีพล็อตเรื่อง มีดราม่า มีเงื่อนปมขัดแย้ง มีฮีโร่ มีเหยื่อ มีมรณสักขี ฯลฯ

แต่การเป็น “ผู้รอดชีวิต” คือ การขับเน้น/คืนความสำคัญไปที่ “ตัวคน” ผู้ยังเหลือรอดชีวิตมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งวีรชน นักต่อสู้ หรือเป็นเพียงคนธรรมดาสามัญ หาเช้ากินค่ำ กินขี้ปี้นอน ทั่วๆ ไป

แน่นอนว่า ท้ายสุด “ดาวคะนอง” ของอโนชา ก็มุ่งมั่นที่จะเลือกเล่าเรื่องราวของ “ผู้เหลือรอด/ผู้รอดชีวิต” ในสังคมยุคปัจจุบัน ที่เป็นคนธรรมดาสามัญอันหลายหลาก ไม่ใช่ “ตัวละครในหน้าประวัติศาสตร์”

 

การมุ่งเน้น “ประวัติศาสตร์” โดยไม่บอกเล่า “ประวัติศาสตร์”

ผมคิดว่าหนังไทย/หนังอาเซียนร่วมสมัยจำนวนหนึ่ง เริ่มมีลักษณะ “ร่วม” บางประการ ที่เลือกจะละ “ประวัติศาสตร์” อันเป็นบริบทของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เอาไว้ในฐานที่เข้าใจ (โดยมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันออกไป)

ขออนุญาตยกตัวอย่างเด่นๆ ของหนังสามเรื่องที่ผมได้ดูในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา

เริ่มจาก “Diamond Island” หนังกัมพูชา โดย ดาวี่ ชู ที่เลือกเล่าเรื่องราว/ปัญหายุคปัจจุบันและความใฝ่ฝันของหนุ่มสาวเขมรรุ่นใหม่ แล้วปล่อย “ประวัติศาสตร์ว่าด้วยเขมรแดง” ให้มีสถานะเป็น “หน้าว่าง” ของภาพยนตร์

ส่วน “ถึงคน…ไม่คิดถึง” ของ ชาติชาย เกษนัส เน้นความรักความสัมพันธ์ข้ามพรมแดนระหว่างไทย-พม่า (และพม่า-พม่า) มากกว่าจะให้ความสนใจกับรายละเอียดปลีกย่อยของประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางการเมือง

 

มาถึงกรณีของ “ดาวคะนอง” ที่แปลกประหลาดอยู่สักหน่อย เพราะด้านหนึ่ง หนังก็ต้องการรำลึกถึงประวัติศาสตร์ 6 ตุลาคม 2519

ทว่า หนังกลับเลือกเล่า “ประวัติศาสตร์” หน้าดังกล่าว ผ่านกระบวนท่าอันสลับซับซ้อนและเรื่องราวสามัญต่างๆ นานา (ทั้งที่เกี่ยวและไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา) กระทั่ง “ตัวประวัติศาสตร์” เอง ค่อยๆ รางเลือนจมดิ่งลงไปในระลอกคลื่นของหลากหลายเรื่องเล่าเหล่านั้น

เผลอๆ เราอาจเทียบเคียง “ดาวคะนอง” เข้ากับ “A Lullaby to the Sorrowful Mystery” หนังมหากาพย์ความยาว 8 ชั่วโมงของ ลาฟ ดิแอซ ได้ด้วยซ้ำไป

เพราะในขณะที่หนังของลาฟพยายามจะเล่าเรื่องราวของ “ประวัติศาสตร์การปฏิวัติฟิลิปปินส์” ผ่านการประกอบสร้าง “เรื่องเล่า” เล็กๆ หลายแบบ ให้กลายเป็น “องค์รวม” ที่แสดงภาพแทน “ผืนมหึมา” ว่าด้วยจิตวิญญาณการต่อสู้ของ “ประชาชน” จากอดีตเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

หนังของอโนชากลับจัดวาง “เรื่องเล่า” หลายๆ ชั้น ไว้อย่างกระจัดกระจาย ปราศจากระบบระเบียบ จนกลายเป็น “องค์ขาด” ซึ่งไม่สามารถบอกเล่าถึง “ภาพรวม” ของประวัติศาสตร์หน้าไหนหรือการต่อสู้ใดๆ ได้อย่างชัดเจน

ราวกับจะจำกัดบทบาทของตนเองไว้ที่การนำเสนอ “ส่วนเสี้ยว” สิ่งละอันพันละน้อย ซึ่งรายล้อมและ/หรือเป็นผลลัพธ์ของประวัติศาสตร์บางหน้าเท่านั้น

ถ้า ลาฟ ดิแอซ พยายามต่อสู้ส่งเสียงด้วยการสร้างประวัติศาสตร์แบบ “อภิมหาบรรยาย” ฉบับสามัญชน

อโนชาก็คล้ายจะพยายามกระซิบแผ่วๆ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงการมีอยู่ขององค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่ยังไม่ใช่ “ปัจจัยชี้ขาด” ทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นเพียงมูลเหตุยิบย่อยที่อาจไร้ความสำคัญไปตลอดกาล หรืออาจจะก่อตัวกลายเป็น “เงื่อนไขสำคัญ” บางประการได้ในภายภาคหน้า

ถือเป็นความพยายามที่จะ “ยืดอายุ” ให้แก่ “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ด้วย “วิธีการ” และ “การมองโลก” อีกชนิดหนึ่ง

บางทีแนวโน้มที่ปรากฏในงานของอโนชาและคนทำหนังรุ่นใกล้ๆ กัน อาจบ่งชี้ให้เห็นถึงวิธีการเขียน/ผลิตซ้ำประวัติศาสตร์ “รูปแบบใหม่ๆ” ผ่านสื่อภาพยนตร์ก็เป็นได้