หัวเลี้ยวยุทธศาสตร์การทหารสมัยสีจิ้นผิง และการประเมินกำลังจากฝ่ายสหรัฐ | วิกฤติศตวรรษที่ 21

วิกฤติประชาธิปไตย (47)

การประเมินภัยคุกคามของจีนโดยสหรัฐ

สถานการณ์ขณะนี้ก็คือ โลกหลายขั้วอำนาจเกิดขึ้นแล้ว ขั้วหนึ่งมีสหรัฐเป็นแกน อยู่ในกระบวนการปรับขบวนแถวของตน โดยเฉพาะในยุโรปและทวีปอเมริกาที่ต้องการความเป็นอิสระมากขึ้น ให้เข้ามาอยู่ในแนวทางของสหรัฐต่อไป และช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น

อีกขั้วหนึ่งเกิดศูนย์อำนาจใหม่มีจีน-รัสเซียเป็นแกน ปักเขตอิทธิพลตามแนวโครงการแถบและทางของจีน และสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียของรัสเซีย

นอกจากนี้ รัสเซียยังจับจองเส้นทางเดินเรือขั้วโลกเหนืออยู่ในเขตอิทธิพลของตน

จีนก็สนใจร่วมศึกษาพัฒนา “ทางสายไหมขั้วโลกเหนือ”

ในเดือนมกราคม 2019 กลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐได้ทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมาธิการงานข่าวกรองวุฒิสภา ประเมินภัยคุกคามของจีนและกลุ่มได้แก่ รัสเซีย อิหร่านและเกาหลีเหนือ ไว้หลายพื้นที่และหลายขอบเขตด้วยกัน เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติใช้รับมืออย่างทันกาล

รายงานนี้ถือว่าสะท้อนทัศนะของชนชั้นนำต่อจีนและกลุ่มได้ระดับหนึ่ง เพราะชนชั้นนำในสหรัฐก็แตกแยกทางทัศนะ ค่านิยมรุนแรง ประธานาธิบดีทรัมป์ก็มองไม่เห็นหัวกลุ่มงานข่าวกรอง ถ้าหากทำรายงานที่ไม่ถูกใจเขา

อย่างไรก็ตาม กล่าวได้ว่าชนชั้นนำสหรัฐมีความเห็นเป็นเอกภาพกันว่า จีน-รัสเซีย เป็นปรปักษ์ และคู่แข่งที่ร้ายกาจที่สุดตอนนี้

ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะบางประเด็นที่เกี่ยวกับจีนเป็นสำคัญรวมทั้งรัสเซียที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐจริง ส่วนอิหร่านและเกาหลีเหนือเป็นเหมือนเหตุรำคาญไม่ได้คุกคามความเป็นความตายของสหรัฐเท่าใดนัก

ภัยคุกคามใหญ่ของจีนในสายตาของสหรัฐ

กลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐเห็นว่า ในขณะนี้จีนเป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐที่ควรสนใจติดตาม

ดังนี้

1)การช่วงชิง องค์การสหประชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ

สหประชาชาติเป็นองค์การระหว่างประเทศ หรือบางทีเรียกว่า องค์การเหนือรัฐที่สหรัฐปลุกปั้นขึ้นมาเอง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดระเบียบโลก สร้าง “สันติภาพอเมริกัน” หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงนิวยอร์ก ทำให้มหานครนี้เป็นเหมือนนครหลวงของโลกไปโดยปริยาย

แต่เมื่อถึงขณะนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปมาก รายงานกล่าวว่า จีนและรัสเซียได้ขยายความร่วมมือระหว่างกันและโดยผ่านองค์การระหว่างประเทศ เพื่อมีส่วนในการกำหนดกฎระเบียบและมาตรฐานการปฏิบัติของโลกที่จะก่อประโยชน์แก่ตน และลดอิทธิพลของสหรัฐและประเทศตะวันตก

ในขณะนี้จีนได้กลายเป็นผู้ให้เงินอุดหนุนด้านกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติมากเป็นอันดับที่สอง และเป็นผู้ให้เงินอุดหนุนทั่วไปแก่องค์การสหประชาชาติมากเป็นอันดับสาม

ทำให้สามารถวิ่งเต้นนำบุคคลชาวจีนขึ้นดำรงตำแหน่งสำคัญในสำนักงานเลขาธิการสหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกดดันโน้มน้าวให้สหประชาชาติและประเทศสมาชิกยอมรับแนวทางของจีนในด้านที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและปัญหาไต้หวัน เป็นต้น

ส่วนรัสเซียเน้นหนักไปในงานด้านต่อต้านการก่อการร้าย มีชาวรัสเซียเข้าดำรงตำแหน่งปลัดเลขาธิการสหประชาชาติด้านต่อต้านผู้ก่อการร้าย (หน่วยงานที่เพิ่งตั้งในปี 2017)

ทั้งจีนและรัสเซียได้เพิ่มอิทธิพลในสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์การชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ โดยผ่านการเลือกตั้ง และการช่วยเหลือทางการเงินและเทคโนโลยี และใช้หน่วยงานนี้เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติของตน และการควบคุมอินเตอร์เน็ตโดยรัฐมากขึ้น

ยิ่งกว่านั้นทั้งสองประเทศยังใช้สหประชาชาติเป็นเวทีในการเผยแพร่ความสำคัญของการมีอำนาจอธิปไตยในหมู่ประเทศสมาชิก เพื่อที่จะหันเหจากประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการปกครองที่ดี (ที่สหรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการแทรกแซงประเทศต่างๆ)

การบรรยายการเคลื่อนไหวของจีนและรัสเซียดังกล่าว มีด้านที่เป็นจริง แต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้นทั้งหมด

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากหลายเหตุปัจจัยด้วยกัน

บางด้านสหรัฐก็เป็นตัวปัญหาเองด้วย นั่นคือ เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากการที่ประเทศทั้งหลายมีความเข้มแข็ง และสหรัฐอ่อนแอลงอย่างสัมพัทธ์ ประเทศที่เข้มแข็งขึ้นแล้ว เป็นธรรมชาติที่ต้องการเป็นอิสระเป็นตัวเองมากขึ้น ไม่เลือกว่าจะมีค่านิยมอุดมการณ์อะไร

เช่น ยุโรปที่มีค่านิยมอุดมการณ์เหมือนสหรัฐเมื่อฟื้นตัวจากสงคราม ก็ต้องการเป็นอิสระ ไม่ต้องการเดินตามสหรัฐต้อยๆ

สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่ ต้องการมีหนทางการพัฒนาประเทศของตน เรื่องนี้ไม่จำเป็นที่จีนจะต้องมาคอยบอก ความสำคัญของจีนอยู่ที่เป็นผู้ถ่วงดุลอำนาจของสหรัฐ

สหรัฐนั้นยังมีนโยบายที่ก่อปัญหาในตัวเองหลายเรื่อง เช่น ในทศวรรษ 1970 สหรัฐเดินนโยบายเล่นไพ่จีนแผ่นดินใหญ่ ทิ้งจีนไต้หวัน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นในนโยบายต่างประเทศ กดดันสหภาพโซเวียต และสงบศึกเวียดนาม (คือทิ้งกองทัพสหรัฐและพันธมิตรที่สู้รบในเวียดนาม) เดินนโยบาย “จีนเดียว” รับรองจีนแผ่นดินใหญ่ให้ขึ้นมาเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ (ปี 1971 ประธานาธิบดีนิกสันเยือนจีนปี 1972) จนจีนเป็นมหาอำนาจโลกอย่างที่เป็นอยู่

นโยบายที่กระทบปัญหาการนำของสหรัฐรุนแรงอีกข้อหนึ่ง ได้แก่ การให้ท้ายอิสราเอลเต็มตัวในความขัดแย้งกับปาเลสไตน์ ทำให้อิสราเอลปฏิบัติการตามอำเภอใจโดยไม่ถูกลงโทษ

การกระทำของอิสราเอลต่อชาวปาเลสไตน์อย่างยาวนานนับสิบปี ขัดต่อหลักการและค่านิยมที่สหรัฐประกาศว่ายึดถืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการปกครองที่ดีและขัดต่อความรู้สึกและมโนธรรมของประชาชาติต่างๆ

เมื่อถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ เรื่องยิ่งเลวร้าย เมื่อทรัมป์ประกาศรับรองเมืองเยรูซาเลมเป็นนครหลวงของอิสราเอล และจะย้ายสถานทูตของตนไปที่นั่น ท่ามกลางเสียงคัดค้านแม้จากพันธมิตรของตน

เรื่องยาวไปถึงที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติ เพื่อลงมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ (ปลายเดือนธันวาคม 2017)

ทรัมป์ข่มขู่ประเทศต่างๆ ว่า ถ้าใครไม่ลงคะแนนสนับสนุนแผนการสหรัฐจะถูกสหรัฐตัดเงินช่วยเหลือ

แต่ก็ไม่ได้ผล เสียงส่วนใหญ่ 128 ประเทศ เห็นว่าการตัดสินใจถือเยรูซาเลมเป็นนครหลวงของอิสราเอล “เป็นโมฆะ” ความขุ่นเคืองของสหรัฐต่อองค์การสหประชาชาติถึงขีดสูง เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2019 สหรัฐและอิสราเอลประกาศถอนตัวจากองค์การยูเนสโก กล่าวหาองค์การนี้มีอคติต่ออิสราเอลในด้านสิทธิมนุษยชน

ดังนั้น เหตุการณ์ช่วงชิงสหประชาชาติของจีน-รัสเซียตามรายงานของกลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐ เมื่อพิจารณาให้รอบด้านขึ้นเป็นเหตุการณ์ที่แสดงว่าองค์การสหประชาชาติที่มีหน้าที่รักษาสันติภาพและสนับสนุนการพัฒนา ได้อ่อนแอลงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความหวังของประชาชนโลกซึ่งเป็นสัญญาณไม่ดี เพราะเมื่อสันนิบาติชาติที่ตั้งขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 อ่อนแอ ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นผล ได้เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2

องค์การสหประชาชาติอาจพัฒนาเป็นได้หลายแบบ เป็นต้นว่า

ก) มีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ทำให้องค์การนี้มีความเข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับมากขึ้น (ขณะนี้มีบางประเทศ เช่น เยอรมนี ญี่ปุ่น และอินเดีย ต้องการฐานะเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง) ซึ่งเป็นไปได้ยาก

ข) มีการปรับปรุงองค์การบางประการ ขณะที่จีน-รัสเซียเพิ่มอิทธิพลขึ้นตามรายงานของกลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐ

ค) สหรัฐถอนตัวจากองค์การสหประชาชาติ เพราะเห็นว่าเป็นการบีบบังคับแนวทางนโยบายของสหรัฐมากเกินไป ชาติต่างๆ รักษาองค์การนี้ต่อเหมือนกับที่ทำกับข้อตกลงปารีส ย้ายสำนักงานใหญ่ไปที่นครเจนีวา เป็นต้น

ง) มีองค์การอื่นค่อยๆ เติบโตเข้าทำหน้าที่เสริม เช่น องค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ของจีน-รัสเซีย

2)การคุกคามต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออก รายงานกล่าวถึงภาพรวม 3 ประการได้แก่

ก) จีนเสริมการรวบอำนาจมากขึ้นในสมัยสีจิ้นผิง ทำให้เกิดความตายตัวในนโยบายต่อความสัมพันธ์ที่เสื่อมลงกับสหรัฐและพันธมิตรและหุ้นส่วนของสหรัฐ จนยากที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลง

ข) ผู้นำจีนพยายามจะขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร และอุดมการณ์ไปทั่วโลก โดยผ่านความสามารถทางการทหาร การลงทุนด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานตามโครงการแถบและทาง

ค) กองทัพจีนได้พัฒนา ได้ติดอาวุธและอุปกรณ์ที่ก้าวหน้าขึ้น ได้มีการปรับปรุงกองทัพครั้งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระยะยาวที่กองทัพจีนจะสามารถทำสงครามที่ทันสมัย รวดเร็วบนฐานของเทคโนโลยีระดับสูง ในการสำแดงอำนาจและป้องกันผลประโยชน์ของจีนในภูมิภาคและระดับโลก โดยเน้นความสำคัญทางทะเล การโจมตีทางอากาศ และปฏิบัติการพิสัยไกล

ในด้านรายละเอียดที่ทะเลจีนใต้และไต้หวัน ระบุว่า จีนจะเพิ่มการปรากฏตัวในทะเลจีนใต้มากขึ้น โดยการขยายการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางทหาร และที่ใช้ได้ทั้งทางทหารและพลเรือนในบริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการควบคุมการเข้าถึง การแสดงอำนาจ และบ่อนทำลายอิทธิพลของสหรัฐในบริเวณดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2016

จีนประสบความสำเร็จในการชักชวนให้ 6 ประเทศจาก 23 ประเทศที่เคยมีความสัมพันธ์กับไต้หวัน ให้หันมารับรองจีนแทน

3)การคุกคามต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก

รายงานระบุว่า สหรัฐคาดว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพของพลเรือนในหลายประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความเปราะบาง

และจีนก็จะยิ่งเร่งแผ่อิทธิพลลงมาสู่ภูมิภาคนี้

ขณะที่ขจัดอิทธิพลของสหรัฐและพันธมิตรออกไป

ชี้ว่าการที่สหรัฐถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก เปิดเงื่อนไขให้จีนเข้ามาผูกมิตรกับกลุ่มประเทศอาเซียนได้มากขึ้น โดยอาศัยตัวแบบโลกาภิวัตน์หลายขั้วอำนาจและการปฏิรูปองค์การการค้าโลก (ที่เอื้อต่อประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น)

รวมการสร้างความเห็นร่วมกันว่า ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือของสหรัฐในบริเวณทะเลจีนใต้ที่จีนถือเป็นอาณาเขตของตนนั้น เป็นการคุกคามความมั่นคงของภูมิภาค

4)การคุกคามด้านไซเบอร์

ไซเบอร์เป็นเครือข่ายระบบการไหลของข่าวสารผ่านอินเตอร์เน็ตที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เศรษฐกิจ-สังคมฐานความรู้เกิดเป็นจริง และทำให้การทหาร-การสงคราม จำต้องตั้งอยู่บนระบบของข่าวสารด้วย จึงจะสามารถเข้าต่อสู้และเอาชนะสงคราม

ในทางความเป็นมาและความเป็นจริง สหรัฐเป็นผู้สร้างโลกไซเบอร์ขึ้นมาเอง ปัจจุบันยังคงควบคุมโครงสร้างพื้นฐานของอินเตอร์เน็ต เช่น เวิลด์ไวด์เว็บ

นอกจากนี้เครื่องมือค้นหาที่มีผู้ใช้มากที่สุดของโลก 5 อันดับแรกเป็นของสหรัฐ (ตัวเลขปี 2019 กูเกิลเป็นอันดับหนึ่ง ไป่ตู้ของจีนอยู่อันดับหก)

สื่อสังคมออนไลน์ที่มีผู้ใช้มากที่สุด 4 อันดับแรกเป็นของสหรัฐ วีแชตของจีนตามมาที่อันดับห้า (ในจีนเรียกเว่ยซิน)

สหรัฐมีซิลิคอนวัลเลย์เป็นพื้นที่ตั้งบริษัทไฮเทคที่ใหญ่ที่สุดของโลก จีนมีเขตเซิ่นเจิ้นที่ถือว่าเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งเอเชีย (ยังไม่ใช่ของโลก)

แต่พบว่ากลายเป็นสหรัฐที่โวยวายเสียงดังกว่าใครในประเด็นการถูกคุกคามทางไซเบอร์ กระทั่งกล่าวหารัสเซียและจีนใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ

รายงานนี้ระบุว่า ปรปักษ์และคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ของเราจะใช้ความสามารถทางไซเบอร์ ได้แก่ การก่อวินาศกรรมการโจมตีและการแผ่อิทธิพลทางไซเบอร์เพื่อความได้เปรียบทางการเมือง เศรษฐกิจ และการทหาร เหนือสหรัฐและพันธมิตร ขณะนี้จีนและรัสเซียร้ายกาจที่สุดในการก่อวินาศกรรมและโจมตีทางไซเบอร์

สำหรับจีนเป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ใหญ่ที่สุดในการก่อวินาศกรรมไซเบอร์ต่อรัฐบาล บริษัทสหรัฐ และพันธมิตร

กลุ่มงานข่าวกรองกล่าวว่า พวกตนมีความกังวลที่จีนจะใช้บริษัททางด้านข่าวสาร (เช่น หัวเว่ย) เป็นฐานปฏิบัติการในการก่อวินาศกรรมไซเบอร์อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องต่อรัฐบาลสหรัฐและพันธมิตร

และว่า “จีนมีความสามารถที่จะโจมตีทางไซเบอร์ ที่ก่อให้เกิดวิกฤติและก่อความเสียหายรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ทำให้การขนส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อต้องหยุดชะงักหลายวันกระทั่งหลายสัปดาห์

นอกจากนี้จีนยังมีความสามารถในการสร้างบรรยากาศข่าวสาร การแผ่อิทธิพลและการโจมตีทางไซเบอร์ โดยใช้เงื่อนไขต่างๆ รวมทั้งโอกาสการทำธุรกิจในจีนเพื่อก่อผลทางการเมือง ได้แก่ การรักษาความชอบธรรมการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ป้องกันการโฆษณาของรัฐบาลสหรัฐ

(ดูรายงานของกลุ่มงานข่าวกรองสหรัฐต่อคณะกรรมาธิการงานข่าวกรองวุฒิสภา ชื่อ Worldwide Threat Assessment ใน dni.gov 29.01.2019)

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงการคุกคามของจีนในสายตาสหรัฐในประเด็นอื่น เช่น การแข่งขันด้านงานข่าวกรอง อาวุธทำลายล้างสูง อวกาศ และด้านเศรษฐกิจและพลังงาน