E-DUANG : เดดล็อก การเมือง หลังเลือกตั้ง เงื่อนตาย ชัยชนะจาก เพื่อไทย

มีความเชื่อโดยพื้นฐานตั้งแต่หลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 มาแล้วว่า หากมีการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยก็จะครองอันดับ 1 เหมือนเดิม

เหมือนที่พรรคไทยรักไทยกำชัยในการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544 และในการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548

เหมือนที่พรรคพลังประชาชนกำชัยในเดือนธันวาคม 2550

เพราะความเชื่อเช่นนี้เองจึงเป็นรากฐานให้กับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560

เสริมความมั่นใจว่าจะทำให้ความแข็งแกร่งของพรรคเพื่อไทยลดทอนลง

และทำให้รัฐประหาร 2557 ไม่เสียของเหมือนเมื่อปี 2549

 

กระนั้น ภายในความมั่นใจเช่นนี้ล่วงมาจนถึงเดือนมีนาคม 2562 สถานะของพรรคเพื่อไทยในทางการเมืองก็ยังครองอันดับ 1 เหนือ กว่าทุกพรรคในการเลือกตั้ง

ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่กล้า ประกาศว่าจะสามารถเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้

พรรคประชาธิปัตย์โดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยืน ยันเพียงว่าจะนำพาพรรคทะยานไปเกินหลัก 100 เพราะถ้าหากได้ต่ำกว่า 100 ก็จะลาออก

พรรคพลังประชารัฐตั้งเป้าอยู่ที่ 150 และพยายามไม่ให้หลุด จากหลัก 120

แต่ไม่เคยยืนยันว่าจะเอาชนะพรรคเพื่อไทยได้

เมื่อมองไปยังผลโพลแม้กระทั่ง”สังศิตโพล”ซึ่งเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เต็มเหนี่ยวก็ไม่กล้าให้พรรคพลังประชารัฐกำ ชัยเหนือพรรคเพื่อไทย

ตรงนี้แหละจะกลายเป็น”เงื่อนปม”ภายหลังการเลือกตั้ง

 

ในเมื่อความเป็นจริงจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้รับเลือกเหนือกว่า พรรคเพื่อไทย แต่มีความเป็นไปต่ำอย่างยิ่งที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นรัฐบาล

เพราะพรรคพลังประชารัฐมี 250 ส.ว.เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว

เพียงดึงเอา ส.ส.จากพรรครวมพลังประชาชาติไทยและพรรค ที่รอเป็นรัฐบาลมาเข้าร่วมก็เป็นรัฐบาลได้โดยดำเนินไปภายใต้ระบบโควต้า แบ่งกระทรวงกันบริหารอย่างยิบย่อย

แต่ก็จะเป็นรัฐบาลที่ไม่สบายใจนักใน”สภาผู้แทนราษฎร”