ฉัตรสุมาลย์ : การอุปสมบทภิกษุณีในพุทธคยา – “10 ชาติ” ชุมนุม

ที่พุทธคยาก็มีวัดไทยที่มีสีมาหลายแห่ง หากเราจะถือว่าคำสั่งของมหาเถรสมาคมห้ามไม่ให้มีการอุปสมบทในประเทศไทย เราก็น่าจะจัดการอุปสมบทที่วัดไทยในพุทธคยาได้ เพราะอยู่นอกเหนือคำสั่ง

แต่ไม่อยากเสี่ยง ขนาดที่เราจัดงานที่วัดลาว พระภิกษุไทยที่เป็นแขกไปพักเพียงคืนเดียวก็ยังตำหนิพระลาวที่ให้จัดมีการอุปสมบทภิกษุณีที่นั่น

เรามอบหมายกันว่า สำหรับการอุปสมบทภิกษุณีไทย ท่านธัมมนันทาจะเป็นปวัตตินี โดยท่านหลิวฟับ (เวียดนาม) และท่านวิจิตนันทา (ศรีลังกา) จะเป็นคู่สวด

และกลับกัน เมื่อท่านหลิวฟับเป็นปวัตตินีให้ผู้ขอบวชชาวเวียดนาม ท่านธัมมนันทาและท่านวิจิตนันทาก็จะเป็นพระคู่สวดให้ มีผู้ขอบวชชาวจีน 3 คนที่เป็นลูกศิษย์ของท่านวิจิตนันทา ท่านวิจิตนันทาจะเป็นปวัตตินี โดยมีท่านธัมมนันทาและท่านหลิวฟับเป็นคู่สวดให้

ทางฝั่งคู่สวดของพระภิกษุนั้น ท่าน ดร.กลูปหานะ และท่านสุธรรมะจะทำหน้าที่โดยตลอด โดยมีท่านสิวลี เลขาธิการสมาคมมหาโพธิ์เป็นอุปัชฌาย์ สำหรับท่านกลูปหานะนั้น มีความสัมพันธ์อันยาวนาน ท่านเป็นพระคู่สวดใน พ.ศ.2546 ให้ท่านธัมมนันทาด้วย

ผู้ขอบวชทุกคนกลับไปใส่ชุดขาวและรับการบรรพชาร่วมกันที่วิหารของวัดศรีลังกาตั้งแต่ 05.30 น.ของวันที่ 28 โดยมีพระอาจารย์สbวลีเป็นอุปัชฌาย์

ตรงนี้มีการถ่ายทำวิดีโอ และสามารถหาชมได้ในยูทูบค่ะ การสื่อสารสมัยใหม่รวดเร็วทันใจเช่นนี้

 

บรรดาสามเณรีรีบกระวีกระวาดไปฉันอาหารร่วมกันที่หอฉันของวัดศรีลังกา ซึ่งเป็นที่ตั้งของสมาคมมหาโพธิ์ด้วย

หลังจากฉันเสร็จก็รีบไปขึ้นรถบัสคันใหญ่ที่มารับไปอุปสมบทที่วัดลาว

อาจจะมีคำถามว่าทำไม่ไม่บวชที่วัดศรีลังกาที่เป็นเจ้าภาพ

ปรากฏว่าที่นั่นมีเพียงวิหาร ไม่มีอุโบสถ ไม่มีสีมา เงื่อนไขสำคัญในการอุปสมบทอย่างหนึ่งคือเราต้องทำพิธีอุปสมบทในสีมาที่ได้ทำการสมม6ติตามแบบเถรวาท พระภิกษุที่นั่นเอง เวลาไปลงปาฏิโมกข์ก็ยังไปอาศัยลงที่วัดพม่า ในระยะเดินถึง

ท่านธัมมนันทายกขึ้นมาเป็นประเด็นเพื่อให้ภิกษุของศรีลังกาเห็นความสำคัญที่จะต้องมีสีมาเอง เราอาจจะได้เห็นภายในปีนี้

 

ช่วงนั้นเป็นช่วงที่พุทธคยามีงานฉลองประจำปี ทั้งวัดศรีลังกาเองก็มีงานอัญเชิญพระสารีริกธาตุในวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ด้วย ทางการจึงปิดถนน วัดศรีลังกาที่เราพักนั้นเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดในพุทธคยา คือใกล้ต้นโพธิ์ที่สุด ที่เป็นเช่นนั้นเพราะศรีลังกาเป็นชาวพุทธชาติแรกที่เข้ามาที่พุทธคยา

และเพราะเราอยู่ใกล้ที่สุด เราจึงอยู่ในรัศมีที่ทางการปิดถนน ตกลงเราต้องเดินออกไปทางขวามือ ผ่านวัดที่องค์ทะไลลามะมาประทับเวลาเสด็จพุทธคยา เลี้ยวออกไปทางหัวมุม พอรถบัสมาถึง จอดนานไม่ได้ มีตำรวจมาคอยไล่ เรารีบตะเกียกตะกายขึ้นรถ ไม่ช้าไม่นานเราก็มาถึงวัดลาว

เราแบ่งผู้ขอบวชเป็นสองชาติ ในวันแรกคือจีน ที่เขาบวชเป็นสามเณรีมานาน 4 ปี จากนั้นจึงเป็นเวียดนาม รวมวันแรกได้ 12 คน ครึ่งเช้าเป็นการทำพิธีของฝ่ายภิกษุณี คือ คู่สวดสอบถามอันตรายิกธรรม แล้วนำผู้ขอบวชเข้ามาสอบถามอันตรายิกธรรมต่อหน้าสงฆ์โดยมีปวัตตินีเป็นประธาน

ในการทำพิธีนี้เป็นสังฆกรรมจึงทำได้เพียงครั้งละ 3 รูป ช่วงนี้กินเวลานานมาก นับตั้งแต่ผู้ขอบวชต้องกราบพระคู่สวดทีละรูป รูปละ 9 ครั้ง

คือกราบจากท่ายืน 3 ครั้ง กราบจากท่ากระหย่ง 3 ครั้ง และกราบจากท่าเทพธิดา 3 ครั้ง

ก่อนจะเข้าไปกราบต้องมีการถวายพลู คือเอาพลูใส่กรวยกระดาษ ปิดด้วยผ้าขาว และถวายพระคู่สวดทีละรูปก่อนกราบ

จากนั้นพระคู่สวดจะเดินคู่กันนำหน้า พาผู้ขอบวชเข้าไปกราบปวัตตินี

เช่นเดียวกัน ถวายพลูที่ใส่กรวยเสียก่อน แล้วกราบอีก 9 ครั้ง

ในช่วงของการกล่าวคำบวชนี้ ปรากฏว่าพระคู่สวดเป็นคนกล่าวนำ ทำให้ผู้ขอบวชสบายใจขึ้น เพราะไม่ต้องเกร็งว่าจะท่องจำคำขอบวชไม่ได้

ผู้ขอบวชฝ่ายไทยนั้นเตรียมตัวไปอย่างดี ได้รับคำชมจากพระคู่สวดจากศรีลังกา

ตอนเช้า ตกลงผู้ขอบวช 12 รูป จีนและเวียดนาม ผ่านการทำพิธีโดยภิกษุณีสงฆ์เสร็จทันเวลาเพล

 

ช่วงเพลรู้สึกว่าจะเจริญอาหารได้ดี เพราะความที่รีบร้อนมาตอนเช้า พากันฉันไม่ค่อยอิ่มนัก

พระลาวเจ้าของวัดอุตส่าห์สละพื้นที่ในหอฉันให้คณะของเราที่นั่งกันเต็มห้องกว่า 60 รูป/คน

อาหารค่อนข้างถูกปากเพราะอาหารลาวรสชาติใกล้คนไทย แต่เราก็สั่งดาล ซึ่งเป็นแกงถั่วแบบแขกและศรีลังกาไว้ด้วย

ตอนบ่าย กลับเข้าไปในพระอุโบสถอีก คราวนี้พวกที่ขอบวชช่วงเช้าได้รับการอุปสมบทจากพระภิกษุสงฆ์ ท่านโพธิ ภิกษุชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงกรุณามาเป็นพระอันดับให้ด้วย นอกเหนือจากพระภิกษุชาวศรีลังกา อินเดีย และบังกลาเทศ

ในการอุปสมบทนั้น ฝ่ายพระภิกษุทำได้เร็วกว่าภิกษุณีสงฆ์เพราะไม่ต้องถามอันตรายิกธรรม 24 ข้อ ประมาณบ่าย 3 โมงครึ่งพิธีก็เสร็จเรียบร้อยสำหรับการอุปสมบทวันแรก เราได้ภิกษุณีบวชใหม่ 12 รูป

วันที่ 29 มกราคม เป็นการอุปสมบทของชาวไทย โดยครั้งแรกเป็นชาวไทย 3 รูป ครั้งที่สองเป็นชาวไทย 2 รูป และเวียดนาม 1 รูป ครั้งที่สามเป็นเวียดนามอีก 3 รูป และมีกรณีทัฬหีกรรมสองรูป

สำหรับภิกษุณีเวียดนาม 4 รูปวันนี้ ท่านสังกัดกับอาจารย์อีกวัดหนึ่ง หากให้ท่านหลิวฟับเป็นปวัตตินี จะเกิดการสับสนในการปกครอง จึงมอบรูปหนึ่งให้ท่านธัมมนันทาเป็นปวัตตินี

และอีก 3 รูปให้ท่านวิจิตนันทาเป็นปวัตตินี เช่นนี้ ในภาคปฏิบัติ ทั้งท่านธัมมนันทาและท่านวิจิตนันทาก็จะมอบหมายกลับไปให้อาจารย์เจ้าสำนักปกครองกันเอง

ทีนี้มีภิกษุณีไทยที่ทำพิธีบวชในประเทศไทย ซึ่งก็ขัดต่อคำสั่งของมหาเถรสมาคมอยู่แล้ว และคณะสงฆ์ก็นานาสังวาส คือเป็นภิกษุณีมหายานปนกับเถรวาท ปนกับสายทิเบต เมื่อท่านมาลงสังฆกรรม ภิกษุณีสงฆ์อื่นในประเทศไทยก็ไม่อนุญาตให้ท่านเข้ามาในหัตถบาสก์ เมื่อท่านตระหนักว่าการบวชของท่านไม่ถูกต้อง ท่านจึงแสวงหากลับไปบวชให้ถูกต้อง

เมื่อปรึกษากับอุปัชฌาย์ฝ่ายศรีลังกาแล้ว ท่านก็ให้ทำทัฬหีกรรม เป็นการรับเข้าสงฆ์โดยไม่เสียพรรษา

ในกรณีเช่นนี้ มีภิกษุณีไทย 1 รูป และภิกษุณีเวียดนามที่มาบวชในเมืองไทย เมื่ออาจารย์ท่านทราบก็เลยให้ทำสังฆกรรมใหม่ไปเสียคราวเดียวกัน แต่ต้องทำแยกกัน คนไทยนั้นมาสังกัดกับปวัตตินีไทย และชาวเวียดนามไปสังกัดกับปวัตตินีเวียดนาม

เป็นการแสดงความเคารพต่อพระวินัยอย่างยิ่ง

 

การอุปสมบทครั้งนี้ มีพระภิกษุณีในสายเถรวาทมาร่วมถึง 10 ประเทศ เช่น อเมริกา ไทย ศรีลังกา เวียดนาม อินเดีย นิวซีแลนด์

ในตอนเย็น ภิกษุณีจากทั้ง 10 ชาติได้รวมตัวกันโดยการสนับสนุนจากท่านสิวลี ให้เราได้คุยกันต่อถึงความเป็นไปได้ในการรวมตัวกันเป็นองค์กรหลวมๆ ที่จะพึ่งพาอาศัยกันต่อไปในระดับนานาชาติ

ความจริงเราก็มีเครือข่ายงานภิกษุณีสายเถรวาทในเอเชียอยู่แล้ว ในที่สุดเราก็สร้างลิงก์ที่ในกลุ่มที่พบกันครั้งนี้จะได้บอกกล่าวซึ่งกันและกันว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร หากท่านอื่นจะเข้าร่วม สนับสนุน ก็สามารถทำได้สะดวก สำหรับทางตะวันออกจะทำได้ง่ายกว่าตะวันตกและยุโรป

พระผู้ใหญ่ที่เข้าร่วมในการอุปสมบทให้กำลังใจและให้การสนับสนุนดีมาก ทั้งท่านสิวลี อุปัชฌาย์ ท่านวิมลโชติ ที่แวะมาเยี่ยมขณะที่เรากำลังทำพิธีอุปสมบท พระมหานายก 2 รูปจากนิกายอมรปุระ รูปหนึ่งคือท่านมหานายกมหินทวังสะที่แต่งตั้งให้ท่านธัมมนันทาเป็นปวัตตินี ตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน 2514

ทางฝ่ายพระบังกลาเทศนั้น นิมนต์คณะภิกษุณีไทยให้ไปเยี่ยมท่านที่วัดในวันรุ่งขึ้น มีหลวงพี่ชาวบังกลาเทศรูปหนึ่งที่ท่านเป็นล่าม ปรากฏว่ามาเรียนอยู่ที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยหลายปี สามารถพูดไทยได้

เช่นเดียวกันที่วัดบังกลาเทศก็ยังไม่มีสีมา วัดบังกลาเทศนี้อยู่ติดกับวัดไทยเลยค่ะ ถ้ากลับมาจากต้นโพธิ์ จะถึงวัดบังกลาเทศก่อน อยู่ด้านเดียวกับวัดไทย ท่านธัมมนันทาก็ลุ้นท่านเจ้าอาวาสให้สมมุติสีมา ภิกษุณีไทยจะได้มาบวชที่นั่นได้ ถามท่านว่าท่านไปลงอุโบสถกันที่ไหน ท่านว่าท่านไปอาศัยโบสถ์วัดไทยที่อยู่ข้างๆ กัน

พระภิกษุเถรวาทที่พุทธคยามีความเปิดกว้างมากเรื่องการยอมรับภิกษุณี เวลาไปพุทธคยาเราจะรู้สึกเป็นมิตรเวลาที่พระภิกษุท่านเดินผ่านเรา เราก็น้อมไหว้ท่านทั้งสิ้น

คราวนี้เรากลับมาพร้อมด้วยภิกษุณีไทยเพิ่มขึ้นในประเทศเราอีก 8 รูป ขอให้ช่วยกันโมทนา แต่กลับมาก็เป็นหวัดงอมแงมไปตามกัน ทั้งปวัตตินีและภิกษุณีบวชใหม่ค่ะ เฉพาะเรื่องหวัด ท่านผู้อ่านไม่ต้องโมทนานะคะ